หนังกลางแปลง > ภาพยนตร์ในอดีต
"จอมโจรมเหศวร" โรบินฮู้ดเมืองไทย
เซี๊ยะ(นพดล):
เหตุการณ์ต่อมา เสือมเหศวรได้พยายามล้างชุมโจรเสือดำ ๆ จับนางตลับไปเป็นตัวประกันเพื่อล่อให้เสือมเหศวรมาช่วย แล้วซ้อนกลให้ตำรวจนำกำลังมาจับ มเหศวรปะทะกับกำลังของลิขิต (ที่เลื่อนจากนายดาบเป็นผู้หมวดแล้ว) จนถูกยิงได้รับบาดเจ็บ ระหว่างหนีถูกเสือดำกับพวกคอยสกัดอยู่ เมียเสือดำถูกยิงตาย ทำให้เสือดำสู้อย่างบ้าเลือด เมื่อลูกน้องเสือมเหศวรอีกส่วนหนึ่งตามมาพบได้แอบไปโจมตีเสือดำทางด้านหลัง ทำให้เสือดำกับพวกถูกยิงตายหมด ฉากนี้ที่นับว่าแปลกคือตามปกติในหนังไทยรุ่นเก่าๆ หลายเรื่องจะมีนางรองวิ่งมาบังกระสุนตายแทนพระเอก แต่เรื่องนี้เมียเสือดำกลับตายเพราะออกมาบังกระสุนตายแทนเสือดำก่อน แล้วพอเสือดำตายก็อุตส่าไปล้มทับร่างเมียพอดี ดูแล้วจะน่าอิจฉายิ่งกว่าคู่พระคู่นางซะอีก เพราะก่อนหน้านี้ก็จะมีฉากวับๆ แวมๆ ระหว่างเสือดำกับเมียอยู่สองฉากด้วย ในด้านข้อเท็จจริงนั้น เสือดำตัวจริงเมืองสุพรรณ แม้จะเป็นชุมเสือที่ไม่ยอมขึ้นกับเสือฝ้าย แต่ก็ไม่ได้เป็นเสือร้ายอย่างในหนัง และเป็นเสือกลับใจรายหนึ่งที่ยอมมอบตัวต่อทางการ โดยมีเรื่องเล่าว่าได้ปะทะกับขุนพันธรักษ์ราชเดชหลายครั้ง แต่ต่างฝ่ายต่างมีวิชาอาคมทำอะไรกันไม่ได้ จนได้มีการนัดคุยกันอย่างลูกผู้ชาย โดยที่เสือดำไม่ได้เป็นโจรโดยสันดาน จึงถูกเกลี้ยกล่อมให้มอบตัวไปในที่สุด และได้บวชเป็นพระนามว่า หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร ดังที่ผมนำคำพูดของท่านมาใช้เปิดเรื่องตอนต้น คงต้องถือซะว่าชื่อ "เสือดำ" ในที่นี้เป็นชื่อสมมติของเสือรายอื่นไป
หลังจากได้ภรรยาแล้ว ล้างแค้นเช็คบิลใครต่อใครจนหมดแล้ว ก็เป็นการเดินเรื่องไปสู่การมอบตัวของเสือมเหศวร โดยผู้หมวดลิขิตได้พยายามขอความร่วมมือจากนางตลับและเอื้องฟ้าในการเกลี้ยกล่อม มเหศวรเองก็เริ่มไม่สบายใจที่โฉมยาต้องมาตกระกำลำบากในชุมเสือ จึงได้พาเธอไปอยู่กับนางตลับผู้เป็นมารดา แล้ววันดีคืนดี อ่อนใจก็มาบอกเสือมเหศวรว่า หมวดลิขิตได้ "จับตัว" นางตลับ โฉมยา และเอื้องฟ้าไปเป็นตัวประกัน มเหศวรนำกำลังไปหมายจะไปช่วยคนทั้งสามโดยไม่กลัวว่าจะเป็นกับดัก แต่หลังจากการปะทะกันครู่หนึ่ง หมวดลิขิตและ "ตัวประกัน" ทั้งสามก็ได้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจนเสือมเหศวรยอมมอบตัวพร้อมกับลูกน้องทั้งหมด (ขณะนี้ผมทราบเพียงว่ามเหศวรมอบตัวในปี 2492 และถูกจำคุก 3 ปี) เหตุการณ์ช่วงนี้มีบทความในช่วงหลังอ้างคำพูดของมเหศวรเองในเชิงบ่นทำนองว่าตำรวจเล่นแรงถึงขั้นจะขู่ฆ่าแม่และเมียด้วย แน่ละครับ ตำรวจไม่ว่ายุคนั้นหรือยุคนี้ก็มีบุคคลนอกแถวที่ทำให้ภาพลักษณ์ส่วนรวมเสื่อมเสียอยู่ตลอด แต่จะรวมถึงหมวดลิขิตในเวลานั้นด้วยหรือเปล่า? คงต้องขอเดาแบบกลางๆ ไว้ก่อนว่า หากเสือมเหศวรเคยห่วงล้างแค้นส่วนตัวจนเสียงานของเสือฝ้ายจริง และเคยบุกไปช่วยแม่จนเกือบเสียที "เสือดำ" จริง หมวดลิขิตก็ย่อมเห็นว่านี่คือจุดอ่อนที่จะล่อเสือมเหศวรออกมาได้ หากหมวดลิขิตแกเลวจริงก็คงใช้แผนนี้เพื่อวิสามัญเสือมเหศวรซะเลย ไม่ใช่ล่อมาเกลี้ยกล่อมอย่างที่ปรากฏในหนัง
ภาพยนตร์เรื่อง จอมโจรมเหศวร นี้ ยังมีความสำคัญต่อมเหศวรตัวจริงอย่างมาก มีเรื่องเล่าว่า หลังจากมเหศวรออกจากคุกแล้ว ต้องอยู่อย่างลำบากยากจนมาตลอด และคงจะด้วยกุศลผลบุญที่ยอมกลับตัวกลับใจอย่างแท้จริง ไม่ได้ออกจากคุกมาเป็นโจรใหม่อย่างโจรผู้ร้ายรุ่นหลัง วันหนึ่งคุณพลสัญห์ ศรีหาผล ได้ดำริที่จะนำเรื่องของมเหศวรมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ในบทความเขาใช้คำว่า คุณพลสัญห์ "ขอซื้อเรื่องราวของมเหศวรเป็นเงิน 100,000 บาท" จะถือว่าเป็นค่าขออนุญาตเอาชีวิตจริงไปสร้าง ค่าตัวในการร่วมแสดง หรือค่าอะไรก็แล้วแต่ อย่างน้อยได้ชี้ให้เห็นว่าผู้สร้างหนังรุ่นนั้นให้ความเคารพต่อตัวบุคคลในเหตุการณ์จริง ผิดกับผู้สร้างหนังรุ่นหลังๆ บางรายทั้งไทยและฝรั่งที่แต่งเรื่องขึ้นใหม่เอาเองละเลงตามใจชอบ อีกประเด็นที่ควรถือว่ามเหศวรเป็นแบบอย่างที่ดี คือการนำเงินก้อนนั้นมาใช้ในการสร้างหลักฐานซื้อไร่นาเลี้ยงชีวิตเยี่ยงสุจริตชน เทียบกับคนรุ่นหลังในบางวงการ ได้เงินมานับเป็นล้านๆ กลับถลงใช้หมดในเวลาอันรวดเร็ว แล้วต้องมาลำบากในภายหลัง
ประเด็นที่ว่าโจรจำใจอย่างมเหศวรนั้น จะเทียบกับโรบินฮู้ดได้หรือไม่ ตรงนี้พูดยากครับ ไม่ว่าในภาพยนตร์เรื่องนี้หรือหนังสือบทความใดๆ เกี่ยวกับเสือในยุคนั้น หากไม่เขียนจากมุมมองของตำรวจที่ทำการปราบปราม ก็มาจากมุมมองของอดีตโจรเหล่านั้น หากเราทำตัวเป็นคนเชื่อยาก คงต้องแย้งว่าใครๆ ก็พูดให้ตัวเองดูดีทั้งนั้น ไม่ค่อยมีใครกล่าวถึงว่าผู้ถูกปล้นเป็นใครกันบ้าง? รวยแบบโกงเขามาหรือเป็นสุจริตชนธรรมดา? โดนปล้นอย่างสุภาพอย่างที่เขาอ้างหรือเปล่า? ที่ว่าปล้นแล้วแบ่งให้คนจนนั้นให้เปล่าหรือหวังผลให้เป็นแนวร่วมป้องกันตำรวจ? แล้วคนที่นำอาวุธมาขายให้โจรเหล่านี้เป็นใครมาจากไหน? เรื่องแบบนี้ไม่มีใครศึกษาอย่างจริงจัง คนในยุคนั้นนับวันก็จะแก่เฒ่าล้มตายลงไป อีกหน่อยจะเหลือไว้แต่ตำนานที่ไม่มีใครยืนยันกับเรื่องที่แต่งกันขึ้นมาใหม่กระนั้นหรือ?
อีกประเด็นที่ฝากไปคิดกันเล่นๆ คือตลอดเรื่องไม่มีการกล่าวถึง "เสือใบ" เลยแม้แต่คำเดียว ทั้งที่เป็นสมุนคนสำคัญคนหนึ่งของเสือฝ้ายเช่นเดียวกับเสือมเหศวร ขอเพิ่มข้อมูลประกอบไว้ด้วยว่า เสือใบนั้นเดิมชื่อ นายใบ สะอาดดี บ้านอยู่สุพรรณบุรี เหตุที่เป็นโจรเนื่องจากตอนอายุ 30 ถูกโจรปล้น และน้องภรรยาถูกฉุดไปด้วย จึงตามไปช่วยและ ฆ่าโจรตายไป 2 ศพ และต้องเป็นโจรเสียเองแต่บัดนั้น
ชื่อเรื่อง : จอมโจรมเหศวร
เรื่องเดิม : ชีวิตของเสือมเหศวร จากการเรียบเรียงของ พ.ต.ท.ลิขิต วัฒนปกรณ์ และ พร น้ำเพชร
ผู้กำกำกับ : อนุมาศ บุนนาค
ผู้สร้าง : พลสัญห์ ศรีหาผล
ผู้เขียนบท : ประสิทธิ์ ศิริบันเทิง
ผู้แสดง : มิตร ชัยบัญชา, เพชรา เชาวราษฎร์, สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์, ประจวบ ฤกษ์ยามดี, แมน ธีระพล, เมตตา รุ่งรัตน์, เยาวเรศ นิศากร,
ชุมพร เทพพิทักษ์, มารศรี อิศรางกูร, มเหศวร เภรีวงษ์ ฯลฯ
นายน้อย:
"จอมโจรมเหศวร"เคยได้ดูมาแล้วครับสมัยนั้น แต่ตอนนี้จำไม่ได้ :'e:94 ท่านเซี๊ยะ(นพดล)
เอ็มเค:
เสือสมัยก่อนสุดยอดมากเลยนะครับ ต่างจากสมัยนี้เยอะ
สหัสวรรษ:
เรื่องจอมโจรมเหศวร ยังพอหาดูได้ในยูทูปนะครับ ผมเพิ่งดูมาหลัดๆ ใครสนใจก็หาค้นดูได้
พูดถือจอมใจรมเหศวร ผมก็นึกถึง ป.อินทรปาลิต ได้เขียนเรื่องเสือดำ เสือใบ ซึ่งเป็นขุนใจรในยุคเดียวกันไว้อย่างน่าดู เคยอ่านมาก็สนุกดี เป็นการเขียนแหวกแนวไปจากแนวสามเกลอ หนังสือเก่าพวกนี้ผมชอบอ่านเพราะได้บรรยากาศเก่าๆ และรับรู้สภาพบ้านเมืองยุคก่อนเราเกิด ถือเป็นประวัติศาสตร์ฉบับชาวบ้าน ใครจะชอบเหมือนผมไหมเนี่ย
หญิงกลาง สกลนคร:
อยากดูจังเลย :'e:102
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version