เพลงพักใจดอทเน็ต

มาดูแลสุขภาพกัน => บอกเล่าเก้าสิบหยิบยกเรื่องสุขภาพ => ข้อความที่เริ่มโดย: ลุงชัย นรา ที่ 18/เม.ย./13 22:50น.

หัวข้อ: กุยช่าย
เริ่มหัวข้อโดย: ลุงชัย นรา ที่ 18/เม.ย./13 22:50น.

                                                                             
(http://t1.gstatic.com/images?q=tbn:ANd9GcTp5tkSjLXnCvupYcLQLitffIYaMuT5TDnQ7r96q90mjusmr3MFjA)


ออกเจ มากินกุยช่าย

 

          ผ่านเทศกาลถือศีลกินเจได้เดือนกว่า  ในปีนี้สังเกตุว่าคนไทยนิยมกินเจมากขึ้นเรื่อย ๆ คนจำนวนมากตั้งใจกินเจเพราะต้องการให้มีสุขภาพดีขึ้น คืองดเนื้อสัตว์ หันมากินพืชผักแทน แต่อาหารเจที่ไม่ส่งเสริมสุขภาพก็มีดาษดื่น ถ้าไม่รู้จักเลือกกิน เป็นที่รู้กันว่า การกินเจมีข้อแตกต่างจากการกินมังสวิรัติประการหนึ่ง คือ การห้ามกินผักที่มีกลิ่นแรง จึงชวนผู้อ่านออกเจแล้วมากินผักที่ห้ามเทศกาลเจ คือ ผักแป้นหรือกุยช่าย ผักแป้น เรียกอย่างคนอีสานและก็เป็นผักที่คนอีสานนิยมปลูกไว้หน้าบ้านด้วย โดยเฉพาะใครที่แวะเยือนไปในหมู่บ้านในชนบทจะเห็นว่าปลูกกันทุกครัวเรือน ใครนึกว่ากุยช่ายเรียกชื่อผักอย่างจีนนี้มีแต่คนจีนชอบกินเท่านั้น
          ผักแป้นหรือที่คนภาคกลางเรียกว่ากุยช่าย เป็นผักที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน คนรู้จักนำผักกุยช่ายมาประกอบอาหารไม่น้อยกว่า 3000 ปี แต่ไม่มีหลักฐานว่ามีการนำเข้ามาปลูกในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อใด สันนิษฐานว่านานมากแล้ว เพราะมีชื่อเรียกทั้งในถิ่นภาคเหนือและอีสานว่า “ผักแป้น” หรือ “หอมแป้น” มีชื่อในภาษาอังกฤษว่า  Garlic chives และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า  Allium tuberosum Rottl. ex Spreng อยู่ในวงศ์ Amaryllidaceae
          ใครชอบการปลูกผักสวนครัว แนะนำได้ว่าผักแป้นเป็นไม้ล้มลุก สูง 30-45 ซม. มีเหง้าเล็กและแตกกอ ใบแบน เรียงสลับ รูปขอบขนาน ยาว 30-40 ซม. โคนเป็นกาบบางซ้อนสลับกัน ช่อดอกแบบซี่ร่ม ก้านช่อดอกกลมตันยาว 40-45 ซม. โดยปรกติจะยาวกว่าใบ ดอกสีขาว กลิ่นหอม มีใบประดับหุ้มช่อดอก เมื่อดอกเจริญขึ้นจะแตกออกเป็นริ้วสีขาว กลีบดอก 6 กลีบ สีขาว  ผลกลม เมื่อแก่แตกตามตะเข็บ มีเมล็ดช่องละ 1-2 เมล็ด เมล็ดสีน้ำตาลแบน ขรุขระ
           อยากกระซิบบอกว่าในเอเชียตะวันออกแถบภูเขาหิมาลัย อินเดีย จีน ไปถึงไต้หวันและญี่ปุ่น ปลูกกุยช่ายกินกันทั้งนั้น ซึ่งมีการปลูก 2 แบบ คือ แบบสีเขียวที่ปลูกทั่วไป และแบบใบใหญ่สีขาวซึ่งเกิดจากการนำภาชนะไปครอบต้นที่มีสีเขียวไว้ไม่ให้ใบสังเคราะห์แสงกับแดด ใบจึงขาว
          สำหรับพี่น้องคนอีสาน นิยมนำมาทำส้มผัก คือดองกับน้ำซาวข้าวกิน เป็นอาหารรสอร่อยที่ปลูกไว้กินกันประจำ ทางยาสมุนไพร กุยช่ายมีสรรพคุณหลายอย่าง เช่น ต้นและใบ ใช้แก้โรคนิ่ว โดยนำมาบดตำให้ละเอียดผสมกับเหล้าและสารส้มเล็กน้อย กรองเอาน้ำดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา เป็นยาแก้หวัด บำรุงกระดูก ทาท้องเด็ก แก้ท้องอืด และแก้ลมพิษ สตรีหลังคลอด หากกินแกงเลียงใบกุยช่ายจะช่วยเพิ่มน้ำนม เมล็ด เป็นยาขับพยาธิเส้นด้ายและพยาธิแส้ม้า
          นอกจากนี้กุยช่ายยังให้กากอาหารช่วยสร้างสมดุลแก่ระบบย่อยอาหารช่วยให้ท้องไม่ผูก แก้อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ ขับลม และแก้ท้องผูก โดยใช้ใบสดตำให้ละเอียดคั้นเอาแต่น้ำดื่มหรือนำไปผัดรับประทาน เพราะกุยช่ายมีใยอาหารมากจึงช่วยกระตุ้นให้ลำไส้บีบตัวได้ดี แก้อาการฟกช้ำ โดยใช้ใบสดตำละเอียดแล้วพอกบริเวณที่มีอาการเพื่อบรรเทาปวดและแก้อาการห้อเลือดได้ แก้อาการปัสสาวะกะปริบกะปรอย โดยใช้เมล็ดแห้งต้มรับประทานหรือจะทำเป็นยาเม็ดรับประทานก็ได้ แล้ะรักษาโรคหูน้ำหนวก โดยใช้น้ำที่คั้นได้จากใบสดทาในรูหู
          หากถูกตีฟกช้ำเอากุยช่ายสดตำให้แหลกพอกบริเวณที่เป็น จะสามารถแก้อาการฟกช้ำ ห้อเลือดและแก้ปวดได้ หรือเวลาที่เป็นแผลมีหนองเรื้อรัง ใช้ใบสด ๆ ล้างให้สะอาดพอกที่แผลหรืออาจผสมดินสอพองในอัตราส่วนใบกุยช่าย 3 ส่วน ดินสองพอง 1 ส่วน บดให้ละเอียดจนเหลวข้นแล้วทาบริเวณที่เป็นวันละ 2 ครั้ง ในกรณีที่บวมฟกช้ำเนื่องจากถูกกระแทก
           หมอยาพื้นบ้านอีสานในจังหวัดมุกดาหาร ใช้ใบผักแป้นตำกับข้าวสารดิบทาตามตัว แก้อาการมุนมาน(ลมพิษ) หรือมีอาการคันตามผิวหนังเนื่องจากการเป็นประดง ให้เอาข้าวสารเจ้าประมาณ 1 กำมือ ไปแช่น้ำให้อ่อน จากนั้นนำไปโขลกกับผักแป้น 1 กำมือ ทาบริเวณที่คัน ในกรณีที่เป็นไข้ชักให้เอาใบผักแพว (Polygonum odoratum Lour.) 1 ใบผักคาว (Houttuynia cordata Thunb.) 1 ใบผักบัวะ (Allium accalonicum L.) 1 ใบผักแป้น (Allium tuberosum Rottl. ex Spreng) 1 ใบตดหมา (Paederia sp..) 1  ยีย่อง(ตำหรือขยี้) ใส่ขม่อมคนไข้ซัก
          ในบังคลาเทศใช้เมล็ดกินเพื่อเพิ่มจำนวนสเปอร์ม ผลจากการทดลองทางวิทยาศาสตร์ในหนูพบว่ามีสารสำคัญจากเมล็ดที่สามารถทำให้หนูได้รับการกระตุ้นให้มีการผสมพันธุ์มากขึ้นเมื่อได้รับในปริมาณที่เหมาะสม สำหรับคนจีนมีการใช้เมล็ดเพิ่มพลังหยางให้มีความเข็มแข็งมากขึ้น ในเกาหลีมีงานวิจัยที่ทำการทดลองในหนูพบว่าสารสกัดจากใบช่วยลดไขมันในตับได้ ส่วนในฟิลิปปินส์ใช้ทุกส่วนในการเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงและน้ำคั้นจากใบใช้ผสมยาแทนเหล้าได้
           นอกจากนี้น้ำมันสกัดจากต้นกุยช่ายที่ความเข้มข้น 80 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร ยับยั้งการเจริญของ Flavobacterium columnaris ในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ ถ้านำน้ำมันนี้ไปผสมกับอาหารเลี้ยงปลา 800 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ช่วยลดการติดเชื้อ F. columnaris ที่ทำปลานิลตายน้อยลงได้
           ผักแป้นหรือกุยช่าย เป็นผักต้องห้ามในเทศกาลกินเจ แต่เมื่ออกเจแล้ว ผักแป้นมีประโยชน์ต่อสุขภาพของทั้งคนและสัตว์ หากรู้จักกินและใช้.

ขอขอบคุณข้อมูล จาก มูลนิธิสุขภาพไทย
ขอบคุณภาพจาก อินเตอร์เน็ต
หัวข้อ: Re: กุยช่าย
เริ่มหัวข้อโดย: ตู่ ลำพูน ที่ 03/พ.ค./13 20:38น.
ขอบคุณลุงชัย นรามากนะครับที่นำสาระดีๆของกุยช่ายมาฝาก...ผมเองก็ชอบกินขนมกุยช่าย :'e:37