“เกาะพิทักษ์” เกาะน่ารักบนวิถีที่เป็นไป
โดย : ปิ่น บุตรี(pinn109@hotmail.com)
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704236)
ชุมชนเกาะพิทักษ์
แม้ทะเลแหวกเกาะพิทักษ์ จ.ชุมพร น้ำทะเลอาจจะไม่สวยใส หาดทรายไม่ได้ละเอียดขาวเนียน
เท่าทะเลแหวกที่เกาะสามเส้า จ.กระบี่ แต่ทะเลแหวกเกาะพิทักษ์ก็มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์กับ
ประเพณี “วิ่งแหวกทะเล” หนึ่งเดียวในเมืองไทย ซึ่งปีนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 มิ.ย. นี้ พูดถึง
เกาะพิทักษ์แล้ว ที่นี่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนและโฮมสเตย์อันโดดเด่นในอันดับต้นๆของเมืองไทย
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704363)
เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งแค่ราว 1 กม.
1…
เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ที่ ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร เป็นเกาะที่มีคำขวัญเท่ๆว่า
“ถนนน้ำข้ามสมุทร น้ำจืดผุดกลางเกาะ หอยเจาะทะเลขาด หาดสองน้ำ”
ที่มาของชื่อเกาะพิทักษ์ มี 2 ข้อสันนิษฐาน หนึ่งนั้นเชื่อว่าน่าจะมาจากคำว่าเกาะ“ผีทัก”
ซึ่งชาวบ้านเขามีตำนานของปู่เดชกับเสียงผีทัก ส่วนอีกหนึ่งสันนิษฐานว่ามาจากเกาะ “ที่พัก”
เพราะสมัยก่อนในช่วงมรสุม เกาะแห่งนี้เป็นที่หลบพักของเรือบรรทุกสินค้า เรือประมง
เพื่อรอให้คลื่นลมสงบ ก่อนออกเดินทางต่อไป
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704372)
องค์พระพุทธรูปประจำเกาะ
ปัจจุบันบนเกาะพิทักษ์มีชุมชนเล็กๆตั้งอยู่ มีบ้านเรือน 40 กว่าหลังคาเรือน บนเกาะไม่มีโรงเรียน
ไม่มีวัด แต่เพิ่งสร้างพระพุทธรูปมางมารวิชัย(ปางชนะมาร) เป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวเกาะ ประดิษฐาน
อยู่บริเวณชายหาดหนึ่งเดียวของเกาะ(ทางขึ้นเขาจุดชมวิว)
ชาวเกาะพิทักษ์ใช้ชีวิตอยู่กันอย่างเรียบง่าย พอเพียง อยู่กันแบบเครือญาติ พี่น้อง ชาวบ้านมีอาชีพ
หลักคือประมง(ส่วนใหญ่) กับทำสวนมะพร้าว ขณะที่อาชีพรองนั้นคือการทำด้านท่องเที่ยวชุมชน โฮมสเตย์
ซึ่งผู้ที่บุกเบิกทำท่องเที่ยวโฮมสเตย์บนเกะก็คือผู้ใหญ่บ้าน“อำพล ธานีครุฑ” หรือ “ผู้ใหญ่หรั่ง”ที่ต้องต่อสู้
ฟันฝ่ากับอุปสรรคมากหลาย กว่าจะสร้างชื่อให้กับเกาะพิทักษ์มาจนถึงวันนี้
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704362)
บ้านเรือนบนเกาะ
ผู้ใหญ่หรั่งเปิดเผยว่า หลังเรียนจบที่กรุงเทพฯ ทำงานที่กรุงเทพฯได้ช่วงระยะเวลาหนึ่ง แล้วกลับมาอยู่บ้าน
พบว่าชุมชนที่นี่ประสบกับปัญหามากมาย โดยเฉพาะกับเรื่องทรัพยากรสัตว์น้ำทะเลพวกกุ้งหอยปูปลาที่เป็นทั้งอาหาร
สร้างงาน สร้างเงินลดน้อยลง กอปรกับถูกเรืออวนลากอวนรุนเข้ามาแย่งพื้นที่ทำกินใกล้ชายฝั่ง ทำการประมงแบบ
ทำลายล้าง ขณะที่ชาวบ้านก็มีทะเลาะแตกแยก ไม่ช่วยกันรักษาอู่ข้าวอู่น้ำของตัวเอง
นั่นจึงทำให้อำพลหลังได้รับการเลือกเป็นให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเกาะพิทักษ์ เขาได้เดินหน้าฟื้นฟูเพาะ ฟื้นฟูชุมชน
ฟื้นฟูชายฝั่งอู่ข้าวอู่น้ำ โดยชักชวนชาวบ้านมาร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ทะเล เพาะพันธุ์ปลา
ทำกระชังให้ปู และอื่นๆ จนชุมชนได้รับการคัดเลือกให้เป็น “หมู่บ้านอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลดีเด่น” ปี พ.ศ. 2545
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704365)
โฮมสเตย์กับห้องพักแบบส่วนตัว
ขณะเดียวกันผู้ใหญ่หรั่งก็ได้ดึงศักยภาพมนต์เสน่ห์ของเกาะพิทักษ์มาทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โฮมสเตย์
ที่บริหารจัดการโดยชาวบ้าน โดยเน้นการทำเป็นรายได้เสริมจากอาชีพหลัก เพราะช่วงมรสุมชาวบ้านไม่ค่อยได้ออกเรือหาปลา
ทั้งนี้ปฐมบทของโฮมสเตย์บนเกาะพิทักษ์เริ่มขึ้นเมื่อราวปี 2538 หลังจากมีนักท่องเที่ยวกลุ่มหนึ่งขึ้นมาเที่ยวบนเกาะ
แล้วต้องการพาที่พักหลับนอนบนเกาะ ผู้ใหญ่หรั่งจึงร่วมมือกับชาวบ้านคิดทำโฮมสเตย์ขึ้นมา
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704373)
โฮมสเตย์หลังหรู
พี่พร ธานีครุฑ เมียของผู้ใหญ่หรั่งที่ร่วมต่อสู้ฟันฝ่ากันมาเล่าให้ผมฟังว่า ช่วงแรกๆกิจกรรมย่อมลุ่มๆดอนๆเป็นธรรมดา
ยิ่งชาวบ้านลงมือทำกันเอง ไม่มีประสบการณ์ก็ต้องลองผิดลองถูกกันพอสมควร แต่ด้วยความที่ผู้ใหญ่ไม่ท้อ กิจกรรมก็เติบโตพัฒนา
ทำให้หมู่บ้านเกาะพิทักษ์ได้รับรางวัลต่างๆมาไม่น้อย อย่างไรก็ดีในช่วงที่ชาวบ้านต่อสู้ ล้มลุกคลุกคลาน เท่าที่ผมสอบถามจาก
ชาวบ้านปรากฏว่าภาครัฐนั้นหาได้ใส่ใจไม่ จนเมื่อเกาะพิทักษ์มีชื่อนั่นแหละ หลายหน่วยงานของภาครัฐจึงเข้ามา นับเป็นการเกาะ
กระแสดังที่ภาครัฐบ้านเราถนัดนัก
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704368)
ชาวบ้านบนเกาะอยู่กันอย่างเรียบง่าย พอเพียง
2...
เกาะพิทักษ์ ปัจจุบันมีการทำโฮมสเตย์ราว 17 หลัง โฮมสเตย์ที่นี่ไม่ใช่ใครอยากทำก็ทำได้ แต่ต้องผ่านกฎกติกาของชุมชน
บ้านเรือนต้องสะอาดสะด้าน มีที่พักพร้อม ชาวบ้านต้องเข้าใจ ร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชุมชน และเน้นเรื่องการทำเป็นอาชีพเสริม
อย่ามามุ่งหวังกอบโกยจากการทำโฮมสเตย์เป็นหลัก
นอกจากนี้ชาวบ้านที่ที่นี่เขายังรณรงค์เรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการทำน้ำยาล้างจานแบบไม่ใช้สารเคมี มีการทำลูกบอล EM
บำบัดน้ำเสีย ซึ่งจะปล่อยลูกบอลบำบัดกันทุกสัปดาห์ในทุกๆวันอาทิตย์ ส่วนอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญและชาวบ้านรณรงค์กันอย่างแข็งขันก็คือ
การรณรงค์ไม่ขายที่ เพราะวันนี่ชื่อเสียงของเกาะพิทักษ์ถือว่าดังพอตัว ถ้าเกิดมีนายทุนมาซื้อที่ไปทำที่พัก ร้านอาหาร บางทีอะไรที่ดีในวันนี้
บนเกาะพิทักษ์อาจเปลี่ยนไป
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704369)
อาหารจากท้องทะเล
โฮมสเตย์ที่นี่จัดทำเป็นระบบกลุ่ม มีการบริหารจัดการที่ดีเป็นระบบ ให้แต่ละบ้านหมุนเวียนรับแขกกันไปตามคิว ซึ่งมีผู้ใหญ่เป็น
ศูนย์กลางในการรับจอง แต่ถ้าบ้านไหนมีลูกค้าประจำ(คนที่เคยมาพักแล้วประทับใจ กลับมาพักอีก) ก็ให้แจ้งความจำนงต่อผู้ใหญ่ว่า
จะขอเข้าพักที่บ้านนั้นก็สามารถทำได้ โดยบ้านที่ทำโฮมสเตย์เมื่อมีคนมาพักต้องหัก 5% เข้ากองกลาง เพื่อเป็นค่าบริหารและจัดกิจกรรมในชุมชน
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704370)
เครื่องมือหากิน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเข้าพักกว่า 90% เป็นคนไทย ขอให้เคารพในกฎกติกาที่ชุมชนตั้งไว้ โดยเฉพาะกับเรื่องการร้องเพลงส่งเสียงดัง
ซึ่งทางชุมชนให้ร้องเพลงคาราโอเกะกันได้ไม่เกิน 3 ทุ่ม ส่วนหลังจากนั้นใครจะนั่งดื่มแบบเงียบๆจนถึงถึงเช้าหรือดื่มไปจนตายก็สามารถทำได้
ตามความสามารถ แต่อย่าไปส่งเสียงดังรบกวนคนอื่นเขา เนื่องจากบางวันมีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักหลายหลัง ขณะที่ชาวบ้านเขาก็ต้องการพักผ่อน
หลับนอน เพราะถึงอย่างไรแล้วที่นี่เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ไม่ใช่ร้านเหล้า ร้านคาราโอเกะ
และด้วยกฎนี้ ทำให้คนไทยเราปรับตัวด้วยการเริ่มดื่มกันตั้งแต่บ่าย และแหกปากร้องเพลงกันแต่หัววัน ทำให้ในวันที่ผมไปเที่ยวเกาะพิทักษ์
หนล่าสุด ช่วงเวลาประมาณบ่ายโมงกว่าๆก็ได้ยินเสียงคาราโอเกะครวญเพลงลอยมาตามลมแล้ว ซึ่งนี่ถือเป็นวิถีพักผ่อนแบบไทยๆที่ไม่ว่ากัน
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704364)
มุมถ่ายรูปริมชายหาด
3...
เกาะพิทักษ์ แม้เป็นเกาะเล็กๆ แต่ว่าก็มีเสน่ห์และมีกิจกรรมให้ทำกันไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเดินชิลล์ ชิลล์ เที่ยวเกาะชมบ้านเรือน
ชมธรรมชาติ ที่มีวงรอบเล็ก 800 เมตร กับวงรอบใหญ่ 1.4 กม.ให้เลือกเดิน หรือจะร่วมทำกิจกรรมปลูกป่า ปั้นจุลินทรีย์ EM บอล
ซึ่งตอนน้ำท่วมใหญ่ปี 54 ชาวบ้านที่นี่ได้ส่ง EM บอลขึ้นช่วยชาวกรุงฯเป็นจำนวนมาก
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704367)
สวนมะพร้าวอีกหนึ่งวิถีชาวเกาะ
ร่วมทำกิจกรรมของชุมชน อย่าง ทำของที่ระลึกจากเปลือกหอย ซึ่งชาวบ้านที่นี่เขาเน้นย้ำว่าเป็นการนำซากเปลือกหอยทั่วไป
ที่พบได้บริเวณชายหาดมาประดิษฐ์ทำผลิตภัณฑ์ สร้างรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ไม่ได้เป็นการนำเปลือกหอยหายากมาทำแต่อย่างใด
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704374)
สภาพทั่วไปบนเกาะพิทักษ์
ใครที่อยากสัมผัสวิถีชาวบ้านไปเดินพูดคุยกับชาวบ้านที่ส่วนใหญ่เขาน่ารัก ยิ้มแย้มแจ่มใส ไปชมการเก็บมะพร้าว เผามะพร้าว
ทำน้ำมันมะพร้าว(ตามจังหวะที่ชาวบ้านทำ) ดูการทำเครื่องจับสัตว์น้ำ หรือใครจะไปลองขอเขาทำก็ได้ ร่วมทำผ้าบาติก ทำปลาอินทรี
ฝังทรายหรือปลาเค็มฝังทรายที่เป็นโอทอปขึ้นชื่อ หรือจะไปชมและร่วมเก็บหอยนางรมหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “หอยเจาะ” ก็น่าสนใจ
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704375)
ชายหาดหนึ่งเดียวบนเกาะ
ส่วนใครจะเช่าเรือไปตกปลา ไดหมึก ชมทะเลทิวทัศน์เกาะใกล้เคียง ที่หากโชคดีอาจได้เจอโลมาเผือกหรือโลมาสีชมพู ไปดำน้ำดูปะการัง
สัมผัสกับทะเลแหวกยามน้ำลง หรือใครที่อยากเล่นน้ำทะเล บนเกาะมีหาดทรายหนึ่งเดียวทางทิศตะวันออกให้เล่นน้ำ หน้าหาดยาวประมาณ 450 เมตร
น้ำใส นอกจากนี้หากเดินไปทางองค์พระขึ้นไปชมวิวสูงประมาณ 200 เมตรก็น่าสนใจดี เหนื่อย แต่ก็ได้ออกกำลังกาย
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704378)
ช่องทางสู่ทะเล
ด้านใครที่ขี้เกียจจะนอนฟังเสียงคลื่น ร่ำสุรา เฮฮากับเพื่อนๆ หรือจะนั่งร้องเพลงที่บ้านโฮมสเตย์ ช่วยชาวบ้านทำกับข้าวกับปลา ยังมีวัฒนธรรม
“ส่งแกง” คือเมื่อกับข้าวมาก็จะแบ่งใส่จาน ชาม ไปแจกจ่ายเพื่อนบ้าน เป็นวิถีของการแบ่งบัน เอื้อเฟื้อ ที่ปัจจุบันลดหายไปมากจากสังคมไทย
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704379)
สีสันที่ตามมาจากการท่องเที่ยว
และนี่คือเสน่ห์อันชวนสัมผัสบนเกาะพิทักษ์ ที่ยังไงๆก็ขอให้ชาวเกาะพิทักษ์เข้มแข็งกับวิถีที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ อย่าสร้างสิ่งที่เป็นทัศนะอุจาด
ให้ดูประดักประเดิด เพราะเท่าที่เห็นเริ่มมีบางบ้าน บางร้านตกแต่งด้วยสีสันฉูดฉาดเพื่อพยายามตอบโจทย์รสนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ดู
ไม่ค่อยเข้ากับสภาพพื้นที่เท่าไหร่ และก็ไม่ต้องพยายามนำหลักกิโลเมตรมาตั้งเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในบ้านเราที่ไม่รู้เป็นอะไร ฮิตหลักกิโลกันจัง
ส่วนที่สำคัญก็คืออย่าให้วิถีเงินมาสร้างความหน้ามืดตามัว จนชาวบ้านละทิ้งวิถีเดิมหันมามุ่งแต่กอบโกย ทำชุมชนแตกแยก เพราะที่ผ่านมาบ้านเรามีบทเรียน
จากชุมชนที่เสียศูนย์จากการท่องเที่ยวมามากพอแล้ว
(http://www.manager.co.th/asp-bin/Image.aspx?ID=2704380)
ร้านขายของที่ระลึกบนเกาะ
*****************************************
เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่ที่ หมู่ 14 ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร ตั้งอยู่ห่างจากฝั่งประมาณ 1 กม. ปัจจุบันมีโฮมสเตย์ประมาณ 17 หลัง มีบริการให้เลือกพัก
ได้แก่ -ค่าที่พัก รวมค่าอาหาร 3 มื้อ 500 บาท/คน(ที่พักรวม) -ค่าที่พัก รวมค่าอาหาร 3 มื้อ 650-700 บาท/คน(แยกพักเป็นส่วนตัวห้องละ 2 คน) หรือ
ห้องพักไม่รวมอาหาร 400 บาท/คืน/ห้อง(ห้องละ 2 คน)
สำหรับอาหารที่ทางโฮมสเตย์จัดเตรียมไว้จะเป็นอาหารพื้นบ้าน เน้นอาหารทะเลสดใหม่ อร่อย มีเมนูหลักๆ คือ แกงส้มปลากระบอก ไข่เจียวหอยนางรม
ปูม้าต้มหรือนึ่ง หมึกต้มขี้ตำ ซึ่งสามารถสั่งอาหารเพิ่มเติมให้ชาวบ้านจัดเตรียมไว้เป็นพิเศษได้
ทั้งนี้ผู้สนใจเที่ยวเกาะพิทักษ์ พักค้างแบบโฮมสเตย์ หรือมาแวะรับประทานอาหาร สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่ นายอำพล ธานีครุฑ(ผู้ใหญ่หรั่ง)
081-093-1443,089-018-0644 หรือที่ นายทวี รอดรักษา(ผู้ช่วยแดง) 089-649-7781
>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
นำมาจาก http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000074930 (http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000074930)