ผู้เขียน หัวข้อ: “อุ้มผางคี” เดินป่า-ฝ่าแก่ง...โคตรลุย โคตรมัน  (อ่าน 1070 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ วิทยา

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 576
    1107



“อุ้มผางคี” เดินป่า-ฝ่าแก่ง...โคตรลุย โคตรมัน
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)


เที่ยวอุ้มผางหน้าฝน ผจญแก่งอุ้มผางคี

       “ไม่เมาเหล้าแต่เราดันเมารถ”
       
       นี่เป็นอาการของใครและใครหลายๆคนที่มักจะเกิดขึ้นแบบไม่ตั้งตัวในการเดินทางสู่ อ.อุ้มผาง จ.ตาก เพราะใน
เส้นทางสู่อุ้มผางไปตามถนนหมายเลข 1090 แม่สอด-อุ้มผางนั้น เราต้องผ่านโค้งซ้าย-โค้งขวา โค้งแล้ว-โค้งเล่า
โค้งขึ้น-โค้งลง ซึ่งมีใครก็ไม่รู้นับมาให้เสร็จสรรพว่า โค้งทั้งหมดมีจำนวนมากถึง 1,219 โค้งด้วยกัน ตัวเลขโค้ง
ดังกล่าวใครที่เห็นแล้วจะใช้องค์วิชาความรู้แบบไทยๆไปซื้อเบอร์แทงหวยก็สุดแท้แต่ ส่วนผมด้วยความที่พอมีวิทยายุทธ์
อยู่ 2-3 กระบวนท่าและก็เคยมาแอ่วอุ้มผางหลายครั้ง เราจึงไม่ถึงกับเมา(รถ) แต่เพียงแค่มึนๆตามโค้งไปบ้าง ชนิดที่พอ
เข้าสู่ชุมชนอุ้มผางต้องถอนมึนกันพอเป็นกระศัยกับสุราพื้นบ้านรสขมปร่า วูบวาบร้อนท้อง ซึ่งบทสรุปก็คือ
“ไม่เมารถแต่เราดันเมาเหล้า” อ้วก!!!


น้ำตกทีลอซู น้ำตกชื่อดังของเมืองไทย

       เที่ยวป่าหน้าฝน เที่ยวยลอุ้มผางคี
       
       พูดถึงอุ้มผางดินแดน“แผ่นดินดอยลอยฟ้า”แล้ว ภาพของแหล่งท่องเที่ยวที่ลอยเด่นหรามาก็คือ“น้ำตกทีลอซู”
น้ำตกที่ได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่สวยงามที่สุดในเมืองไทย และสวยติด 1 ใน 6 ของโลก นอกจากนี้ก็ยังมีน้ำตกเด่นๆอื่นๆ อย่าง
ทีลอจ่อ ทีลอเร ปิตุโกร แต่ฤดูกาลที่เหมาะสมต่อการเที่ยวน้ำตกในอุ้มผางนั้น อยู่ในช่วงปลายฝนต้นหนาวยาวไปจนถึง
กลางหนาวราวเดือนมกราคมที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของอุ้มผาง ที่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยวที่เดินทางฝ่าพันกว่าโค้งขึ้นมา
แอ่วยังดินแดนแผ่นดินดอยลอยฟ้าแห่งนี้ ส่วนในหน้าฝนที่เป็นโลว์ซีซั่นหรือกรีนซีซั่น อุ้มผางค่อนข้างเงียบเหงา
แต่หากใครเคยไปอุ้มผางในช่วงนี้จะพบว่าที่นี่มีเสน่ห์ไม่น้อย ทั้งความเขียวสดของต้นไม้ สายน้ำ ขุนเขา ป่าไพร ไร่นา
ความชุ่มชื่นของพื้นดินแผ่นฟ้ายามฝนพรำ รวมไปถึงภาพความงามอันชวนประทับใจของสายหมอก(ฝน) ที่ลอยปกคลุม
ไต่เรี่ยไล่ตามยอดเขายอดดอย หรือบางครั้งก็ลงหนาจนห่มคลุมร่างกายให้เราได้ไล่คว้าหมอกหยอกเอินความชุ่มฉ่ำกัน
อย่างเพลิดเพลิน


เสน่ห์กรีนซีซั่นเมืองอุ้มผาง

       และด้วยเสน่ห์ข้างต้นทำให้ทาง ททท.สำนักงานตากได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวอุ้มผางในช่วงฤดูฝนขึ้น
ภายใต้ชื่อโครงการ “เที่ยวป่าหน้าฝน เที่ยวยลอุ้มผางคี” ซึ่งอุ้มผางคีนั้นจะเป็นฉันใด จะใช่กุญแจอุ้มผางหรือไม่ เดี๋ยวคงได้รู้กัน
       
       อุ่นเครื่องมรดกโลกทุ่งใหญ่นเรศวร
       
       การมาอุ้มผางของคราวนี้ นอกจากจะมาเที่ยวและกะมาลุยแล้ว ผมกับเพื่อนๆชาวคณะยังร่วมกันไปทำโป่งสัตว์
(โป่งเทียม) ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร(ด้านตะวันออก) ที่เป็นส่วนหนึ่งของมรดกโลกป่าทุ่งใหญ่
นเรศวร-ห้วยขาแข้ง


ร่วมกันทำโป่งเทียม

       โดยในเช้าวันที่สองของทริป เรานั่งรถกันก้นบานผ่านเส้นทางสมบุกสมบันจากอุ้มผางไปยังป่าทุ่งใหญ่
เพื่อร่วมกันโรยเกลือทำโป่ง(เทียม) ณ บริเวณโป่งช้างที่เป็นโป่งเก่า ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์ฯ
จะมาปรับเสริมทำเป็นโป่งเทียมเพื่อเป็นแหล่งอาหารสำคัญของสัตว์ในละแวกนี้ สำหรับการทำโป่งเทียม
ก็ไม่มีอะไรมาก แค่พวกเราไปโรยไปหว่านเกลือแล้วคลุกเคล้ากับดิน เพื่อเติมแร่ธาตุให้กับดินก็เป็นอันเสร็จพิธี
แต่งานนี้มันยากตรงที่มีฝนตกพรำ การทำโป่งจึงเต็มไปด้วยความเปียก เปรอะ เปื้อน ผสมกับความภูมิใจที่ได้
ทำตัวให้เป็นประโยชน์ ไม่ทำตัวเป็นคนรกโลกเหมือนนักการเมืองหลายๆคนในบ้านเรา


ทิวทัศน์ป่าทุ่งหญ้าแหล่งอาหารชั้นสัตว์ดีในทุ่งใหญ่นเรศวร ตอ.

       แม้บริเวณที่ทำโป่งจะเป็นชายขอบของป่าทุ่งใหญ่ แต่ผมก็ได้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นป่าที่นี่
ผ่านต้นไม้น้อยใหญ่ ขุนเขา ทุ่งหญ้า และรอยตีนสัตว์ ขี้สัตว์ รวมไปถึงกับเจ้าเก้งของตัวในบริเวณที่ทำการฯ
ซึ่งมันออกจากป่ามาหากินที่นี้จนคุ้นชิน เดินนวยนาดไป-มาแบบไม่กลัวคน เป็นเก้งป่าแสนเชื่องที่สร้างสีสัน
ให้ผู้พบเห็นได้เป็นอย่างดี หลังเสร็จสรรพจากการทำโป่ง ขากลับเราไปแวะบ้านปะหละทะ เพื่อชมน้ำตกปะหละทะ
ในเขตวนอุทยาน้ำตกปะหละทะ ซึ่งจากจุดจอดรถเดินเท้าเข้าไปไม่ไกล ระหว่างทาง 2 ข้างทางมีต้นกระเจียวสีส้ม
ออกดอกสวยงามให้ชมกันประปรายเป็นจุดๆ แต่มีความเป็นธรรมชาติดี นอกจากนี้ในเส้นทางเดินยังมีทิวทัศน์
สวยๆงามๆของไร่ข้าวโพด ทุ่งนา ขุนเขาให้ทัศนากัน เพียงแต่ว่าเจ้าหน้าที่บ้านเมืองต้องช่วยกันควบคุมดูแล
ให้ปลูกพืชทำไร่นาในพื้นที่ทำกิน อย่าให้คนเห็นแก่ตัวบางคนแอบบุกรุกป่าขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้น
เพราะป่าไม้บ้านเรายิ่งมายิ่งเหลือน้อยเต็มที


กระเจียวป่าสีส้มออกดอกประปรายระหว่างทางไปน้ำตกปะหละทะ

       ผมเดินชมวิวไปเพลินๆ ไม่กี่อึดใจก็มาถึงทางลงน้ำตกที่ช่วงหน้าฝนอย่างนี้ลื่นพอตัว ทำให้ตอนเดินต้อง
เกร็งลมปราณกันพอสมควรก่อนจะไปถึงยังตัวน้ำตกปะหละทะ ที่เป็นน้ำตกเตี้ยๆ สายน้ำไหลแผ่สยายไปทางกว้าง
ในหน้าฝนอย่างนี้น้ำตกมีสายน้ำมาก ไหลถั่งโถมเป็นสายรุนแรง ดูมีพลังไม่น้อย อ้อ!!! ที่ข้างๆน้ำตกปะหละทะเขา
มีป้ายห้ามกระทำการบางอย่าง เมื่อเห็นแล้วชวนสะดุดตาดีแท้ กับข้อความ ..ห้ามกระโดดบริเวณน้ำตกอย่างเด็ดขาด
ห้ามจับปลาโดยเด็ดขาดไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ ถ้าใครจับขอให้มีอันเป็นไป และปรับ 2,000 บาท ต่อปลา 1 ตัว...
งานนี้ไม่ใช่ทั้งจำทั้งปรับ หากแต่เป็น“ทั้งแช่งทั้งปรับ”กันเลยทีเดียว


น้ำตกปะหละทะ

       เดินป่า ฝ่าอุปสรรค
       
       ในเช้าวันใหม่พวกเราตื่นกันแต่เช้า เพื่อนๆหลายคนรวมทั้งผม ต่างอัดข้าวต้มกันเต็มที่ เพราะที่เราจะต้อง
ออกเดินป่า ฝ่าดง ผจญสายน้ำเชี่ยวไปกับการล่องแก่ง“อุ้มผางคี” ที่ตลอดทั้งทริป(ทั้งวัน)ได้ชื่อว่าโหดหิน
ลุยเอาเรื่อง จากที่พัก“ตูกะสู คอทเทจ” ผู้ร่วมจัดโปรแกรมเที่ยวลุยๆในทริปนี้ เราออกเดินทางจากตัวอุ้มผาง
ไปประมาณ 14 กม.สู่หมู่บ้านอุ้มผางคี เพื่อออกเดินไปยังจุดตั้งต้นของการล่องแก่งกิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ประจำทริป
คำว่า“คี” เท่าที่สอบถามจากคนในพื้นที่เป็นภาษากะเหรี่ยงหมายถึง “ต้นน้ำ” อุ้มผางคีก็คือต้นน้ำอุ้มผางที่เป็น
ลำน้ำสาขาไหลไปรวมกับแม่น้ำแม่กลอง


หมู่บ้านอุ้มผางคี

       ส่วนหมู่บ้านอุ้มผางคี เป็นหมู่บ้านกะเหรี่ยง ที่ยังคงมีภาพของวิถีชาวบ้านดั้งเดิมให้เห็น แต่ไม่มากเหมือน
เมื่อก่อน เพราะเดี๋ยวนี้กะเหรี่ยงเขาพัฒนาแล้ว หลายคนมีมือถือรุ่นล้ำกว่าของผมเสียอีก จากหมู่บ้านอุ้มผางคี
ผมกับเพื่อนๆไปรับของแจก ซึ่งไม่ใช่เป็นข้าวเน่า ปลากระป๋องเน่า หรือถุงยังชีพราคาเกินจริง หากแต่เป็นเสื้อ
ชูชีพกับหมวกล่องแก่ง(หมวกกันกระแทก)ที่เห็นแล้วชวนฉงน เอ...ทำไมเดินป่าต้องใส่ชูชีพ หรือว่าทางสตาฟฟ์
เขาขี้เกียจแบกขนไปเลยผลักภาระมาให้เรา เรื่องนี้ผมมีข้อกังขาตะหงิดๆในใจ ในระหว่างที่ดินออกจากหมู่บ้าน
แล้วค่อยๆไต่ระดับขึ้นเขาผ่านไร่ข้าวโพด ที่เห็นแล้วอดนึกถึงหนังเรื่อง“คืนบาปพรหมพิราม” ที่มีฉากวิ่งกันใน
ไร่ข้าวโพดไม่ได้ แต่กระนั้นวิวในมุมสูงและมุมเงยของไร่ที่เดินผ่านนี้ก็จัดว่าเยี่ยมทีเดียว


ผ่านไร่ข้าวโพด

       สำหรับเส้นทางเดินจากหมู่บ้านไปยังจุดตั้งต้นล่องแก่ง ไม่เคยมีใครวัดระยะทางเป็นกิโลเมตรที่แน่นอน
มีแต่คำนวณระยะกิโลแม้วจากการเดินเท้าว่าอยู่ในราวๆ 3 ชั่วโมง ระหว่างทางนอกจากจะผ่านไร่ข้าวโพดแล้ว
ยังมีป่าโปร่ง ป่าเกือบทึบมีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น เส้นทางช่วงนี้แม้เดินขึ้นไปจนสุดแล้วดิ่งลงไปบนเส้นทางที่ลื่นชัน
ผมล้วนต่างบ่ยั่น แต่ในเส้นทางราบนี่กับงานงอกเฉยเลย เพราะมันมีช่วงที่ต้องเดินลุยข้ามลำน้ำ
ข้ามไป-ข้ามมาอยู่ 7-8 ครั้ง


ลุยระทึกข้ามสายน้ำ

       สายน้ำที่นี่อย่าใช้สายตาวัด เพราะเมื่อมองจากด้านบนผิวนำ เห็นไหลเรื่อยๆเอื่อยๆ แต่ประทานโทษ
เมื่อเดินลุยข้ามไป สายน้ำมันแรงไม่ใช่เล่น แถมการข้ามน้ำบางช่วง น้ำสูงถึงอก ถึงไหล่ต้องให้สตาฟฟ์ชาว
กะเหรี่ยงขึงเชือกยึดให้ค่อยลำเลียงตัวผ่านไป ซึ่งนี่ก็คือเหตุผลของการที่ทำไมพวกเราต้องเดินป่าใส่ชูชีพ
แม้เส้นทางข้ามน้ำจะโหดหิน แต่ว่าก็สนุกเร้าใจไม่น้อย แถมระหว่างทางในช่วงเดินดินปกติยังมีสิ่งน่าสนใจ
ให้ชมกันเพียบ ไม่ว่าจะเป็น ดอกไม้ กล้วยไม้ เห็ด แมลง แมงมุม มอส เฟิร์น รวมไปถึงต้นไม้สวมเสื้อที่ปกคลุม
ไปด้วยมอส ฝอยลม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความชุ่มชื้นสมบูรณ์ของป่า


กล้วยไม้งามระหว่างทาง

       ผจญแก่งอุมผางคีสุดมัน
       
       หลังเดินป่าฝ่าสายน้ำกันมาร่วม 3 ชม. ผมก็มาถึงยังจุดแวะพักกินข้าวเที่ยงที่เป็นจุดตั้งต้นล่องแก่งด้วย
ครั้นเมื่อเติมพลังจนข้าวและกับหมดเกลี้ยง ที่นี้ก็ได้เวลาลุยระทึกกันแล้ว เส้นทางผจญแก่งอุ้มผางคี
ใครก็ไม่รู้มานับไว้(เหมือนโค้งขึ้นอุ้มผาง)ว่ามีทั้งหมด 77 แก่ง เปิดประเดิมกันด้วย“แก่งหลง” แก่งใหญ่ ยาก
ที่สายน้ำแรงเชี่ยว ราวระดับ 4


เร้าใจไปกับแก่งอุ้มผางคี

       จากนั้นเส้นทางก็พาผ่านแก่งมากมายในระดับ 1 ถึง 3+ ทั้งแก่งเล็กแก่งใหญ่ บางช่วงเรือแล่นฝ่าแก่ง
โค้งไปคดมาอย่างน่าตื่นเต้น บางช่วงเราต้องก้มหมอบเพราะเรือพุ่งลอดกิ่งไม้ ขณะที่บางช่วงเรือติดแหงก
ต้องลงทุนลงแรงขย่มเข็นกัน ส่วนบางช่วงแม้เรือ(บางลำ)จะแล่นฝ่าแก่งแค่เพียงในระดับ 1 แต่สมาชิกบน
เรือนี่เล่นร้องกรี๊ดกันลั่นดังไปถึงในระดับ 5++ โน่น สำหรับเสน่ห์ของการล่องแก่งอุ้มผางคีก็คือความต่อเนื่อง
ของแก่ง ในเส้นทางล่องเรือมีแก่งให้ลุ้นให้เสียวกันตลอด ขณะที่สายน้ำนั้นก็เป็นสายน้ำใสไหลเย็น นอกจากนี้
วิวสองข้างทางยังมีเสน่ห์ไปด้วยธรรมชาติอันพิสุทธิ์น่ายล


ฝ่าแก่งสายน้ำเชี่ยว

       พวกเราใช้เวลาล่องแก่งประมาณ 3 ชั่วโมงก็มาถึงจุดสิ้นสุดที่หมู่บ้างอุ้มผางคีจุดตั้งต้น งานนี้แม้จะลุย
จะโหด จะเหนื่อย จะเปียกชุ่มโชก แต่ผมกับรู้สึกสนุกเร้าใจเป็นอย่างยิ่ง นับเป็นความเร้าใจภายใต้สภาพแวดล้อม
ของธรรมชาติอันพิสุทธิ์ที่ไม่อาจสัมผัสได้ในป่าคอนกรีต เพราะในยุคที่ป่าไม้บ้านเราถูกทำลายลงทุกวัน การมีป่าให้
เที่ยวยังไงๆย่อมดีกว่าการสูญสิ้นป่าเป็นไหนๆ


ลีลาการผจญแก่ง


ดีใจเมื่อฝ่าแก่งได้
       
       *****************************************

       เนื่องจากกิจกรรมล่องแก่งอุ้มผางคี มีการเดินป่า ฝ่าแก่ง จึงไม่เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่มีสุขภาพไม่แข็งแรง
โดยฤดูกาลล่องแก่งที่เหมาะสมจะอยู่ในช่วง เดือน ก.ค.- ต.ค. ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยว
แห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานตาก โทร. 0-5551-4341-3


>>>>>>>>>>>>>>>>
นำมาจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000110521


+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=19238