พูดถึง “น้ำพริก” คนไทยต้องรู้จักเป็นอย่างดี แม้ว่าแต่ละภาคอาจจะเรียก ชื่อแตกต่างกันไปบ้าง
เช่น ภาคใต้เรียก“น้ำชุบ” ภาคอีสาน มี “ป่น”“แจ่ว”
แต่ ไม่ว่าจะเรียกชื่อต่างกันแค่ ไหน ส่วนประกอบหลักๆ ของน้ำพริกมีคล้ายคลึงกัน แถมยังต้องกินกับผักเครื่องเคียงหลากหลายชนิด ที่มีคุณประโยชน์ทางโภชนาการและป้องกันโรคภัยต่างๆ ได้ด้วย
สมุนไพรที่อยู่ในถ้วยน้ำพริกนั้น
ประกอบด้วย พริก กระเทียม และหอมแดง ซึ่งแต่ละอย่างก็มีสรรพคุณป้องกันได้หลายแบบ
เอกสารเผยแพร่ของศูนย์ประสานงาน การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรให้ข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวไว้ว่า
พริก
มีรสชาติเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นการทำงานของลำไส้ ทำให้เจริญอาหาร ขับลม แก้หวัด แก้ภูมิแพ้
งานวิจัยพบว่าในพริกมีสารแคปไซซิน ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระที่เป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง
กระเทียม
มีสาร “อัลลิซิน” กลิ่นฉุน มีฤทธิ์ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยไม่ให้เลือดจับตัวเป็นลิ่มหรืออุดตันตามผนังหลอดเลือด ลดการเกิดโรคหัวใจ และโรคหลอดเลือด
หอมแดง มีสาร “เคอร์ซิทิน” ช่วยทำความสะอาดเส้นเลือด ป้องกัน ไม่ให้หลอดเลือดอุดตัน
นอกจากนี้ สมุนไพรที่เป็น เครื่องเคียงกินกับน้ำพริก เช่น สายบัว บัวบก ผักกะเฉด ผักกูด ผักหนาม ยังมีสารประกอบที่ฝรั่งเรียกว่า “ไฟโตเคมีคอลล์”
มีฤทธิ์ในการป้องกันโรคร้ายต่างๆ เช่น คลอโรฟิลล์ ฟลาโวนอยด์ แคโรทีนอยด์ เมื่ออยู่ในผักจะออกฤทธิ์ช่วยกันเสริมสร้างร่างกายให้ แข็งแรง เพิ่มภูมิคุ้มกันและต่อต้านอนุมูลอิสระ
ในผักยังมีเส้นใยอาหาร หรือที่เรียกว่าไฟเบอร์นั้น ก็ยังมีประโยชน์อีก นั่นคือเส้นใยอาหารที่ละลายน้ำจะช่วยคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือด
ส่วนเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำจะช่วยทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น ลดโอกาสเสี่ยงการเป็นริดสีดวงทวาร และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ทั้งหมดที่ว่ามาแสดงว่าสมุนไพรในหนึ่งถ้วยน้ำพริกนั้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพเหลือหลาย นอกจากความแซบอันเป็นที่รู้กันโดยทั่วไป แล้วอย่างนี้จะทิ้งน้ำพริกไปหาอาหารฝรั่งกันได้ลงคอเชียวหรือ
อ้างอิง : http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_herbal/