เพลงพักใจดอทเน็ต

มาดูแลสุขภาพกัน => โรคภัยใกล้ตัว => ข้อความที่เริ่มโดย: chomm ที่ 11/พ.ค./12 10:57น.

หัวข้อ: มีปัญหา?? ปรึกษาอย่างไร??
เริ่มหัวข้อโดย: chomm ที่ 11/พ.ค./12 10:57น.
มีปัญหา?? ปรึกษาอย่างไร??  


       (http://upic.me/i/lv/images3.jpg)

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า ในช่วงชีวิตที่ผ่านมาตนเองไม่เคยประสบกับสิ่งที่เรียกกันว่า “ปัญหา” เลย และหลายๆ ครั้งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงหรือแก้ไขได้โดยง่าย แต่ละคนจะมีวิธีจัดการกับปัญหาแต่ละอย่างแตกต่างกันไปตามแต่ละโอกาส บ้างก็เลือกที่จะหลบเลี่ยงปัญหา บ้างก็เลือกจะพักการเผชิญกับปัญหาไว้ก่อน บ้างก็พยายามจะจัดการกับปัญหาให้เสร็จสิ้นหรือหมดไปโดยเร็ว ซึ่งไม่มีวิธีการไหนที่เรียกได้ว่าเหมาะสมหรือดีที่สุดสำหรับปัญหานั้นๆ แต่บ่อยครั้งที่เราจะพบว่า ยิ่งเราพยายามแก้ปัญหา กลับทำให้ปัญหาเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจจะเกิดปัญหาใหม่ๆ ตามมาได้


จึงมีความจำเป็นที่เราอาจจะต้องมีตัวช่วยสำหรับการจัดการปัญหา บ้างก็หันไปพึ่งสุรายาเสพติด ซึ่งเป็นทางออกที่มีผลเสียตามมาอย่างมาก และพบว่าตัวช่วยในการจัดการกับปัญหาที่มีผู้ใช้มากที่สุดก็คือ การปรึกษาผู้ที่คิดว่าสามารถช่วยเหลือเราได้ ซึ่งช่องทางหนึ่งก็คือ การบริการให้คำปรึกษา จากหน่วยงานทางสาธารณสุขต่างๆ นั่นเอง  

การบริการให้คำปรึกษา (Counseling) มาจากภาษากรีกโบราณว่า Consilium หมายถึง กระบวนการสื่อสารที่มีรูปแบบชัดเจนระหว่างบุคคล 2 คน โดยที่ฝ่ายหนึ่งกำลังมี “ปัญหา” โดยไม่จำเป็นว่าผู้รับคำปรึกษาจะเป็นผู้ป่วยหรือไม่ ซึ่งจะแตกต่างกับการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ที่เป็นขบวนการในการรักษาสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น และสำหรับผู้ให้คำปรึกษาอาจเป็นใครก็ได้ที่มีเจตคติที่ดีในการช่วยแก้ไขปัญหา ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ สหวิชาชีพอื่นๆ ทางสาธารณสุข หรือแม้แต่เพื่อนสนิทหรือญาติมิตรของผู้มีปัญหาเอง


ในส่วนของกระบวนการและเทคนิคที่ใช้ในการให้คำปรึกษานั้น จะมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปตามความถนัดของผู้ให้คำปรึกษา เช่น การเงียบ การสังเกตและการฟัง การให้กำลังใจและคำแนะนำ หรือการสะท้อนอารมณ์ความรู้สึก ให้ผู้มีปัญหาได้ตระหนักมากขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ภายหลังการให้คำปรึกษา ผู้มีปัญหาจะต้องสามารถตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมได้ ไม่ว่าจะใช้เทคนิคใดในการให้คำปรึกษาก็ตาม


การให้คำปรึกษา นอกจากจะมีประโยชน์สำหรับผู้มีปัญหาที่ไม่ใช่ผู้ป่วยแล้ว ยังมีบทบาทในการร่วมรักษาผู้ป่วยในหลายๆ ภาวะอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นภาวะเครียดหรือวิตกกังวล ภาวะซึมเศร้า หรือแม้แต่ปัญหาที่เกิดจากการปรับตัวในสถานการณ์หรือวิกฤติต่างๆ


อย่างไรก็ตาม การให้คำปรึกษาก็ยังคงเป็นเพียงตัวช่วยที่จะทำให้ผู้รับคำปรึกษาสามารถแก้ไขปํญหาได้เหมาะสมราบรื่นมากขึ้นเท่านั้น (จากมุมมองของคนนอกวงปัญหา) โดยผู้ให้คำปรึกษาไม่สามารถตัดสินใจแก้ปัญหาให้กับผู้รับคำปรึกษาได้ ดังนั้นการให้คำปรึกษาจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ผู้รับคำปรึกษานำคำปรึกษาที่ได้รับ ไปวิเคราะห์ไตร่ตรอง เพื่อให้เข้าใจปัญหาของตนและนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมมากขึ้น  

เขียนโดย นพ.ธิติพันธ์ ธานีรัตน์
โรงพยาบาลสวนสราญรมย์
ตีพิมพ์ลงในข่าวสารกรมสุขภาพจิต
หัวข้อ: Re: มีปัญหา?? ปรึกษาอย่างไร??
เริ่มหัวข้อโดย: น้องดา ที่ 18/พ.ย./12 16:10น.
เป็นวิธีการที่ดีที่สุดค่ะพี่ชม ทุกคนล้วนมีปัญหาแต่ทุกปัญหาสามารถแก้ไขได้