ผู้เขียน หัวข้อ: ชม “เคดาห์ - มาเลเซีย” ด้วยตานก  (อ่าน 541 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ วิทยา

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 576
    1107


เคาะประตูมาเลเซีย... ชม “เคดาห์” ด้วยตานก
    
   
จากจุดชมวิว “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์”
        
       “เที่ยวท่องล่องใต้” ครั้งนี้เคาะประตูประเทศมาเลเซีย เกาะกระแส “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” หรือ AEC ด้วยการเที่ยวชม
“รัฐเคดาห์” รัฐที่อยู่เหนือสุดของประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับ จ.สงขลา เพื่อเรียนรู้ความเหมือนและต่างในฐานะเมืองที่อยู่
ในเส้นละติจูดเดียวกัน
        

“อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ (Alor Setar Tower)” หอคอยที่สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย
        
       “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” มองโลกด้วยตานก
      
       นั่งรถข้ามด่านพรมแดนไทย-มาเลเซียที่บ้านด่านนอก อ.สะเดา จ.สงขลา แล้วผ่านพิธีการตรวจคนเข้าเมือง ทะลุไปยังบูกิตกายูฮีตำ
ชายแดนฝั่งประเทศมาเลเซีย จุดแรกแวะชมภาพรวมของรัฐเคดาห์ที่ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ (Alor Setar Tower)” หอคอยที่สูงเป็น
อันดับ 2 ของประเทศมาเลเซีย และสูงเป็นอันดับที่ 19 ของโลก ด้วยความสูง 165.5 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล จึงเป็นทั้งสถานที่สำคัญ
และจุดชมวิวที่นักท่องเที่ยวไม่ควรพลาด  จากอะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์ จะมองเห็นทิวทัศน์รอบเมืองได้ชัดเจน ที่นี่มีกล้องส่องทางไกลไว้
บริการนักท่องเที่ยวด้วย ความน่าตื่นตาตื่นใจของหอคอยแห่งนี้คือการเฝ้าสังเกตความเป็นไปของเมืองแบบ Bird’s eye view หรือมอง
สิ่งแวดล้อมรอบตัวด้วยมุมเดียวกันกับสายตาของนก
        

      

ทอดสายตามองภูเขา Kariang อีกหนึ่งสถานที่สำคัญของเมืองอะลอร์สตาร์
        
       ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่ารอบๆ เมืองอะลอร์สตาร์นั้นล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาเขียวขจี เพราะรัฐเคดาห์ได้ชื่อว่าเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ
มาเลเซีย คนที่นี่ภาคภูมิใจในความเป็นชาวนา ถึงขั้นมี “พิพิธภัณฑ์ข้าว” ไว้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ด้วย นอกจากนี้ ที่ความสูง 88 เมตรเหนือ
ระดับน้ำทะเลซึ่งจัดไว้ให้เป็นจุดชมวิวโดยเฉพาะ ความช่างสังเกตซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลจะทำให้ค้นพบอาคารสวยๆ
วัดไทย วัดฮินดู มัสยิด หอนาฬิกา ภูเขา Keriang แม่น้ำ และการสัญจรไปมาบนถนน ซึ่งให้ความรู้สึกอิสระจนเข้าใจคำว่า “เสรีภาพใน
การมองเห็น” สำหรับ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ ผู้ใหญ่
12 ริงกิต (ประมาณ 120 บาท) เด็กอายุ 6 - 12 ปี 6 ริงกิต (ประมาณ 60 บาท)
        

หอนาฬิกาตระหง่านอยู่ทางขวา และบาลายโนบัตโดดเด่นอยู่ทางซ้าย
        
       “บาลายโนบัต” หอดุริยางค์ใจกลางเมือง
      
       ไม่ไกลจาก “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” ก็จะพบหอคอยอีกแห่งหนึ่ง โดดเด่นด้วยสีเหลืองสะดุดตา กับรูปลักษณ์ที่ผสมผสานเข้ากันระหว่าง
สถาปัตยกรรมพื้นเมืองและสถาปัตยกรรมยุโรป เรียกที่นี่ว่า “บาลายโนบัต (Balai Nobat)” หรือหอเก็บเครื่องดนตรีที่ใช้สำหรับพระราชพิธีของ
รัฐเคดาห์ แม้ว่าหอคอยนี้จะไม่สูงมากเมื่อเทียบกับ “อะลอร์สตาร์ ทาวเวอร์” แต่ความสวยงามของอาคาร และบันไดวนที่ทำเอาคนกลัวความสูง
เกือบหัวใจวายนั้นก็เรียกได้ว่าน่าตื่นเต้นไม่แพ้ที่ใดเช่นกัน
        

สีสันของบาลายโนบัตดึงดูดใจให้เหล่านักท่องเที่ยวแวะถ่ายภาพ
        
       บนบาลายโนบัตสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์ใจกลางเมืองอะลอร์สตาร์ได้กว้างในระดับหนึ่ง โดยเฉพาะมัสยิดซาฮีด (Masjid Zahir) ซึ่งตั้ง
อยู่เยื้องๆ กันเพียงแค่ถนนคั่น
        

มัสยิดซาฮีด ซึ่งมีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศมาเลเซีย
        
       “มัสยิดซาฮีด” สถาปัตยกรรมแห่งความศรัทธา
      
       ข้ามถนนจากบาลายโนบัตมายัง “มัสยิดซาฮีด (Masjid Zahir)” สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในเมืองอะลอร์สตาร์ ด้วยโดมสีดำโดดเด่น รายรอบ
ด้วยโดมเล็กสีเดียวกันอีก 5 ลูก ตัดกับตัวอาคารสีขาว ดึงดูดตาให้ยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมากดชัตเตอร์รัวๆ
        

“บาจูกูรง” การแต่งกายแบบดั้งเดิมของชาวมาเลเซีย
        
       มัสยิดแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1912 โดยสุลต่านรัฐเคดาห์ในสัมยนั้น ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากมัสยิดแห่งหนึ่งในตอนเหนือของเกาะสุมาตรา
ประเทศอินโดนีเซีย มัสยิซาฮีดตั้งอยู่ใจกลางเมืองอะลอร์สตาร์ และถือได้ว่าเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังสวยงามติดอันดับโลกอีกด้วย
        

ตลาดเปอกันราบู ประหนึ่งฝาแฝดของตลาดกิมหยง
        
       “เปอกันราบู” ตลาดกิมหยงแห่งเมืองอะลอร์สตาร์
      
       ชมเมืองอะลอร์สตาร์กันพอหอมปากหอมคอแล้วก็ต้องแวะหาของกินสักหน่อย ถ้าคุณเคยชอปปิ้งที่ตลาดกิมหยง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ทันทีที่คุณเห็น
ตลาด “เปอกันราบู อะลอร์สตาร์” คุณจะสัมผัสได้ถึงความเป็นฝาแฝดของกันและกัน เพียงแต่ที่นี่สื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ และภาษามาเลย์เป็นหลัก ไม่มีภาษา
จีนให้ได้ยินบ่อยเท่าตลาดกิมหยงเท่านั้นเอง และแม่ค้าบางคนก็พูดภาษาไทยได้ ต่อราคาสินค้ากันเป็นภาษาไทยสนุกสนานเลยทีเดียว


      

      

        
       ส่วนสินค้าในตลาดก็ไม่ได้แตกต่างจากตลาดกิมหยงสักเท่าไหร่นัก มีขนมหลอกเด็ก ของขบเคี้ยว ลูกเกด บ๊วย ถั่วต่างๆ เรื่อยไปจนถึง “โก๋แก่” และ
“มะขามจี๊ดจ๊าด” นอกจากนี้ ก็มีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องเทศ เนื้อฝอย ปลาส้ม ให้เลือกจับจ่ายตามต้องการ ชั้นล่างสุดเป็นร้านอาหาร ถ้าหิวและอยาก
ลิ้มรสอาหารสัญชาติมาเลเซีย ก็สามารถฝากท้องกันที่นี่ได้




      

      

      

      

        
       โดยภาพรวม อะลอร์สตาร์เป็นเมืองที่อากาศดี รถราไม่เยอะเท่าหาดใหญ่ ถนนหนทางไปมาสะดวก ด้วยความที่เป็นเมืองศูนย์กลางของรัฐเคดาห์จึง
คลาคล่ำไปด้วยร้านค้า ทั้งร้านอาหาร และร้านอื่นๆ และที่สำคัญคือผู้คนที่นี่มักจะพูดภาษาไทยได้บ้าง ซึ่งเป็นธรรมดาของผู้คนที่อาศัยอยู่ระหว่างรอยต่อ
ประเทศ  ตลอด 2 ข้างทางประมาณ 40 กม. จากด่านพรมแดนไทย - มาเลเซีย ที่ อ.สะเดา จ.สงขลา มาจนถึงเมืองอะลอร์สตาร์ รัฐเคดาห์ นอกจากทุ่งนา
เขียวขจีบ่งบอกความอุดมสมบูรณ์ของเมืองแล้ว ยังพบเห็นป้ายและข้อความ “Daulat Tuanku” หรือ “ทรงพระเจริญ” อยู่เกือบทุกๆ ที่ นี่คือความเหมือน
อย่างหนึ่งที่ค้นพบได้ ความพิเศษคือ ปัจจุบันสุลต่าน “อับดุลฮาลิม” ของรัฐเคดาห์ขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์องค์ที่ 14 ของมาเลเซีย และการครองราชย์
ครั้งนี้ถือเป็นรอบที่ 2 ของพระองค์แล้ว ทั้งนี้ มาเลเซียมีทั้งหมด 13 รัฐ มีสุลต่าน 9 รัฐ อีก 4 รัฐ ไม่มีสุลต่าน และสุลต่านทั้ง 9 รัฐ ต้องหมุนเวียนกันเป็น
กษัตริย์ หรือที่เรียกว่า “อากง” ในภาษามาเลย์ โดยอยู่ในตำแหน่งนาน 5 ปี ส่วนความแตกต่างที่สังเกตและสัมผัสได้ชัดเจน นอกจากภาษามาเลย์ และปลั๊กไฟ
ที่ต่างกันสุดขั้วแล้ว คือเรื่องรสชาติของอาหาร แม้ว่าอาหารหลายๆ อย่างจะหน้าตาคล้ายคลึงกันก็ตาม แต่ก็ไม่จัดจ้านเท่าอาหารไทย
       ขนมและอาหารหลายชนิดคล้ายกันมาก จนอดคิดไม่ได้ว่านี่คือวัฒนธรรมการกินของภูมิประเทศแถบนี้หรือเปล่า และใครได้รับอิทธิพลจากใครกันแน่...
แต่ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าใครเป็นต้นตำรับ อาหารหรือขนมเหล่านั้นก็จะถูกปรับเปลี่ยนจนเข้ากับรสนิยมและต่อมรับรสของผู้คนในแต่ละพื้นที่อยู่ดี
       เมื่อความสนุกของการเดินทาง คือการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงต้องลองชิม ลองดู ลองทำ เข้าทำนองที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม”
       แล้วคุณจะรู้ว่า... มาเลเซียมีเสน่ห์มากกว่าที่คิดจริงๆ
        

        
       สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อสอบถามได้ที่
      
       การท่องเที่ยวมาเลเซีย (สำนักงานกรุงเทพฯ) โทร. 02 636 3380-3
      
       การท่องเที่ยวมาเลเซีย (สำนักงานภูเก็ต) โทร. 076 22 0192-3

      
       หรือเว็บไซต์ www.tourismmalaysia.gov.my

      
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
นำมาจาก
http://www.manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9560000067196


+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=15830
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 08/มิ.ย./13 22:22น. โดย วิทยา »