เพลงพักใจดอทเน็ต

ห้องฟังเพลง => ฟังเพลงพื้นบ้าน => ข้อความที่เริ่มโดย: โชค นรา ที่ 27/มิ.ย./11 14:19น.

หัวข้อ: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: โชค นรา ที่ 27/มิ.ย./11 14:19น.
  ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง
(http://www.panyathai.or.th/wiki/images/Kanang_5.jpg)
http://www.swfcabin.com/swf-files/1309156953.swf

เพลงบรรเลงก่อนออกฤาษี


นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรป และเอเชีย โดยอ้างว่า มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง(หรือการละเล่นที่คล้ายกัน)เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า ฉายานาฏกะ เรื่องมหากาพย์รามายณะ เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. 411 - 495) เมื่อพระนางวายชนม์

         ในสมัยต่อมา การแสดงหนังได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และประเทศไทย คาดกันว่า หนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และประเทศแถบนี้คงจะได้แบบมาจากอินเดีย เพราะยังมีอิทธิพลของพราหมณ์หลงเหลืออยู่มาก เรายังเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย

         เชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง(หนังใหญ่)อันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า..

         ไหว้เทพยดาอา- รักษ์ทั่วทิศาดร

         ขอสวัสดิขอพร ลุแก่ใจดั่งใจหวัง

         ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง

         จงเรืองจำรัสทั้ง ทิศาภาคทุกพาย

         จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย

         ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี

         หนังใหญ่ แต่เดิมเรียกว่า "หนัง" นิยมเล่นกันแพร่หลายในแถบภาคกลาง ส่วนหนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้นๆว่า "หนัง" เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยว่า "ไปแลหนังโนรา" จึงสันนิษฐานว่า คำว่า "หนังตะลุง" คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ "หนังตะลุง" และ "หนังใหญ่" ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียก "หนังพัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง"

         เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรกๆคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ หลักฐานที่บอกว่าหนังตะลุงคงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ คือ แม้หนังตะลุงจะไม่ได้ใช้ พิณพาทย์ ตะโพน แต่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร(บทบูชาพระอิศวร) ก็ยังมีบทที่ว่า..

         อดุลโหชันชโนทั้งผอง พิณพาทย์ ตะโพน กลอง

         ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู

         ต่อมา หนังภาคใต้หรือหนังตะลุง รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการใน "รูปหนัง" ขึ้นมา รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น

         หนังตะลุงเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด นักวิชาการสันนิษฐานว่าคงเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกลอนหนังตะลุงนิยมแต่งเป็นกลอนแปด ซึ่งในสมัยอยุธยากลอนแปดไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้านรุ่นเก่าแก่ล้วนแต่งเป็นกาพย์ทั้งสิ้น กลอนแปดเพิ่งมาเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็เมื่อหลังสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้วนี่เอง

         หนังตะลุงเกิดขึ้นในภาคใต้ครั้งแรกที่จังหวัดใด ก็ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด


ที่มา "คลังปัญญาไทย"
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ประสิทธิ์ ที่ 28/มิ.ย./11 07:38น.
ขอบคุณครับพี่โชค สำหรับสาระดีๆเกี่ยวกับหนังตลุง ผมถือโอกาสแต่งรูปแบบให้นิดหน่อย ดูสวยขึ้นไหมครับพี่  :'e:43 :'e:43 :'e:43
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: โชค นรา ที่ 28/มิ.ย./11 22:42น.
ขอบคุณครับพี่โชค สำหรับสาระดีๆเกี่ยวกับหนังตลุง ผมถือโอกาสแต่งรูปแบบให้นิดหน่อย ดูสวยขึ้นไหมครับพี่  :'e:43 :'e:43 :'e:43

ดีมากเรยครับ ขอบคุณมากมาย
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: chomm ที่ 30/มิ.ย./11 09:34น.
สุดยอดเลยค่ะคุณโชค  แต่ยังไม่มีโอกาสไปดูของจริงเลยค่ะ
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: ชบาบาน ที่ 29/ก.ค./11 07:46น.
ดีจังขอรับท่านโชค  หาข้อมูลเรื่องหนังตลุงมาได้ลึกดีจัง ขอบคุณมากๆขอรับกระผม
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: สมพร เกาะยอ ที่ 31/ก.ค./11 07:04น.
        ท่านลุงโชค นรา เสียงที่ท่านนำมาเปิดให้ฟัง ท่านได้แต่ใดมา  ฟังแล้วเศร้าสร้อยดีจัง   น่าจะเป็นตอนฤาษี ออก ใช่ไหม

หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: โชค นรา ที่ 31/ก.ค./11 17:18น.
        ท่านลุงโชค นรา เสียงที่ท่านนำมาเปิดให้ฟัง ท่านได้แต่ใดมา  ฟังแล้วเศร้าสร้อยดีจัง   น่าจะเป็นตอนฤาษี ออก ใช่ไหม



เป็นเพลงตอนออกฤาษีครับ บรรเลงโดยคณะปฐมเอก .. ผมได้แผ่นซีดีมาจากหน้าวัดพระธาตุ นครศรีธรรมราชครับ..........
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: บางนรา ที่ 31/ส.ค./11 16:16น.
 :'e:95 อ.โชค ค่ะ เอกลักษณ์ปักษ์ใต้บ้านเรา น่าอนุรักษ์ค่ะ เมื่อก่อนไม่ชอบฟังทีไรง่วงนอนทุกที.......แต่พอเดี๋ยวนี้มาฟังกลับชอบ :'e:69
หัวข้อ: Re: มารู้จักหนังตลุงกันเถอะครับ
เริ่มหัวข้อโดย: นายน้อย ที่ 27/พ.ย./11 19:28น.
อ่านแล้วก็ได้ความรู้ครับ ถ้าไม่เอามาวางให้อ่านและให้ฟังก็คงยังไม่ค้นหาแนวทางใต้มาฟัง แต่ผู้ใหญ่ทาง 60 ก. เปิดฟังบ่อย ขอบพระคุณมากครับพี่โชคฯ