***เมื่อของดำทำให้ดูดี***
สมาคมนักกำหนดอาหารของสหรัฐอเมริกามักจะมีคำแนะนำด้านโภชนาการที่น่าสนใจออกมาเสมอ หนึ่งในคำแนะนำที่น่าสนใจ และหมอมักจะหยิบยกตัวอย่างมาเล่าให้ฟังเวลาไปบรรยายตามที่ต่างๆคือ “พยายามกินอาหารสีรุ้ง” ขยายความได้ว่า เราควรรับประทานอาหารให้หลากหลาย โดยเฉพาะผักผลไม้ ควรรับประทานให้หลากสี เพราะแต่ละสี ก็มีดีกันไปคนละด้าน เพราะสีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในผักผลไม้นั้น เป็นผลจากสารต้านอนุมูลอิสระ สีที่ต่างกันเกิดจากสารต้านอนุมูลอิสระคนละตัวกัน
หากเปรียบกระบวนการต้านอนุมูลอิสระในร่างกายเราเป็นทีมฟุตบอล สารต้านอนุมูลอิสระแต่ละตัว ก็เปรียบได้กับนักบอลที่ถนัดเล่นคนละตำแหน่งกัน บ้างถนัดเป็นกองหน้า บ้างถนัดเป็นกองหลัง หากเราสะสมได้ครบทีม ก็ย่อมได้เปรียบคู่ต่อสู้
ผักผลไม้สีเด่นๆอย่าง สีแดงในมะเขือเทศ สตรอเบอรี่ สีเหลืองส้มในแครอท ฟักทอง หรือสีเขียวในผักใบเขียวต่างๆนั้น เป็นผักผลไม้ที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยและรับประทานกันเป็นประจำอยู่แล้ว แต่มีผักผลไม้อีกสีหนึ่งที่มีทีเด็ดไม่แพ้สีอื่นเลยทีเดียว แต่อาจยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันเท่าไรนัก นั่นก็คือ สีดำ!
อาหารในกลุ่มสีน้ำเงินม่วงดำที่น่าสนใจมากๆมีอยู่ 6 อย่างด้วยกัน ถ้าเปรียบไปก็เหมือนสาวผิวคล้ำหกนางที่มีเสน่ห์น่าสนใจไปคนละอย่าง มีทั้งคล้ำออกน้ำเงิน คล้ำแบบม่วงๆ และคล้ำดำขลับ เรามาไล่ทำความรู้จักกับของดำที่จะทำให้สวยขึ้นได้ทั้งหกกันค่ะ
ข้าวกล้องสีนิล ข้าวกล้องพันธุ์ต่างๆที่มีสีน้ำเงินดำ ไม่ว่าจะเป็นข้าวกล้องสีนิล ข้าวกล้องหอมนิล หรือข้าวกล้องไรซ์เบอรี่ จะมีเส้นใยอาหารสูง มีค่าไกลซีมิกอินเด็กซ์ หรือค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เมื่อรับประทานไปจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลในกระแสเลือดช้ากว่ารับประทานข้าวขัดขาว จึงส่งผลให้อ้วนน้อยกว่า (เข้าตำราผอมได้ไม่ต้องอด) และที่โดดเด่นคือ สีน้ำเงินดำของข้าวในกลุ่มนี้มาจากสารต้านอนุมูลอิสระแอนโธไซยานินส์ (Anthocyanins) ซึ่งมีการศึกษากันมากถึงคุณสมบัติการต้านมะเร็ง และลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ดอกอัญชัญ ทางการแพทย์แผนโบราณ มีการนำดอกอัญชัญมาทำเป็นเครื่องดื่มสมุนไพร ดื่มเพื่อบำรุงสุขภาพมาเป็นเวลานานแล้ว งานวิจัยยุคใหม่พบว่า ดอกอัญชัญมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระได้ดี เนื่องจากมีสารแอนโธไซยานินส์ และยังมีคุณสมบัติคลายความกังวล คลายเครียด อีกด้วย เครียดจากงานครั้งหน้า ลองหันมาดื่มน้ำอัญชัญแก้กลุ้มกันดูนะคะ
ข้าวโพดสีม่วง เพิ่งได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีในบ้านเรา แต่เป็นพืชเก่าแก่ของชาวเปรู นิยมปลูกรับประทานเป็นข้าวโพด นำมาทำสีผสมอาหาร รวมไปถึงนำมาหมักทำเป็นไวน์ข้าวโพด สีม่วงมาจากสารต้านอนุมูลอิสระในกลุ่มแอนโธไซยานินส์เช่นกัน โดยมีสารตัวเด่นคือ Cyanidin-3-o-glycoside หรือเรียกง่ายๆว่า C3G ซึ่งถูกนำมาศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระกับวิตามินอี พบว่า C3G มีความสามารถเหนือกว่าวิตามินอีถึง 3.5 เท่า
ถั่วดำ สำหรับคนไทยเรา ถั่วดำอาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคย นำมาทำอาหารรับประทานถูกปากเท่าถั่วเหลืองหรือถั่วแดง แต่เคยมีการศึกษาเปรียบเทียบความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระแบบรุ่นต่อรุ่น พบว่า ในบรรดาถั่วหลากสีทั้งหมด ถั่วดำมีความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงที่สุด นอกจากสารต้านอนุมูลอิสระแล้ว ถั่วดำยังเป็นแหล่งของโปรตีน เส้นใยอาหาร และแร่ธาตุต่างๆที่ดีมาก
งาดำ งาเป็นหนึ่งในธัญพืชมหัศจรรย์ มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวซึ่งเป็นไขมันดี ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลตัวที่ไม่ดีคือ LDL-Cholesterol มีโปรตีนและเส้นใยอาหารสูง นอกจากประโยชน์เยอะแล้ว งาดำยังจัดเป็นตัวประกอบชั้นเยี่ยม สามารถเล่นประกอบฉากในอาหารหลากหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็นจานผัดแบบไทยๆ ข้าวโอ๊ตหรือซีเรียลแบบฝรั่ง อาหารญี่ปุ่น หรือเมนูไหนที่ต้องการสีสันเก๋ๆ เพียงแค่โรยงาขาวสลับดำลงไป ก็ช่วยให้อาหารมีกลิ่นอายฟิวชั่นเล็กๆขึ้นมาทันที
สาหร่าย เป็นอาหารคู่บ้านที่หมอแนะนำสำหรับคนอยากผอมได้โดยไม่ต้องอด เพราะสาหร่ายมีคุณสมบัติช่วยชะลอความเร็วในการย่อยอาหารลง ประกอบกับเส้นใยอาหารที่สูง จึงทำให้รู้สึกอิ่มได้นานขึ้น สาหร่ายสีน้ำตาลดำจะมีสารที่ช่วยส่งเสริมความแข็งแรงของลำไส้ และยังเป็นอาหารที่ดีของแบคทีเรียดีในลำไส้ มีการศึกษาในญี่ปุ่นพบว่า คนที่รับประทานสาหร่ายเป็นประจำ มีประชากรแบคทีเรียที่มีประโยชน์ต่อร่างกายสูงกว่าคนที่ไม่ได้รับประทาน ควรเลือกรับประทานเป็นแบบสด หรืออบแห้ง แต่ไม่แนะนำให้รับประทานแบบสำเร็จรูป ทอดกรอบ และปรุงรส เพื่อหลีกเลี่ยงของแถมที่ไม่ต้องการคือไขมันและเกลือโซเดียม
ที่มา : bangkokbiznews.com/by สาระแห่งสุขภาพ