คนเราถ้ารู้จักคิดย่อมอยากดำเนินชีวิตหรือทำการงานที่สร้างผลลัพธ์ สรุปได้ว่า “ประสบผลสำเร็จ” กับทุกคน
แต่ผลที่เกิดขึ้นจะเป็นแค่ความหวังหรือเป็นความจริงได้หรือไม่ ย่อมขึ้นอยู่กับความคิดและความมุ่งมั่นทำจริง เพื่อจะได้ไม่เป็นชีวิตที่ไร้ความหมาย “ความสำเร็จเกิดขึ้นง่ายมาก แค่ทำสิ่งที่ถูกต้อง ถูกวิธี และถูกเวลา” อาร์โนลด์ เอช.กลาโซว์ เคยให้ข้อคิดไว้ว่า ไม่ยากเลยที่จะทำให้สำเร็จ แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าอะไร คือ “สิ่งที่ถูกต้อง” และทำให้ถูกวิธีในเวลาที่เหมาะสม ผมเจอคำตอบที่ชัดเจนที่นำมาแบ่งปัน ณ บัดนี้ Gary Keller และ Jay Papasan นำเสนอไว้ในหนังสือ The One Thing ถึงขนาดท้าทายว่าเป็นเคล็ดลับเพื่อสร้างความสำเร็จ ด้วยวิธีใช้เวลาน้อยที่สุด เพราะมุ่งทำ “สิ่งเดียว” หนังสือเล่มนี้จึงให้หลักที่นำไปใช้กับการบริหารเวลา การบริหารแนวทางดำเนินชีวิต และการสร้างความสำเร็จทางธุรกิจได้ด้วย น่าสนใจการชูประเด็นว่า ให้ยึดมั่นกับ “สิ่งเดียว” จะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมายและได้ในสิ่งที่คุณต้องการ ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะให้ “ทำน้อยเข้าไว้” โดยมองข้ามสิ่งที่ “ทำได้” และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ “ควรทำจริงๆ”
นั่นคือ เลือกทำแค่ไม่กี่สิ่งที่ส่งผลดี ชัดเจน แทนที่จะทำหลายสิ่งที่ส่งผลลัพธ์เพียงเล็กน้อย ทั้งๆ ที่ชุลมุนกับการทำหลายเรื่องให้เสร็จ ก็เกิดอาการส่งงานไม่ทันกำหนด แถมผลงานยังไม่เรียบร้อย แล้วพลอยทำให้เครียด และเสียสุขภาพอีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม การจะให้คนยอมรับหลักการ “ทำสิ่งเดียว” ก็ไม่ใช่เรื่องงาน เพราะคนส่วนใหญ่มักมีภารกิจมากมายและมีความเชื่อในหลักการอื่นไว้แล้ว
6 ความเชื่อผิดๆ ที่ผู้เขียนจำแนกว่าเป็นตัวฉุดรั้งไม่ให้คุณประสบความสำเร็จก็คือ
1.ทุกเรื่องมีความสำคัญเท่าเทียมกัน?
แม้ในแง่ความยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เรื่องความเท่าเทียมกับเป็นแนวคิดที่ดี แต่ในโลกแห่งความเป็นจริงที่ยึด “ผลลัพธ์” เป็นหลัก สิ่งต่างๆ ไม่มีทางเท่าเทียมกันแน่นอน แม้คนเราควรปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ในแง่ความสำเร็จ เช่น ความสามารถในการเรียน ผลการทำงาน เรื่องความเท่าเทียมจึงเป็นความเชื่อผิดๆ คนที่ประสบความสำเร็จ ก็เพราะรู้จักทำเรื่องที่สำคัญกว่า และสำคัญที่สุดก่อนเสมอ การเขียนรายการ “สิ่งที่ต้องทำ” ยาวเหยียด จึงไม่มีความหมายเท่าการปรับเปลี่ยนเป็น “รายการสู่ความสำเร็จ” ที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างผลลัพธ์ที่น่าทึ่งจะดีกว่า ดั่งที่ กฎของทาเรโต หรือกฎ 80:20 ที่เน้นเรื่องความไม่เท่าเทียม เพราะในมิติต่างๆ ความสำเร็จราว 80% มักมาจากบทบาทของทรัพยากรหรือปฏิบิติการหรือผลงานของคนที่เป็นดาวเด่นเพียง 20%
2.การทำหลายสิ่งพร้อมกันเรื่องที่ดี?
เพราะสมองคนเราก็เหมือนคอมพิวเตอร์ที่ไม่สามารถจดจ่อกับกิจกรรม 2 อย่างในเวลาเดียวกัน การเพ่งความสนใจสลับไปมา ทำให้เสียสมาธิ จะส่งผลเสียหายต่อผลงานหรือผลกระทบต่อชีวิต ดังนั้น เมื่อมีหลักคิดว่า “สิ่งสำคัญที่สุด คือ การทำสิ่งที่สำคัญที่สุด” แล้วคุณจะทำหลายสิ่งพร้อมกันไปทำไม ก็อย่างที่ สตีฟ อูซเซลล์ บอกว่า “การทำหลายสิ่งพร้อมกัน คือการเปิดโอกาสให้หลายสิ่งผิดพลาดพร้อมกัน”
3.คนเราต้องมีระเบียบวินัย?
หลักที่ดีก็คือ ต้องฝึกทำอะไรบางอย่างด้วยความเป็น “ระเบียบวินัย” จนกลายเป็น “นิสัย” เช่น ฝึกตื่นเช้า จัดการกิจวัตรส่วนตัวให้รวดเร็ว เพื่อมาทำงานตรงเวลา ดังนั้น ต้องเลือกสร้างนิสัยที่เหมาะสมกับการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพการใช้ชีวิต โดยมีระเบียบวินัยในการปรับพฤติกรรมให้เกิดเป็นนิสัยที่เหมาะสม ก็อาจเรียกว่า เป็นคนมีระเบียบวินับถูกจังหวะ ด้วยการทุ่มเทเพิ่มศักยภาพในเรื่องที่ให้ความสำคัญ สำหรับการสร้างระเบียบวินัยเฉพาะเรื่องที่เป็นนิสัยใหม่นั้น จะเกิดผลเป็นอัตโนมัติ ต้องใช้ความสม่ำเสมอ 66 วัน (ตามผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยยูนิเวอร์ซีตี คอลเลจ ลอนดอน)
4.พลังใจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ?
มีคนมองว่าความพยายามและ “พลังใจ” คือที่มาของความเข้มแข็งจึงถูกตีความผิดๆ ว่าเป็นหัวใจสู่ความสำเร็จ แต่พลังใจจะมีอนุภาพที่สุดก็ต่อเมื่อได้จังหวะเวลาที่เหมาะสมมาเป็นปัจจัยหนุน ดังนั้น จึงควรรีบจัดการทำเรื่องที่สำคัญที่สุด “สิ่งเดียว” ให้เสร็จขณะพลังใจเต็มเปี่ยม
5.คนเราควรมีชีวิตที่สมดุล?
ความจริงก็คือ ไม่มีสิ่งใดในโลกอยู่ในภาวะสมดุล สิ่งที่ดูสมดุลนั้น ต้องอาศัยความพยายามในการทำให้มันสมดุลอยู่ตลอดเวลา อย่างการจะคิดว่าชีวิตต้องสมดุล ไม่ใช่การแบ่งเวลาให้กับทุกอย่างในชีวิตเท่าๆ กัน เพราะเมื่อคำนึงถึง “เรื่องที่สำคัญที่สุด” คุณจะเสียสมดุลโดยอัตโนมัติ เพราะต้องทุ่มเทเวลาและความพยายามกับเรื่องนั้นมากกว่าเรื่องอื่น แต่เมื่อเสร็จงานที่ทำประจำวัน ก็ถึงเวลาพักผ่อนให้เต็มที่ได้
6.ไม่ควรคิดการใหญ่?
ความคิดนี้ส่งผลเสียร้ายแรงกว่าบรรดาความเชื่อผิดๆ ทั้ง 6 ข้อ เพราะถ้ากลัวความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ก็จะหลีกเลี่ยงหรือไม่ละความพยายามไปให้ถึงจุดหมายที่ตั้ง ลองคิดดูว่า ผลลัพธ์จะออกมาดีแค่ไหนมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณทำ วิธีทำ และคนที่ทำสิ่งนั้นกับคุณ การใช้วิธีเดิมๆ กับคนเดิมๆ ผลมันก็ทำให้คุณย่ำอยู่กับที่เดิมแน่ แต่การกระทำที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ก็ต้องเริ่มต้นจากการ “คิดการใหญ่” เหมือนการไม่ยอมถูกขังอยู่ในกล่อง แต่พยายามหาทางออกจากกล่อง โดยกำหนดว่าจะทำอะไร ใช้วิธีไหน ต้องพัฒนาตัวด้านใดและจะร่วมมือกับใคร เพื่อให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ต้องการ
“คำถามมีความสำคัญ” มาร์ค ทเวน เคยให้หลักคิดเรื่องการเป็นผู้นำว่า “ถ้าอยากนำหน้าคนอื่น เคล็ดลับอยู่ที่การเริ่มต้นส่วนเคล็ดลับของการเริ่มต้น อยู่ที่การแบ่งภารกิจอันซับซ้อนออกเป็นภารกิจย่อยๆ ที่คุณสามารถรับมือได้ และเริ่มด้วยการพาภารกิจแรกก่อน” คำถามสำคัญจึงอยู่ที่ว่า “ภารกิจแรก” คืออะไร? ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “การเดินทางพันลี้เริ่มต้นที่ก้าวแรก” เพราะถ้าเริ่มต้นผิด คุณก็จะอยู่ห่างไกลจากเป้าหมายนับพันลี้เช่นกัน อย่าง “การใช้ชีวิต” ก็คือ คำตอบของคำถามที่เราถามตัวเองที่เป็นผู้กำหนดคำตอบว่า “เราจะใช้ชีวิตแบบไหน?” คำถามสำคัญจึงเปรียบคล้ายสูตรสำเร็จ ที่กระตุ้นให้เราหาคำตอบว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างผลลัพธ์อันน่าทึ่งได้ โดยเฉพาะ :“อะไรคือสิ่งเดียวที่ฉันทำได้ ซึ่งจะทำให้สิ่งอื่นๆ กลายเป็นเรื่องง่าย หรือไม่จำเป็นต้องทำเลย”
คำถามนี้เน้นไปที่ “การมองภาพรวม” (เช่น เน้นควรเดินทางไปไหน ควรตั้งเป้าหมายอย่างไรดี ฯลฯ) แล้วตีกรอบให้แคบลง (เช่น ตอนนี้ ฉันควรทำอะไรเพื่อให้สามารถเดินทางที่นำไปสู่ภาพรวม อะไรคือเป้าหมายของฉัน ฯลฯ)
ตั้งเป้าหมายให้เป็นปัจจุบัน
“การตั้งเป้าหมาย” จำเป็นต้องมีให้เป็น จุดมุ่งในการสร้างผลลัพธ์อันน่าทึ่ง จึงต้องสัมพันธ์กับหลักการ “สิ่งเดียว” นั่นคือ “สิ่งสำคัญที่สุด” (Priority) ให้ได้ แล้วค่อยๆ วางแผนอย่างเป็นขั้นตอนย่อยมาสู่การตั้งเป้าหมายในปัจจุบัน เช่นมีเป้าหมายใหญ่ระยะไกลโพ้น ย่อยเข้ามาด้วยคำถามสำคัญว่า “อะไรคือสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น” ถ้าดูจากเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า อะไรคือสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในปีนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในอีก 5 ปีข้างหน้า และเพื่อบรรลุเป้าหมายในอนาคตอันไกลโพ้น
ถ้าดูจากเป้าหมายในปีนี้ อะไรคือสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในเดือนนี้ เพื่อบรรลุเป้าหมายในปีนี้
ถ้าดูเป้าหมายในสัปดาห์นี้ อะไรคือสิ่งเดียวที่สามารถทำได้ในวันนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายสัปดาห์นี้ และส่งผลต่อเนื่องเป็นลำดับไปถึงอนาคตอันไกลโพ้น
นี่เป็นการฝึกให้คิดเชื่อมโยงเป้าหมายย่อยเข้ากับเป้าหมายต่อเนื่อง ทำให้คุณรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องทำในตอนนี้ และจะมีผลเป็นพลังเรียงกันเหมือนแผ่นโดมิโน เมื่อเราทำส่วนแรกเสร็จ ก็เป็นพลังชิ้นเล็กๆ ที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จเชื่อมโยงกระทบไปสู่แผนอนาคต
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก ดร.สุวัฒน์ ทองธนากุล
ผู้จัดการออนไลท์