หนังกลางแปลง > ภาพยนตร์ในอดีต
"จอมโจรมเหศวร" โรบินฮู้ดเมืองไทย
เซี๊ยะ(นพดล):
"เราไม่เคยคิดจะเข้ามาในวงการโจร แต่มีความจำเป็น ไม่มีทางเลือก" เป็นคำกล่าวของ หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อดีต "เสือดำ" 1 ในบรรดาโจรชื่อดังหลายคนในยุคปลายสงครามโลกครั้งที่สองและหลังสงคราม ที่จะฟังขึ้นหรือไม่ก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่าน มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า เหตุที่มีโจรผู้ร้ายชุกชุมในช่วงเวลาดังกล่าว เนื่องจากผลกระทบของสงครามทำให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง อาวุธสงครามแพร่หลายในตลาดมืด อำนาจรัฐที่ยังขาดประสิทธิภาพ เนื่องจากปัญหาการคมนาคมและตัวข้าราชการเองที่ไร้ประสิทธิภาพหรือบางทีก็ข่มเหงราษฎร และความเชื่อในเครื่องรางของขลังต่างๆ ทำให้คนจำนวนหนึ่งหันไปเป็นโจร ซึ่งมีทั้งประเภทที่เรียกว่า "เป็นโจรโดยสันดาน" อยู่แล้ว และรายที่ถูกข่มเหงรังแกโดยอำนาจรัฐไม่สามารถยื่นมือเข้าไปช่วยได้ ดังเช่น อดีตเสือดำเจ้าของคำพูดในตอนต้น และ "เสือมเหศวร" ที่มีผู้นำชีวิตของเขามาสร้างเป็นภาพยนตร์ไทย ในยุค "มิตร-เพชรา" ออกฉายเมื่อปีพ.ศ.2513
เมื่อผมเริ่มศึกษาหาข้อมูลประกอบการเขียนภาพยนตร์เรื่องนี้ นอกจากปัญหาการหาเอกสารอ้างอิงในเบื้องต้น และการไม่ปรากฏวันเดือนปีที่แน่นอนของเหตุการณ์แล้ว ยังมีเรื่องของเอกสารที่ดูเหมือนขัดแย้งกันอยู่บ้าง ดังที่จะได้กล่าวต่อไป ในหนังสือเรื่อง "คนใต้หนังเหนียว" อันเป็นชีวประวัติส่วนหนึ่งของ พล.ต.ต.ขุนพันธรักษ์ราชเเดช จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฉัตรรพี ไม่ปรากฏปีที่พิมพ์ (ผมลืมปั๊มวันเดือนปีที่ซื้อหนังสือไว้ จำได้คร่าวๆ เพียงว่าซื้อในราวปีพ.ศ.2537-2539) ลำพังเรื่องของขุนพันธ์ฯ ยังเขียนไม่จบเลย จึงไม่แปลกที่จะกล่าวถึง "เสือมเศวร" เพียงว่าเป็นสมุนมือรองคนหนึ่งของ "เสือฝ้าย" แต่อย่างน้อยก็พอจะให้ภาพของสังคมไทยเวลานั้นได้พอสมควร "คนใต้หนังเหนียว" กล่าวว่า ขุนพันธรักษ์ราชเดช ขณะมียศเป็น พ.ต.ต. ได้รับคำสั่งโยกย้ายจากผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพิจิตรไปเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดชัยนาท เมื่อ 23 มิถุนายน 2488 ขณะนั้น มีชุมโจรใหญ่ๆ ในเขตความรับผิดชอบของท่าน ได้แก่ จังหวัดชัยนาท มี เสือครึ้ม เสือย่อม เสือเห้ย เสืออ้วน และสองพี่น้อง เสือสมเสือศักดิ์ และสุพรรณบุรี มี เสือฝ้าย เสือเกลี่ย เสือดอย และเสือดำ "คนใต้หนังเหนียว" จะกล่าวถึงบรรดาเสือเหล่านี้ในทางลบเป็นส่วนใหญ่ นอกจากครั้งหนึ่ง ที่เล่าเหตุการณ์ตอนเสือครึ้มนัดให้ขุนพันธ์ฯ ไปพบเพื่อเจรจาขอมอบตัวในภายหน้า ที่สะท้อนให้เห็นว่า "เสือ" เหล่านี้มีส่วนหนึ่งที่เป็นโจรด้วยความจำใจ บทความในรุ่นหลังๆ ยังได้กล่าวถืงเสือบางคนอย่าง เสือฝ้าย เสือมเหศวร เสือใบ และเสือดำ ในด้านบวกเช่นกันว่า เดิมทีคนเหล่านี้เป็นสุจริตชนที่ถูกข่มเหงจนต้องเตลิดไปเป็นโจร เมื่อเป็นโจรแล้ว จะ "ปล้น" ด้วยวิธีการที่จะเรียกว่านิ่มนวลหรือเลวน้อยหน่อยก็แล้วแต่ทัศนะ เช่น การเลือกปล้นเฉพาะคนที่รวยมาจากการโกง ไม่ปล้นใครจนหมดตัว ไม่ทำร้ายเจ้าทรัพย์นอกจากรายที่ต่อสู้ขัดขืน รายได้ส่วนหนึ่งทำบุญกุศลและช่วยเหลือคนจน ฯลฯ จะเชื่อถือได้แค่ไหนก็ไม่ทราบ เนื่องจากบทความเหล่านี้จะเขียนจากปากคำของบรรดาเสือเหล่านั้นเอง แต่อย่างน้อย การที่เสือเหล่านี้ลงเอยด้วยการมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบางรายช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ปราบโจรร้ายกลุ่มอื่น เมื่อถูกดำเนินคดีแล้วไม่มีเจ้าทุกข์มาชี้ตัว ก็คงพอเป็นหลักประกันความจริงได้บ้าง
"เสือมเหศวรตัวจริง" รับบทเป็น "ผู้ใหญ่สุก" บิดาตนเอง
เซี๊ยะ(นพดล):
มาเข้าเรื่องเสือมเหศวรกันเต็มๆ ซะที มเหศวร มีชื่อเดิมว่า "ศวร เภรีวงษ์" เกิด ตำบลสีบัวทอง ซึ่งระหว่างจังหวัดอ่างทองกับสุพรรณบุรี ในภาพยนตร์เราจะได้เห็นมเหศวรตัวจริงในบทของผู้ใหญ่สุก (หรือ "สุข" ก็ไม่ทราบ) บิดาของตนเอง และ มิตร ชัยบัญชา รับบทเป็นนายศวร ที่จะกลายมาเป็นเสือมเหศวรในภายหลัง เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อลูกบ้านคนหนึ่งมาแจ้งกับผู้ใหญ่สุกให้ไปตามคนร้ายที่ขโมยควาย ระหว่างทาง ผู้ใหญ่สุกได้พบกันนายศวร ลูกชายที่พึ่งปลดประจำการจากการเกณฑ์ทหาร จึงหยุดทักทายกันและสั่งให้ศวรบอกนางตลับผู้เป็นภรรยาตนและแม่ของศวร ให้ฆ่าไก่ทำอาหารไว้ฉลองการกลับมาของศวร แต่พอศวรถึงบ้านได้ไม่นาน หมื่นชน (ชื่อสมมติ) ศัตรูของผู้ใหญ่สุกที่หวังจะครอบครองที่ดินของผู้ใหญ่และเป็นใหญ่ในละแวกนั้นมานาน ได้ลอบยิงผู้ใหญ่สุกถึงแก่ความตาย ศวรวิ่งตามเสียงปืนไปพบเข้า ก็ถูกหมื่นชนกับพวกไล่ตามฆ่าด้วยอีกคน จนต้องหนีเอาชีวิตรอด
ศวรหนีไปถึงไร่แห่งหนึ่ง โฉมยาหลานสาวเจ้าของไร่ได้รับไว้เป็นคนงานในไร่ทั้งๆ ที่พิทักษ์พี่ชายไม่เห็นด้วย ศวรกับโฉมยาสนิทสนมกันมากขึ้นท่ามกลางความไม่พอใจของพิทักษ์ ชิงชัยเพื่อนของพิทักษ์ที่หมายปองโฉมยา เจ้าของไร่ผู้เป็นอาของโฉมยา และคนงานอื่นๆ ที่อิจฉาริษยา ขณะเดียวกัน หมื่นชนได้ตามมาคุกคามนางตลับบังคับให้บอกที่ซ่อนของศวร ทำร้ายเธอจนได้รับบาดเจ็บที่ตาขวา และจับเธอพิมพ์ลายนิ้วมือในเอกสารแผ่นหนึ่ง อันเป็นการฮุบเอาที่ดินของผู้ใหญ่สุกแต่เดิมไปนั่นเอง ด้านศวรได้ออกจากไร่ไปรับจ้างถีบสามล้อ จนได้มาพบกับคนจรจัดชื่อเบี้ยว และได้พบกับพิทักษ์ชิงชัยและเจ้าของไร่โดยบังเอิญ ทั้งสามหลอกว่าโฉมยากำลังจะแต่งงานกับชิงชัย ทำให้ศวรผิดหวังเตลิดไปขอสมัครเป็นลูกน้องของเสือฝ้าย โดยมีเบี้ยวติดตามไปด้วย
ตรงนี้ขอขยายความเกี่ยวกับ "เสือฝ้าย" นอกจากที่กล่าวในภาพยนตร์ไว้สักนิด เสือฝ้ายมีชื่อเดิมว่า ฝ้าย เพ็ชนะ เคยบวชเรียนแล้วสึกออกมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน แล้วต้องติดคุกเพราะถูกหลานเขยใส่ความว่าเป็นโจรจนต้องติดคุกถึง 8 ปี โดยทีแรกไม่ทราบความจริง จนกระทั่งหลานเขยคนเดิมพยายามใส่ความอีกครั้ง ฝ้ายจึงฆ่าทิ้งและหนีเงื้อมมือกฎหมายมาตั้งชุมโจร จนมีอิทธิพลมาก ในเขตจังหวัดสุพรรณบุรี แม้แต่ชุมเสืออื่นๆ ก็ให้ความเคารพยำเกรง จนได้รับสมญาว่า "พ่อเสือ" บ้าง "จอมพลเสือฝ้าย" บ้าง "ครูฝ้าย" บ้าง
เซี๊ยะ(นพดล):
กลับมาดูเรื่องในภาพยนตร์ต่อ เสือฝ้ายได้รับศวรกับเบี้ยวไว้ในชุมโจรในตำแหน่ง "จุมโพ่" ซึ่งจะเรียกอีกนัยหนึ่งว่าเป็น "เบ๊" ก็ว่าได้ คือ ทำหน้าที่หุงข้าว ทำอาหาร บีบนวด และจะมี "อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย" แบบราชการหรือเปล่าก็ไม่ทราบ แต่ไม่ใช่หน้าที่ในการออกปล้น ความปรารถนาที่จะล้างแค้นทำให้ศวรอยากได้ปืนมาฝึกยิง เบี้ยวได้ช่วยเหลือจนทั้งสองเกิดการทะเลาะวิวาทกับเสือจอนและเสือหวิง สมุนคนสำคัญของเสือฝ้าย เสือฝ้ายเห็นฝีมือการต่อสู้ของศวรที่เหนือกว่าลูกน้องทั้งสองของตน จึงได้ทดสอบด้วยการส่งศวรปล้นโดยไม่ให้ประกาศว่าเป็นลูกน้องตน ในหนังจะตัดข้ามมายังตอนที่ศวรนำทรัพย์สินที่ปล้นได้มามอบให้เสือฝ้ายแล้ว เสือฝ้ายพอใจและแต่งตั้งให้ศวรเป็นสมุนมือขวา พร้อมชื่อใหม่ว่า "มเหศวร" แหล่งข้อมูลอื่นไม่ได้เจาะจงว่าเสือฝ้าย เป็นผู้ตั้งชื่อนี้หรือไม่ แต่มาจากชื่อพระเครื่องมเหศวรที่ศวรบูชาและคล้องคออยู่ตลอด เชื่อว่าทำให้อยู่ยงคงกระพัน นอกจากนี้ เล่ากันว่า เสือฝ้ายเป็นผู้สอนวิชาอาคมต่างๆ ให้กับบรรดาสมุนทั้งหลายรวมทั้งมเหศวรด้วย แต่ในภาพยนตร์ทั้งเรื่องจะไม่กล่าวถึงวิชาอาคมใดๆ เลย ปัญหาคงไม่ใช่แค่ว่าผู้สร้างจะเชื่อหรือไม่เชื่อในเรื่องไสยศาสตร์นี้หรือไม่ ในตอนต้นเรื่อง ได้มีคำประกาศไว้ว่าต้องการสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ไว้เป็นอุทธาหรณ์แก่ผู้ที่กำลังเดินทางไปสู่อเวจี เรื่องเครื่องลางของขลังต่างๆ จึงไม่ใช่ประเด็นที่จะสนับสนุนวัตถุประสงค์ของเรื่อง
ต่อมา ชุมโจรเสือดำถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย นายดาบลิขิต เข้าปราบปราม เสือดำหนีเข้ามาในเขตของเสือฝ้าย ๆ ให้เสือมเหศวรนำกำลังไปกำจัดเสือดำ แต่เสือมเหศวรกลับนำคนไปล้างแค้นฆ่าหมื่นชนตาย แล้วไปเยี่ยมแม่ซึ่งมีหญิงสาวชื่อเอื้องฟ้าปรนนิบัติดูแลอยู่ และได้อ่อนใจ พี่ชายของเอื้องฟ้ามาเป็นสมุนอีกคน ผลของการไม่ทำตามคำสั่งเสือฝ้าย ทำให้เสือดำออกอาละวาดปล้นฆ่าชาวบ้านในเขตเสือฝ้าย ๆ โกรธ และขับเสือมเหศวรกับพวกให้ไปตั้งชุมโจรของตัวเองต่างหาก
โฉมยากับเพื่อนชื่อศรีวรรณได้มาที่ชุมโจรของมเหศวรเพื่อปรับความเข้าใจกัน แต่ได้พบมเหศวรซึ่งยังไม่หายโกรธกำลังอยู่กับเอื้องฟ้า จึงงอนวิ่งหนีกลับไป ระหว่างทางถูกเสือจอนกับเสือหวิงพยายามฉุดคร่า มเหศวรกับเบี้ยวมาช่วยไว้ทัน โฉมยาจึงต้องพักอยู่ที่ชุมโจรของมเหศวรจนปรับความเข้าใจกันได้ แต่เสือจอนกับเสือหวิงได้ไปใส่ความยุยงเสือฝ้ายหาว่ามเหศวรต้องการท้ายทายอำนาจ รุ่งขึ้นมเหศวรนำโฉมยากับศรีวรรณไปส่ง เจ้าของไร่กับพิทักษ์และชิงชัยนำพรรคพวกมาพบเข้าก็พยายามรุมทำร้าย เสือฝ้ายมาพบเข้าจึงสังหารเจ้าของไร่กับพิทักษ์และชิงชัยตายหมด จากนั้นจึงสอบถามเสือมเหศวรเรื่องที่สองเสือลูกน้องตนใส่ความไว้ เสือมเหศวรเล่าความจริงโดยมีโฉมยากับศรีวรรณเป็นพยาน เสือฝ้ายจึงสังหารเสือจอนกับเสือหวิง แล้วกล่าวลาเสือมเหศวรว่า คงไม่ได้พบกันอีกแล้ว เพราะทางการได้ส่งนายร้อยตำรวจเอกคนหนึ่งมาปราบปรามตน ตรงนี้ขอแทรกเรื่องจริงที่ปรากฏนอกเหนือจากในหนังอีกทีว่า ในภายหลัง เสือฝ้ายได้กลับใจมาช่วยเหลือทางการในการปราบปรามชุมโจรอื่นๆ และเข้ามอบตัวในที่สุด แต่จะด้วยความแค้นเดิมหรือเหตุผลกลใดไม่ทราบ นายร้อยตำรวจเอกคนที่ในหนังเอ่ยชื่อนามสกุลท่านไว้ด้วยนั้น ได้กระทำวิสามัญฆาตกรรมเสือฝ้ายที่วัดโพธิ์ทอง จังหวัดอ่างทอง ระหว่างทางที่คุมตัวไปยังกรุงเทพฯ เหตุผลและเรื่องราวที่แท้จริงเป็นอย่างไรคงต้องฝากให้ศึกษากันต่อไป
หนุ่มเอ้บ:
:'e:92 :'e:92 น่าสนใจและน่า ติดตามจริง จริง จริง ครับ :'e:94 :'e:94
เซี๊ยะ(นพดล):
--- อ้างจาก: หนุ่มเอ้บ ที่ 11/เม.ย./12 16:14น. --- :'e:92 :'e:92 น่าสนใจและน่า ติดตามจริง จริง จริง ครับ :'e:94 :'e:94
--- End quote ---
ขอบคุณเช่นกันนะครับ ที่เข้ามาแสดงความคิดเห็นและบอกไว้ว่าจะมาติดตามต่อไป "น่ารัก" จริงๆ ครับ
ทำให้เจ้าของกระทู้ มีกำลังใจที่จะมอบสาระและความรู้จากภาพยนตร์ไทยในอดีตกันต่อไปครับผม
:'e:31 :'e:31 :'e:31
psi108
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version