อังกะลุงมีต้นกำเนิดจากประเทศชวา ทำด้วยไม้ไผ่เป็นท่อน ๆ แขวนไว้เป็นตับ ตับละ 2 ท่อน ใช้ถือคนละ 1 ตับ
บรรเลงโดยใช้เข่ากระแทกกระบอกไม้ไผ่ที่แขวนไว้ในราง ให้ส่วนล่างของกระบอกกระแทกตัวราง กระบอกไม้ไผ่จะเกิดเสียงดังตามที่เทียบกระบอกเสียงไว้ เป็นเสียงสูงหรือต่ำ
ซึ่งกระบอกไม้ไผ่จะมีขนาดใหญ่ กลาง เล็ก มีทั้งหมด 5 เสียง ผูกแขวนเป็นตับ ๆ ดนตรีชนิดนี้เรียกว่า “อุงคะลุง”
อังกะลุงในประเทศไทย
อังกะลุง เข้ามาในประเทศไทยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี
พระองค์ทรงแนะนำและอนุญาตให้สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดช เสด็จประพาสยังประเทศชวา
พร้อมด้วยหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ในวันจันทร์ที่ 24 สิงหาคม 2450
สมเด็จเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าพระยาภานุพันธ์ วงศ์วรเดช จึงเสด็จจากกรุงเทพมหานคร มุ่งไปยังเมืองได ของประเทศชวา (ประเทศอินโดนิเชีย) เป็นแห่งแรก
และทรงตั้งพระทัยว่า จะเสด็จไปยังตำบลมาโตเออ เมื่อเสด็จถึงตำบลมาโตเออ พวกประชาชนประมาณ 10 หมู่บ้าน ต่างพากันต้อนรับพระองค์อย่างสมพระเกียรติ
โดยจัดดนตรีนำมาแสดงถวายให้ทอดพระเนตร ประชันกันถึง 7 วง พระองค์สนพระทัยวง อุงคะลุงเป็นพิเศษ
เมื่อพระองค์เสด็จกลับประเทศไทย จึงมีรับสั่งให้กงศุลไทยในชวา ซื้อดนตรีชนิดนี้ส่งมา 1 ชุด ภายในปี พ.ศ. 2451 แล้วทรงนำดนตรีชนิดนี้ฝึกสอนมหาดเล็กของพระองค์ในวังบูรพาก่อน
จึงเกิดมีดนตรีชนิดนี้ขึ้นในประเทศไทย ต่อมาได้แพร่หลายออกไปทั่วประเทศ ซึ่งคนไทยเรียกว่า “อังกะลุง”
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 แห่งราชวงศ์จักรี ได้มีการพัฒนาอังกะลุงเพิ่มเป็น 3 กระบอก
ลดขนาดให้เล็กและเบาลง เพิ่มเสียงจนครบ 7 เสียง และได้พัฒนาการบรรเลงจากการไกวเป็นการเขย่าแทน นับว่าเป็นต้นแบบของการบรรเลงอังกะลุงในปัจจุบัน
** ตัวเราเองจำได้ว่า ตอนเด็ก ๆ เคยดูรายการทีวี ช่องใดจำไม่ได้แล้ว เขาบรรเลงเพลงอังกะลุงให้ฟัง รู้สึกเสียงมันไพเราะจับใจมาก ฟังแล้วเพลิน **
** ถ้าเพื่อน ๆ อยากฟัง ค้นหาจากใน Google น่าจะพอมีนะคะ **