ผู้เขียน หัวข้อ: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว  (อ่าน 2352 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ สหัสวรรษ

  • เซียน
  • ****
  • ออฟไลน์
  • 568
    65


เห็นห้องนี้แลวนึกขึ้นได้ว่าผมเองก็เคยลงบทความให้เว็บอื่น เลยยกมาขายต่อที่นี่ ก็คือว่าเป็นการประดับความรู้รอบตัวละกันนะครับ

ว่าวของจีนมีประว้ติศาสตร์ที่ยาวนาน ผ่านพัฒนาการมาร่วม 2 พันปี ได้รับการยอมรับว่าเป็นวิทยาการเฉพาะอีกรูปแบบหนึ่งมานานแล้ว แล้วเป็นส่วนประกอบสำคัญของอารยธรรมจีนอีกด้วย

ตามบันทึกในหนังสือโบราณ ในปี 400 ก่อน ค.ศ. นักคิดที่มีชื่อเสียงของจีน ม่อจื่อร่วมกับปรมาจารย์ด้านการช่างหลู่ปันใช้ไม้ไผ่ทำเป็น “นกไม้” นกไม้ขนิดนี้สามารถลอยกลางอากาศ 3 วันยังไม่ร่วงลงมา คนทั่วไปเรียกว่า”เหยี่ยวไม้” นี่ก็คือว่าวแรกสุดที่มีในโลก ต่อมา เหยี่ยวไม้เปลี่ยนเป็นใช้ไม้ไผ่กับผ้าไหมเป็นส่วนประกอบ และต่อมาอีกก็เปลี่ยนเป็นใช้กระดาษเป็นส่วนประกอบ เลยเปลี่ยนชื่อเรียกเป็น”เหยี่ยวกระดาษ” เหยี่ยวกระดาษยังมีชื่อเรียกอีกรูปแบบ เช่น เหยี่ยวถลาลม เหยี่ยวเล็กกระดาษ เหยี่ยวเล็กเป็นต้น(หมายเหตุ ปัจจุบันคนฮากกายังคงเรียกว่าเหยี่ยวเล็กอยู่ เข้าใจว่าคนแต้จิ๋ว,กวางตุ้ง,ฮกเกี้ยน,ไหหลำก็ยังคงใช้คำโบราณนี้เหมือนกัน) จนถึงปีค.ศ. 618-907 ปลายราชวงศ์ถัง คนก็เพิ่มแผ่นริ้วหรือหวีดไม้ไผ่ที่ทำให้เกิดเสียงขึ้นในเหยี่ยวกระดาษ เมื่อเจอลมก็จะเกิดเสียงขึ้นจึงเกิดมีคำว่า ขิมลม ซึ่งเป็นคำที่ชาวจีนเรียกว่าวในปัจจุบัน

ว่าวนั้นแรกเริ่มเดิมทีใช้เป็นอุปกรณ์ทางด้านการทหาร อย่างเช่นปล่อยขึ้นไปในอากาศเพื่อวัดระยะห่างระหว่างทัพทั้ง2ฝ่าย หรืออาจจะใช้ในการติดต่อสื่อสารในกองทัพ ในสมัยราชวงศ์ถัง การใชังานค่อยๆปรับเปลี่ยนเป็นทางด้านความรื่นรมณ์ แล้วก็แพร่หลายในหมู่คนทั่วไป จนถึงในศตวรรษที่10 ในรัชสมัยราชวงศ์ซ่ง การแพร่หลายของว่าวยิ่งกว้างไกล และค่อยแพร่หลายไปทุกที่ในโลก แรกๆก้กระจายไปที่เกาหลี ญี่ปุ่น มาเลเซียในทวีปเอเชีย จากนั้นก้ไปถึงยุโรปและอเมริกา ได้มีผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัฒนธรรมพื้นบ้านชาวอังกฤษค้นคว้าสรุปว่า การแพร่กระจายของว่าวจากจีนไปทั่วโลกมีทั้งหมด7ลู่ทาง สามารถพูดได้ว่ามีต้นกำเนิดมายาวนาน เครื่องเล่นประเภทว่าวของจีนในยุโรปกับอเมริกา ได้รับการพัฒนาไปทางด้านเครื่องมือที่ใช้ในการเดินทางทางอากาศ ในที่สุดในอเมริกาโดยพี่น้องตระกูลไรท์ก็สามารถผลิตเป็นเครื่องบินที่สามารถบรรทุกคนได้ ดังนั้น ในห้องโถงพิพิธภัณฑ์ทางอากาศสหรัฐที่วอชิงตัน ได้แขวนไว้ด้วยว่าวจากจีน ข้างๆเขียนไว้ด้วยคำ “อุปกรณ์ในการเดินทางทางอากาศแรกเริ่มของมนุษยชาติก็คือว่าวและพลุจากจีน”

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 19/ก.ค./12 11:26น. โดย สหัสวรรษ »

Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 21/ก.ค./12 14:27น. »

ขอบคุณสำหรับข้อมูลครับ บ้านเราว่าวก็มีมากมายหลายสิบชนิดมากครับ

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804

ออฟไลน์ โชค นรา

  • ผู้ช่วยแอตมิน
  • *******
  • ออฟไลน์
  • 2174
    858
Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: 31/ส.ค./12 13:15น. »

แหล่งกำเนิดว่าวอยู่ที่จีนนี่เอง ผมก็ง ๆ อยู่เหมือนกันว่าว่าวมันมาจากไหน มาถึงตรงนี้แจ้งแล้วครับ ขอบคุณมากมาย ...  :'e:92

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804

ออฟไลน์ สหัสวรรษ

  • เซียน
  • ****
  • ออฟไลน์
  • 568
    65
Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 02/ก.ย./12 14:25น. »

ดีใจครับที่มีคนสนใจบทความ นี่ผมลงไปจนเกือบลืมไปแล้วนะเนี่ย ว่าได้โพสต์ไว้ พอดีวันที่31สิงหาคมที่ผ่านมาเป็นวันขึ้น15ค่ำเดือน7 ตรงกับวันสารทจีน เพิ่งผ่านมาสดๆร้อนๆ หลายท่านอาจจะไม่รู้ประวัตืของเทศกาลนี้ เลยขอเลือกเอาบทความที่เคยโพสต์ที่อื่นมาแล้วมาเผยแพร่ประดับความรู้ต่อด้วยครับ อาจจะยาวหย่อย หวังว่าคงจะไม่เครียดเกินไปนะครับ

สารทจีน : เทศกาลสำคัญที่กำลังลบเลือน

สารท จีน เป็นเทศกาลสำคัญทั้งของลัทธิขงจื๊อ พุทธศาสนา ศาสนาเต๋า และชาวบ้าน ในอดีตเป็นเทศกาลใหญ่มาก แต่ปัจจุบันลดความสำคัญลง นอกจากในวัดพุทธและวัดเต๋าแล้ว แพร่หลายอยู่ในหมู่ชาวบ้านจีนภาคใต้ ตั้งแต่มณฑลหูเป่ย อานฮุย เจ้อเจียง ลงมาจนถึงกวางตุ้ง กวางสี ยูนนาน ในหมู่ชาวจีนแคะ กวางตุ้ง ฮกเกี้ยน แต้จิ๋ว และไหหลำ ยังคงเป็นเทศกาลใหญ่ เป็น ๑ ใน ๘ เทศกาลสำคัญประจำปีของจีนแต้จิ๋ว ในไทยสารทจีนเป็นเทศกาลจีนสำคัญอันดับ ๒ รองจากตรุษจีนเท่านั้น
 
เทศกาล นี้มีชื่อเป็นทางการว่า "จงหยวนเจี๋ย" (中元节) แต้จิ๋วว่า "ตงหง่วงโจ็ย" แต่ชื่อทั่วไปนิยมเรียกว่า  "(เทศกาล) กลางเดือน ๗" นอกจากนี้ยังมีชื่อที่นิยมเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "กุ่ยเจี๋ย ( กุ๋ยโจ็ย)" แปลว่า "เทศกาลผี" ชื่อทั้งสามนี้ถ้าคุยกับคนจีนภาคใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน ทุกคนจะรู้จักดี แต่คนปักกิ่งจะไม่รู้จักเลย เพราะเทศกาลนี้ปัจจุบันชาวบ้านจีนภาคเหนือไม่ได้ทำแล้ว คงเหลือแต่ในวัดพุทธและเต๋าเท่านั้น
 
คำ "จงหยวน " ที่เป็นชื่อเทศกาลนี้เป็นคนละคำกับ "จงหยวน " ซึ่งหมายถึง "ดินแดนลุ่มแม่น้ำฮวงโหตอนกลางและตอนล่างอันเป็นศูนย์กลางอารยธรรมจีน" จงหยวนที่เป็นชื่อเทศกาลได้มาจากชื่อเทพประจำเทศกาลนี้ของศาสนาเต๋า
 
ศาสนาเต๋ามีเทพสำคัญประจำฟ้า ดิน และแม่น้ำ อยู่ ๓ องค์เป็นพี่น้องกัน เรียกรวมกันว่า "ซานกวน ( ซำกัว)" แปลว่า "สามขุนนาง" แต่หมายถึงขุนนางผู้ใหญ่ระดับมหาเสนาหรือเสนาบดีของสวรรค์ จึงขอแปลเอาความว่า "ตรีมหาเสนา" องค์โตประจำท้องฟ้า จึงเรียกว่า "เทียนกวน ( เทียนกัว-นภเสนา)" มีหน้าที่ประทานโชค เป็นเทพแห่ง "ฮก (โชควาสนา)" องค์รองประจำแผ่นดิน (แต่ไม่ใช่พระธรณีหรือเจ้าที่) จึงเรียกว่า "ตี้กวน ( ตี่กัว-ธรณิศเสนา)" มีหน้าที่ประทานอภัยโทษ องค์เล็กประจำท้องน้ำ จึงเรียกว่า "สุ่ยกวน ( จุ๋ยกัว-สินธุเสนา)" มีหน้าที่ขจัดทุกข์ภัย วันเทวสมภพของอธิบดีเทพทั้ง ๓ องค์นี้คือกลางเดือนอ้าย กลางเดือน ๗ และกลางเดือน ๑๐ ตามลำดับ วันกลางเดือนพระจันทร์เต็มดวง ภาษาจีนเรียกว่า "หยวนเย่ (圆月)" แปลว่า "คืนเพ็ญ" สมัยโบราณอักษร圆 กับ 元ใช้แทนกันได้ อักษร 元 ยังมีความหมายว่า "หัวหน้า อธิบดี" อีกด้วย ฉะนั้นจึงเรียกวันกลางเดือนอ้ายอันเป็นวันเทวสมภพของเทพซ่างกวน (นภเสนา) ว่า "ซ่างหยวน เสี่ยงง้วง" แปลว่า "เพ็ญแรก" เพราะเป็นคืนเพ็ญคืนแรกของปี วันกลางเดือน ๗ อันเป็นวันเทวสมภพของเทพตี้กวน (ธรณิศเสนา) เรียกว่า "จงหยวน ( ตงง้วง)" แปลว่า "เพ็ญกลาง" เพราะเป็นวันเพ็ญแรกของกลางปี (ครึ่งปีหลัง) วันกลางเดือน ๑๐ อันเป็นวันเทวสมภพของเทพสุ่ยกวน (สินธุเสนา) เรียกว่า "เซี่ยหยวน ( เหี่ยง้วง)" แปลว่า "เพ็ญล่าง" หรือ "เพ็ญปลาย" เพราะเป็นวันเพ็ญแรกของฤดูหนาว (เดือน ๑๐-๑๒) อันเป็นฤดูท้ายของปี และใช้ชื่อคืนเพ็ญทั้งสามเป็นชื่อเรียกเทพ ๓ องค์นี้อีกชื่อหนึ่งด้วยว่าเทพซ่างหยวน เทพจงหยวน เทพเซี่ยหยวน เรียกรวมกันว่า "ซานหยวนต้าตี้ ( ซำง้วงไต้ตี้)" แปลว่า "ตรีเพ็ญอธิบดี" หรือ "ซานกวนต้าตี้ ( ซำกัวไต้ตี้)" แปลว่า "ตรีมหาเสนาธิบดี"

วันเทศกาลสารทจีนคือวันเทวสมภพของเทพจงหยวน จึงเรียกว่า "จงหยวนเจี๋ย (ตงหง่วงโจ็ย)" แปลว่า เทศกาลเทพจงหยวน ตรงกับวันกลางเดือน ๗ จึงเรียกว่า "ชีเย่ว์ปั้น ( ชิกว็วยะปั่ว) หมายถึงเทศกาลกลางเดือน ๗ แต่เทศกาลนี้มีกิจกรรมเกี่ยวเนื่องตั้งแต่ต้นจนถึงสิ้นเดือน ๗ คือวัน ๑ ค่ำ เป็นวัน "เปิดยมโลก" ให้ผีทั้งหลายออกมารับการเซ่นสังเวย วัน ๑๕ ค่ำ เป็นวันไหว้ใหญ่ทั้งผีบรรพชนและผีไม่มีญาติ วันสิ้นเดือน ๗ (๓๐ ค่ำ หรือแรม ๑๕ ค่ำ) เป็นวัน "ปิดประตูยมโลก" ผีทั้งที่ยังไม่ได้ไปผุดไปเกิดต้องกลับเข้ายมโลก วันต้นเดือน สิ้นเดือน มีพิธีไหว้ด้วย และมีพิธีทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้เปตชนครั้งใหญ่ในช่วงครึ่งหลังของเดือน  ๗ อีกต่างหาก กิจกรรมทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวกับผี คนจีนจึงถือว่าเดือน ๗ เป็น "เดือนผี" และเทศกาลกลางเดือน ๗ คือ "เทศกาลผี" แต่ที่คนไทยเรียกสารทจีนเพราะวันนี้ใกล้กับวันสารทไทย อีกทั้งอยู่ในช่วงต้นฤดูสารทหรือชิวเทียน ( Autumn) ของจีนอีกด้วย
 
เทศกาลจงหยวนมีที่มาจากประเพณีจีนโบราณ คือวันอุลลัมพนบูชาของพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาเต๋ารวมกันอย่างกลมกลืน  วัฒนธรรมประเพณีจีนโบราณเป็นที่มาของลัทธิขงจื๊อและคตินิยมพื้นฐานของคนจีน ตลอดมา ลัทธิขงจื๊อจึงเป็นศาสนาสำคัญที่สุดของจีนไปโดยปริยาย แต่ก็เข้ากันได้กับศาสนาพุทธและศาสนาเต๋าซึ่งเข้ามาแพร่หลายและเกิดขึ้นใน ภายหลัง จนในวิถีชีวิตคนจีนมีอิทธิพลของ ๓ ศาสนานี้อยู่คละเคล้ากันไป
 
ตาม ประเพณีจีนโบราณมีพิธีเซ่นไหว้ฟ้าดินและบรรพบุรุษทั้ง ๔ ฤดู คือ ฤดูวสันต์ (ใบไม้ผลิ) คิมหันต์ (ร้อน) สารท (ใบไม้ร่วง) และเหมันต์ (หนาว) ในคัมภีร์หลี่จี้ ( คัมภีร์วัฒนธรรมประเพณี) ซึ่งบันทึกประเพณีสมัยราชวงศ์โจว (ก่อน พ.ศ. ๕๐๓-พ.ศ. ๓๒๒) บรรพ "เทศกาลประจำเดือน" กล่าวว่า "เดือน ๗ ข้าวสุกเก็บเกี่ยวได้ โอรสสวรรค์ชิมข้าวใหม่ โดยนำไปบูชาที่ปราสาทเทพบิดรก่อน" อีกตอนหนึ่งกล่าวว่า "เดือน ๗ วันลี่ชิว (เริ่มฤดูสารท) โอรสสวรรค์นำสามนตราช สามมหาเสนาบดี มนตรีทั้งเก้า มุขอำมาตย์ราชเสนา ไปทำพิธีรับฤดูสารทที่ชานเมืองด้านตะวันตก...เซ่นสรวงเทพประจำฤดูสารทอัน เป็นเทพแห่งมรณะ" ลี่ชิวเป็นชื่อปักษ์หนึ่งใน ๒๔ อุตุปักษ์ตามระบบปฏิทินจีนเก่า

ปฏิทินจีนเก่ามี ๒ แบบ คือ ปฏิทินจันทรคติมีเดือนละ ๒๙-๓๐ วัน ๑ ปี ๑๒ เดือน ๓๕๔ วัน ปฏิทินสุริยคติปีหนึ่งมี ๔ ฤดู ฤดูละ ๓ เดือน เดือนละ ๒ ปักษ์ ตามลักษณะอากาศจึงเรียกว่าอุตุปักษ์ ปีหนึ่งมี ๒๔ ปักษ์ ๓๖๕ วัน เดือนตามปฏิทินจันทรคติอาจคลาดเคลื่อนกับฤดูได้ ภายหลังจึงใช้ระบบอธิกมาส (เพิ่มเดือน) และอธิกวาร (เพิ่มวัน) ที่คนจีนเรียกว่า "ญุ่น " กำกับ ระบบอธิกมาสของไทยเพิ่มเฉพาะเดือน ๘ แต่ของจีนมีหลักต่างออกไป ไม่ได้เพิ่มเฉพาะเดือน ๘ เช่น ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ ปฏิทินจีนมีเดือน ๗ สองหน เรียกว่า "ญุ่นชี ( หยุ่งฉิก-เพิ่มเดือน ๗) การใช้ระบบอธิกมาส อธิกวารทำให้ฤดูกับเดือนตรงกันทุกปี คือ เดือน ๑-๓ ฤดูใบไม้ผลิ เดือน ๔-๖ ฤดูร้อน เดือน ๗-๙ ฤดูสารท เดือน ๑๐-๑๒ ฤดูหนาว วันลี่ชิวคือวันเริ่มฤดูใบไม้ร่วง จะตรงกับวันที่ ๗ หรือ ๘ สิงหาคม แต่จะตรงกับวันกี่ค่ำเดือน ๗ นั้น แล้วแต่ช่วงคลาดเคลื่อนของจันทรคติ (การนับค่ำ-เดือน) กับสุริยคติ (การนับฤดูและ ๒๔ อุตุปักษ์) ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ นี้ วันลี่ชิวตรงกับวันที่ ๘ สิงหาคม ๑๕ ค่ำ เดือน ๗ ซึ่งเป็นวันเทศกาลจงหยวน หรือวันสารทจีนพอดี
 
ตามความเชื่อจีนโบราณ เดือน ๗ เป็นทั้งเดือนดีและเดือนร้าย เพราะข้าวเริ่มเก็บเกี่ยวได้ นำผลแรกได้ (ข้าวใหม่) ไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษก่อน แต่เทพประจำเดือน ๗ เป็นเทพแห่งความตายจึงต้องเซ่นสรวงต่างหากออกไป ทั้งยังมีความเชื่ออีกว่ามีผีร้ายร่อนเร่เรียกว่า "ลี่ ( )" ไม่มีญาติเซ่นไหว้ พอถึงฤดูสารทซึ่งผู้คนนำผลแรกได้เซ่นไหว้บรรพบุรุษ ผีพวกนี้จะคอยมาแย่งกินของไหว้หรือไม่ก็ทำร้ายผู้คนด้วยความหิวโหย ฉะนั้นพอถึงฤดูสารทจึงต้องเซ่นไหว้ทั้งบรรพชนและผีไม่มีญาติแยกกัน ประเพณีนี้ปฏิบัติกันในหมู่ชนทุกชั้นทั้งกษัตริย์ ขุนนาง ไพร่บ้านพลเมือง ความเชื่อว่าเดือน ๗ เป็นเดือนผีคงมีมาตั้งแต่โบราณ ต่อมาในยุคหลัง "ลี่" เป็นชื่อพญาผีผู้เป็นหัวหน้าของผีร้ายทั้งปวง การเซ่นไหว้เดือน ๗ ในยุคโบราณคงทำในวันลี่ชิวหรือไม่ก็วันกลางเดือน
 
ต่อมาอิทธิพลพุทธ ศาสนาทำให้การเซ่นไหว้เดือน ๗ มีพัฒนาการไปจากเดิม พุทธศาสนาเข้าสู่จีนรัชกาลพระเจ้าฮั่นหมิงตี้ (พ.ศ. ๖๐๑-๖๑๘) ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (พ.ศ. ๕๕๑-๗๖๐) แพร่หลายในยุคสามก๊ก (พ.ศ. ๗๖๓-๘๐๘) และราชวงศ์จิ้น (พ.ศ. ๘๐๘-๙๖๓) รุ่งเรืองในยุคราชวงศ์เหนือ-ใต้ (พ.ศ. ๙๖๓-๑๑๓๒) สมัยราชวงศ์จิ้นมีผู้แปล "อุลลัมพนสูตร (อ่านว่า อุน-ลัม-พะ-นะ-สูด) ของนิกายโยคาจาร เรื่องในพระสูตรนี้มีอิทธิพลต่อเทศกาลไหว้บรรพบุรุษในเดือน ๗ ของจีนมาก

ความตอนหนึ่งในคัมภีร์อุลลัมพนสูตรกล่าวว่า พระโมคคัลลานะเห็นมารดาเกิดเป็นปรทัตตูปชีวีเปรตอดอยากหิวโหย จึงใช้ฤทธิ์นำบาตรข้าวไปส่งให้ เปรตมารดาใช้มือซ้ายประคองบาตร มือขวาเปิบข้าวแต่ยังไม่ทันจะเข้าปากก็กลายเป็นถ่านไปสิ้น พระเถรเจ้าจึงนำความมากราบทูลพระพุทธเจ้า มีพุทธฎีกาตรัสว่า "โยมมารดาของเธอมีบาปหนัก เกินกำลังฤทธิ์และบุญกุศลของเธอเพียงผู้เดียวจะช่วยได้ ต้องใช้บุญฤทธิ์ของสงฆ์จากทั่วทุกสารทิศประมวลกันเป็นมหากุศลจึงจะโปรดมารดา เธอให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวงในอบายได้ ตถาคตจะบอกวิธีให้ ในวัน ๑๕ ค่ำกลางเดือน ๗ อันเป็นวันมหาปวารณาออกพรรษา เพื่อโปรดบิดามารดาทั้ง ๗ ชาติในอดีตและบิดามารดาในชาติปัจจุบันให้พ้นจากทุกข์ภัยทั้งปวง เธอจงจัดภัตตาหารหลากรส ผลไม้นานาชนิด น้ำปานะ ธูปเทียนแลเครื่องไทยทานใส่พานภาชนะเป็นสังฆทานถวายแด่พระสงฆ์จากทุกสารทิศ ด้วยบุญฤทธิ์ที่พระสงฆ์ได้รักษาพรตพรหมจรรย์มาครบถ้วน ๑ พรรษาแลอานิสงฆ์แห่งสังฆทานนี้ บิดามารดาในชาติก่อน ๗ ชาติและบิดามารดาในชาตินี้ตลอดจนวงศาคณาญาติจะพ้นจากอบายภูมิทั้งสาม (นรก เปรต เดรัจฉาน) โดยพลัน หากบิดามารดาในชาตินี้ยังมีชีวิตอยู่ก็จะเกษมสำราญอยู่ถึง ๑๐๐ ปี หากบิดามารดาในชาติก่อนทั้ง ๗ ชาติขึ้นสวรรค์ก็จะเกิดทันทีเป็นโอปปาติกะกำเนิดในสรวงสวรรค์อันเรืองโรจน์"  พระโมคคัลลาน์เถระจึงจัดการทำพุทธบรรหาร มารดาก็พ้นจากอบายภูมิ พระเถรเจ้าจึงทูลว่า "ต่อไปภายหน้าหากลูกหลานผู้มีกตเวทิตาจิตปรารถนาช่วยบิดามารดาให้พ้นจากอบาย แลทุกข์ภัยก็ควรจัดสังฆทานอุลลัมพนบูชาเช่นนี้หรือพระเจ้าข้า" พระศาสดาตรัสตอบว่า "สาธุ"
 
ขอชี้แจงไว้ตรงนี้ว่าช่วงจำพรรษาของพระ สงฆ์ประเทศจีนกับประเทศไทยไม่ตรงกันเ พราะฤดูกาลต่างกัน ภิกษุจีนจำพรรษาช่วงฤดูร้อนซึ่งฝนตกชุก ข้าวกำลังเจริญเติบโต จึงเข้าพรรษากลางเดือน ๔ ต้นฤดูร้อน ออกพรรษากลางเดือน ๗ ต้นฤดูใบไม้ร่วง การจำพรรษาบำเพ็ญสมณกิจอย่างเต็มที่ครบ ๓ เดือน ทั้งได้ทำมหาปวารณาในวันออกพรรษาอย่างสมบูรณ์ ตามคตินิยมของมหายานถือว่าท่านได้บำเพ็ญบุญกุศลไว้เต็มเปี่ยมยิ่งกว่าช่วง อื่นใด หากได้ทำบุญกับท่านในวันมหาปวารณาหรือวันออกพรรษาจะมีอานิสงส์แรงกล้ากว่า วันอื่น อนึ่งพุทธศาสนาถือว่าการทำสังฆทานถวายแด่สงฆ์ส่วนรวมมีอานิสงส์มากกว่าปฏิปุ คลิกทานถวายเจาะจงแด่ภิกษุรูปเดียวหรือหลายรูป แต่ไม่เป็นสังฆทาน ฉะนั้นการทำสังฆทานใหญ่ถวายแด่สงฆ์ในวันออกพรรษาซึ่งท่านทำมหาปวารณาเสร็จมา ใหม่ๆ จึงได้อานิสงส์สูงส่งถึงสามารถโปรดบิดามารดาในอดีตได้ถึง ๗ ชาติ รวมทั้งบิดามารดาในชาติปัจจุบันและวงศาคณาญาติให้พ้นจากอบายและได้ผลานิสงส์ อันดีงามอีกอเนกประการ แต่เน้นที่การช่วยบิดามารดาให้พ้นจากอบายภูมิเป็นสำคัญ
 
ฉะนั้นการ ทำมหาสังฆทานในวันออกพรรษาจึงเรียกว่าอุลลัมพนบูชาหรืออุลลัมพนสังฆทาน "อุลลัมพนะ" เป็นคำสันสกฤตซึ่งปราชญ์ทางพุทธศาสนาของจีนแปลว่า "ช่วยผู้ที่ถูกแขวนห้อยหัวกลับขึ้นมา" โดยอธิบายว่าโทษทัณฑ์ในอบายภูมิทำให้ผู้รับเสวยทุกขเวทนาแสนสาหัสดุจถูกแขวน ห้อยหัวลงมา คำว่า "แขวนห้อยหัว" ซึ่งแปลจากคำว่า "อุลลัมพนะ" นี้ ภาษาจีนว่า "เต้าเสวียน (倒悬)" มีความหมายเชิงอุปมาว่า ทุกข์หรือภัยอันใหญ่ยิ่ง "มหันต (ทุกข์)" "มหันต (ภัย)" ความหมายนี้มีที่มาจากอุลลัมพนสูตร เป็นอิทธิพลภาษาสันสกฤตของพุทธศาสนาต่อภาษาจีนประการหนึ่ง

ศาสนาเต๋าได้เอาคุณธรรมเรื่อง "孝 (กตัญญูต่อพ่อแม่และบรรพชน)" และ "仁 (เมตตากรุณา)" ของลัทธิขงจื๊อเป็นหลัก เอาเรื่องจัดพิธีทางศาสนาเพื่อให้พ่อแม่และบรรพชนพ้นจากบาปและทุกข์ภัยทั้ง ปวงของพุทธศาสนามาประกอบสร้างวันเทศกาลจงหยวนให้ตรงกับวันอุลลัมพนบูชา แต่ให้ความสะดวกกว่าตรงที่ไหว้เทพจงกวนหรือจงหยวนเพียงองค์เดียวก็ทำให้ วิญญาณบรรพชนและผีทั้งปวงพ้นบาปและทุกข์ภัยได้ทั้งหมด เพราะท่านเป็นเทพสูงสุดในการ "อภัยโทษ" อนึ่งตามหลักลัทธิขงจื๊อการเซ่นไหว้บรรพชนในวันเทศกาลต่างๆ ถือเป็นกิจสำคัญของลูกหลานจะงดเว้นมิได้ ประกอบกับสถานะของภิกษุ ภิกษุณีในจีนไม่ได้เป็นที่เคารพมากนัก ศูนย์กลางชุมชนไม่ได้อยู่ที่วัดแต่อยู่ที่ศาลประจำตระกูล ตั้งแต่ราชวงศ์ถังเป็นต้นมา ศาสนาเต๋ารุ่งเรืองแข่งเคียงกับพุทธศาสนา แต่ลัทธิขงจื๊อเป็นแกนกลางของสังคมจีนตลอดมา นานเข้าการอุทิศส่วนกุศลให้บรรพชนและผีอื่นผ่านพระโดยจัดพิธีใหญ่โตอย่างอุ ลลัมพนบูชาก็เสื่อมลง แต่ยังมีอิทธิพลแฝงอยู่ไม่น้อยในกิจกรรมอันเนื่องด้วยสารทจีนเสมอมา
 
ตั้งแต่ ราชวงศ์ถังเป็นต้นมาชื่อ "จงหยวนเจี๋ย (เทศกาลบูชาเทพจงหยวน)" เป็นชื่อทางการของเทศกาลกลางเดือน ๗ หรือสารทจีนตลอดมาจนปัจจุบัน ชาวบ้านจีนนั้นรับกิจกรรมทั้งของพุทธ เต๋า และขงจื๊อมาคัดสรร ผสมผสานจนกลมกลืนกันไป แต่มีจุดมุ่งหมายสำคัญร่วมกันอยู่ที่เซ่นไหว้บรรพชน และอุทิศส่วนกุศลให้ผีไม่มีญาติ ส่วนในวัดพุทธและเต๋าต่างฝ่ายยังรักษากิจกรรมของตนอยู่ไม่ปนกัน
 
ตั้งแต่ ราชวงศ์ซ่ง สังคมเมืองขยายตัว มีตลาดใหญ่ในเมืองต่างๆ เป็นศูนย์กลางการค้า กิจกรรมสังคม และความบันเทิง วันเทศกาลต่างๆ มีเรื่องบันเทิงเข้ามาเกี่ยวข้อง ได้ทั้งบุญกุศลและความสนุกสนาน เทศกาลจงหยวนมีกิจกรรมประกอบเพิ่มขึ้นที่สำคัญคือการลอยโคม มีการละเล่นต่างๆ มหรสพสมโภช สมัยราชวงศ์ซ่งเหนืองิ้วมีรูปแบบชัดเจนขึ้นแม้ยังไม่สมบูรณ์ก็ตาม แต่หลังจากผ่าน "เทศกาลเจ็ดเจ็ด" คือ ๗ ค่ำ เดือน ๗ (วันแห่งความรักของหนุ่มสาวจีน) แล้วจะมีงิ้วเล่นเรื่อง "พระโมคคัลลาน์โปรดมารดาในนรก" ฉลองเทศกาลจงหยวนไปจนถึงวันกลางเดือน งิ้วเรื่องนี้แต่งตามเค้าเรื่องในอุลลัมพนสูตร เป็นงิ้วที่ "มีเนื้อเรื่องสมบูรณ์เรื่องแรก" ในประวัติการละครจีน เนื้อเรื่องมีรายละเอียดเพิ่มเติมจากพระสูตรว่า พระโมคคัลลาน์เดิมชื่อฟู่หลอปู่ (โป่วหล่อปก) บิดาชื่อฟู่เซี่ยง (โป่วเสี่ยง) มารดาชื่อหลิวชิงถี (เหล่าแชที้) ฟู่เซี่ยงและฟู่หลอปู่มีศรัทธาในศาสนา เคารพนักบวช โดยเฉพาะอย่างยิ่งภิกษุ ภิกษุณี แต่นางหลิวชิงถีเป็นคนบาปหยาบช้า เกลียดชังนักบวชมาก เมื่อบิดาล่วงลับ ฟู่หลอปู่ต้องค้าขายแทน ครั้งหนึ่งก่อนออกไปค้าขายต่างเมืองได้ขอร้องมารดาให้มีศรัทธาเคารพภิกษุ ภิกษุณี นางรับปากแต่กลับร้ายต่อนักบวชทั้งหลายเหมือนเดิม พอบุตรชายกลับมาถามว่าได้ทำตามที่รับปากไว้หรือเปล่า นางสาบานว่าถ้าไม่ได้ทำขอให้ตกอเวจีนรก พญายมจึงส่งยมทูตมาเอาตัวนางลงนรกทันที ฟู่หลอปู่ออกบวชมีนามว่าโมคคัลลาน์ สำเร็จอรหันต์เป็นเลิศในทางมีฤทธิ์ รู้ว่ามารดาอยู่ในนรกจึงตามลงไป พอได้พบกันก็ส่งอาหารให้ นางรับไปยังไม่ทันได้กินก็ถูกเหล่าเปรตแย่งไปสิ้น แล้ววิญญาณก็ถูกส่งไปเกิดเป็นหมาในบ้านขุนนางแซ่เจิ้ง (แต้) พระเถรเจ้าจึงตามไปซื้อเอามาเลี้ยงดูจนตาย ก็กลับไปเกิดในนรกอีก ต่อมาท่านจัด "อุลลัมพนสังฆทาน" ตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ มารดาจึงพ้นจากนรกและได้รับสถาปนาจากเง็กเซียงฮ่องเต้เทวบดีให้เป็น "เชวี่ยนซ่านฟูเหญิน (คึ่งเสียงฮูหยิน)-ชักชวนให้คนทำกุศล" ในเนื้อเรื่องมีรายละเอียดสนุกสนานชวนติดตาม แง่งามทางศิลปะและข้อคิดสอนใจอีกมาก เป็นอันว่าถึงสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ (พ.ศ. ๑๕๐๓-๑๖๖๙) เทศกาลจงหงวนเป็นงานนักขัตฤกษ์สนุกสนานงานหนึ่ง

พอถึงราชวงศ์ซ่งใต้ (พ.ศ. ๑๖๖๙-๑๘๒๒) จีนกลัวศึกมองโกลจึงจัดงานนี้ในวัน ๑๔ ค่ำ เดือน ๗ ปัจจุบันในมณฑลกวางสียังคงไหว้สารทจีนในวัน ๑๔ ค่ำอยู่
 
ถึง สมัยราชวงศ์หมิง (พ.ศ. ๑๙๑๑-๒๑๘๗) และต้นราชวงศ์ชิง (พ.ศ. ๒๑๘๗-๒๔๕๔) เทศกาลจงหยวนยิ่งคึกคักสนุกสนาน มีมหรสพและการละเล่นนานาชนิดเฉลิมฉลอง เช่น เพลงพื้นเมือง เชิดสิงโต งิ้ว ประกวดโคม ลอยโคม แห่เจ้า แห่ขบวนผี กายกรรม ฯลฯ ถึงปลายราชวงศ์ชิงเทศกาลนี้ก็ยังคึกคักแพร่หลายทั่วประเทศ เช่นที่ปักกิ่ง วัด ๘๔๐ กว่าแห่งจัดงานอุลลัมพนบูชาใหญ่เล็กต่างกันไปตามกำลัง ถึงยุคนี้การไหว้บรรพบุรุษเป็นกิจกรรมสำคัญที่สุดเช่นเดียวกับวันเช็งเม้ง (ชิงหมิง) มีทั้งไหว้ที่บ้านหรือศาลประจำตระกูลและออกไปไหว้ที่สุสาน (ฮวงซุ้ย) แต่จุดมุ่งหมายต่างกัน ไหว้เช็งเม้งเป็นการแสดงความกตัญญูรำลึกถึงบรรพชน ไหว้สารทจีนเพื่อให้ท่านพ้นอบายภูมิและสรรพทุกข์ภัย ทั้งยังมีใจเกื้อกูลไหว้ผีไม่มีญาติอีกด้วย การไหว้ผีไม่มีญาติมีทั้งไหว้ที่บ้าน และจัดงานทิ้งกระจาดอุทิศส่วนกุศลให้
 
ตั้งแต่ จีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ เป็นต้นมา ภัยสงครามและความเปลี่ยนแปลงทางสังคมทำให้เทศกาลนี้เสื่อมลงอย่างรวดเร็วใน จีนภาคเหนือ คงเหลืออยู่แต่ทางภาคใต้ แต่ในยุครุ่งเรืองเทศกาลนี้ได้แพร่ไปยังชนชาติส่วนน้อยในจีนหลายเผ่า เช่น จ้วง หลี เซอ แม้ว ต่างชาติที่รับอารยธรรมจีนคือญี่ปุ่น เกาหลี เวียดนาม ยังคงมีเทศกาลนี้อยู่ โดยเฉพาะในญี่ปุ่นเป็นเทศกาลใหญ่เทศกาลหนึ่ง
 
เทศกาล สารทจีนที่เต็มรูปแบบ มีกิจกรรมสำคัญและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องหลายประการ คือ ไหว้เทพจงหยวน ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ผีไม่มีญาติ ลอยโคม ไหว้เทพารักษ์ประจำเมือง (เจ้าพ่อหลักเมือง) ทิ้งกระจาด ในอดีตบางแห่งมีการไหว้เทพแห่งนาด้วย ในวัดพุทธจัดงานอุลลัมพนสังฆทาน วัดเต๋าไหว้เทพจงหยวนและจัดพิธีกรรมทางศาสนาของตน

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804

Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: 08/ก.ย./12 11:21น. »

 ขอบคุณ คุณสหัสวรรษ ที่นำเรื่องดีๆ มีสาระมาฝาก นอกจากความบันเทิงแล้ว ที่นี่ เพลงพักใจ ยังมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ขอบคุณไปยังผู้ร่วมก่อตั้ง ทุกท่านด้วย ผมเข้ามาใหม่เพิ่งอ่านเจอ แต่ยังไม่ช้าไปใช่ไหมครับ

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804

ออฟไลน์ หนุ่มชาววัง2012

  • เทพ
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 952
    164
  • เพศ: ชาย
    • อีเมล์
Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: 19/ก.ย./12 10:55น. »

นึกถึงว่าวที่เบนจามิน แฟลงคลินค้นพบกระแสไฟฟ้า สุดยอดครับ ว่าว มีประโยขน์หลายอย่างครับ

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804
พยายามเป็นพรไม่เป็นพิษกับผู้ใด

Re: การกำเนิดและพัฒนาการของว่าว
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: 20/ก.ย./12 19:35น. »

พุดถึงว่าว บางคนบอกว่า ...นึกถึงสนามหลวง...

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=8804