โรคเบาหวานเกิดได้อย่างไร
อาจเกิดได้จากการขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ (ภาวะดื้ออินซูลิน) และการการโรคเบาหวานประเภทที่ 2 มักเกิดจากความผิดปกติของ 2 ประการนี้ร่วมกัน นอกจากนี้ยังอาจเกิดจากการทำงานผิดปกติของ ฮอร์โมน อินคริติน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นการหลั่งอินซูลิน
เมื่อทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ร่างกายของคนปกติที่ไม่ได้มีความผิดปกติของฮอร์โมนอินซูลิน จะทำการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตเป็นน้ำตาลกลูโคสและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อใช้เป็นพลังงานของร่างกาย ซึ่งฮอร์โมนจากตับอ่อน คือ อินซูลิน จะเป็นตัวพาน้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เนื้อเยื่อต่างๆของร่างกาย ดังนั้นถ้าตับอ่อนสร้างอินซูลินไม่ได้ หรือสร้างไม่พอ จะทำให้การทำงานไม่ดีส่งผลให้มีน้ำตาลในเลือดเหลือค้างมากและมีระดับสูงกว่าปกติ เกิดเป็นโรคเบาหวาน
อาการของโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง
ในเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะพบใน ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี และส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน อาการของโรคมักเกิดขึ้นอย่างช้าๆ หรืออาจไม่ปรากฏอาการเลยก็ได้ ลักษณะอาการที่พบบ่อยๆได้แก่
สายตาพร่ามัว
เป็นแผลเรื้อรัง
ปวดและชาตามมือและเท้า
มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปาก หรือ กระเพาะปัสสาวะบ่อยครั้ง
ปัสสาวะมาก กระหายน้ำบ่อย และมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
คนปกติก่อนรับประทานอาหารเช้าจะมีระดับน้ำตาลในเลือด (พลาสมากลูโคส) 70-99มก./ดล. หลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลไม่เกิน 140 มก./ดล.
ในผู้เป็นเบาหวานเมื่อระดับน้ำตาลสูง (พลาสมากลูโคสในเลือดมากกว่า 180มก./ดล.) เกินความสามารถของไตที่จะกั้นมิให้น้ำตาลออกมาในปัสสาวะ จึงมีน้ำตาลออกมากับปัสสาวะมาก และดึงให้น้ำตามออกมาและก่อให้เกิดการเสียน้ำ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดอาการเบื้องต้นคือ ปัสสาวะบ่อยและมาก คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก
นอกจากนี้การที่ร่างกายเอาน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานไม่ได้ ร่างกายจึงสลายไขมันและกล้ามเนื้อมาใช้แทน ส่งผลให้มีอาการหิวบ่อย รับประทานจุ แต่น้ำหนักลด รู้สึกอ่อนเพลีย ฯลฯ