« ตอบกลับ #84 เมื่อ: 18/พ.ค./12 05:09น. »
ที่มาของเพลง "คนเดียวในดวงใจ"
“ทิพย์ประภา” นั้นเป็นนามปากกา ชื่อจริงก็คือ สุวิทย์ สัตโกวิท เป็นน้องชายของนักเพลงผู้โด่งดังนาว่า อ.กวี สัตโกวิท ผู้เป็นเจ้าของบทเพลงที่โด่งดังมากมายนั่นเอง ผู้แต่งเพลง “คนเดียวในดวงใจ” ได้เล่าถึงที่มาของเพลงให้ฟังว่า
“ผมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ ที่เกือบจะไร้สาระของผม ไม่อยากเล่าให้ใครฟังด้วยซ้ำ เป็นช่วงที่ผมยังเป็นนักร้องอยู่กับวงดนตรีของครูพยงค์ มุกดา ซึ่งก็เป็นนักร้องเล็กๆ นะ เพราะไปงานทุกครั้งจะได้ร้องเพลงก็แค่งานละเพลงเท่านั้นเอง และก็จะร้องเป็นคนแรกๆ ของงานด้วย จะเรียกว่าเป็นนักร้องฝึกหัดหรือนักร้องก่อนเวลาก็ได้ ช่วงนั้นคงประมาณปี 2509 ประมาณนั้น”
“จำได้ว่าวันนั้นผมไปร้องเพลงกับวงที่โรงภาพยนตร์พระโขนงรามา พอร้องเพลงจบลงมาจากเวทีก็ได้รู้จักกับแฟนเพลงเป็นสาววัยรุ่นคนหนึ่ง อายุของเธอราวสิบห้าสิบหกปีเห็นจะได้ แต่ท่าทางเหมือนจะแก่กว่าอายุเล็กน้อย (หัวเราะ) หลังจากผมไปรับค่าตัวแล้วเราก็ออกจากโรงหนังไปเที่ยวกัน เธอเป็นคนสวยทีเดียว แต่ไม่ได้เรียนหนังสือ คงจะเป็นประเภทหนีโรงเรียนบ่อยจนกลับไปเรียนต่อไม่ได้อะไรทำนองนั้น...”
“เธอแอบพาผมไปที่บ้านพี่สาวของเธอที่เธออาศัยเขาอยู่ เราเป็นของกันและกันตั้งแต่วันนั้น แต่เราก็ยังเป็นเด็ก ต่างคนต่างอาศัยอยู่กับพี่ชายพี่สาว ยังไม่มีหลักแหล่งทั้งคู่ เราคบค้าไปมาหากันอยู่ระยะหนึ่ง แต่ผมมารู้ตัวว่าผมรักเธอจริงๆ ก็ตอนที่ผมตามหาเธอไม่เจอเสียแล้ว เพราะปกติเธอจะเป็นฝ่ายมาหาผม พอถึงเวลาจะไปเธอก็หายตัวไปเอง”
“ทิพย์ประภา” ได้เขียนเนื้อร้องเพลงนี้ทิ้งไว้ในห้องพัก จนวันหนึ่งพี่ชาย คือ อ.กวี สัตโกวิท ได้มาพบเข้าจึงนำไปให้ ประสิทธิ์ พยอมยงค์ ใส่ทำนอง พอดีช่วงนั้น “โลลิต้า” ไนต์คลับชื่อดังแห่งถนนราชดำเนิน โดย สุรพล พรทวีวัฒน์ กำลังเตรียมทำเพลงบันทึกเสียงให้กับ “โลลิต้า” โดยมอบหมายให้ครูประสิทธิ์เป็นผู้รวบรวมเพลง ครูประสิทธิ์ก็เลยเอาเพลง “คนเดียวในดวงใจ” รวมเข้าในชุดของ “โลลิต้า” ทันเวลาพอดี โดยมี สุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องนำของ “โลลิต้า” เป็นผู้ร้องบันทึกเสียง
เพลง “คนเดียวในดวงใจ” จึงได้เริ่มเป็นที่รู้จักและโด่งดังตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา โดยเฉพาะช่วงอาหารกลางวัน ที่ “โลลิต้า” แห่งถนนราชดำเนินในยุคนั้น.
ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=7604
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 23/เม.ย./19 17:00น. โดย จรีพร »

บันทึกการเข้า
ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน