4ทักษะชนะ“เครียด”
ท่ามกลางการดำเนินชีวิตในสังคมที่ค่อนข้างเร่งรีบ แข่งขัน ทำงานหนัก ตลอดจนชีวิตส่วนตัว ครอบครัว เพื่อน คนรัก ฯลฯ ล้วนมีโอกาสสะดุด เกิดปัญหา และชักนำ “ความเครียด” ให้เกิดขึ้นได้ง่าย หากไม่หาวิธีกำจัด ปล่อยให้สะสม
นอกจากสุขภาพจิตจะแย่แล้ว ยังส่งผลเสียต่อร่างกายได้ด้วย ดังนั้น ชิงควบคุมความเครียดก่อนดีกว่า อย่ายอมให้ “ศัตรูทำลายความสุข” มาควบคุมเรา!
เกี่ยวกับประเด็นนี้ ผศ.พญ.วินิทรา นวลละออ จิตแพทย์ และผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้บอกเล่าถึงแง่มุมของความเครียด ว่า อะไรก็ตามที่เป็นเรื่องไม่คุ้นเคยเข้ามากระทบตัวเรา ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องร้ายแรง บางทีอาจจะเป็นเรื่องดี ๆ ด้วยซ้ำ เช่น ถูกหวย แต่งงาน มีแฟน หรือ เรื่องแย่ ๆ เช่น ไม่มีสตางค์ ใกล้สอบ พอมากระทบแต่เป็นสิ่งที่เราไม่ได้เจอในทุกวัน เรียกว่า ความเครียดได้หมด ซึ่งมีทั้งความเครียดดี ๆ ที่เรียกว่า ยูสเตรส (Eustress) เป็นความเครียดที่ทำให้สร้างสรรค์ เช่น ก่อนสอบเครียดมาก แต่เราจะรีบอ่านหนังสือ นั่นเป็นความเครียดที่ดีทำให้เตรียมพร้อม
ส่วนความเครียดไม่ดี หรือ ดิสเทรส (Distress) ทำให้เสียสุขภาพ บั่นทอนจิตใจ เช่น อกหักแล้วเครียด ไม่มีใครเข้าใจเรา หรือ ดูข่าวสะเทือนใจแล้วรู้สึกสังคมแย่จังเลย ก็เครียดได้เหมือนกัน
สำหรับผลต่อร่างกายเวลาเครียดมาก ๆ นั้น ผศ.พญ.วินิทรา อธิบายว่า บางคนจะเริ่มปวดหัว บางคนปวดท้อง บางคนปวดเมื่อยตามตัว เพราะฉะนั้น จะมีผู้ที่มาหาหมอบ่อย ๆ ด้วยอาการปวดเมื่อยโดยไม่ทราบสาเหตุ ตกเย็นกลับบ้านเมื่อยทั้งตัว แต่เสาร์-อาทิตย์หายดี หรือ ปวดหัวโดยไม่มีสาเหตุ ไปที่ทำงานทีไรปวดหัวตลอด บางคนก็เป็นโรคกระเพาะ
ส่วนผลกระทบเกี่ยวกับจิตใจ โดยส่วนใหญ่มักจะนอนไม่หลับ บางคนรู้สึกตื่นเต้นง่าย มีเรื่องอะไรกระทบนิดนึงหัวใจเต้นแรง เหงื่อแตก หน้าซีด บางคนจะหงุดหงิดง่ายขึ้น จากเดิมเรื่องนี้ไม่เคยรู้สึกอะไร แต่พอเครียด แล้วมีคนมาพูดกระทบนิดนึงจะโมโห ตวาดออกไป ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลงง่าย ซึ่งเป็นผลหลัก ๆ จากความเครียด
ใครที่มักตกอยู่ในภาวะเครียด ผศ.พญ.วินิทรา ได้แนะนำทักษะน่าสนใจไว้ฝึกใช้คลายเครียด โดยในระยะสั้นควรออกมาจากสถานการณ์ที่รู้ว่าทำให้เครียด เช่น เครียดเรื่องทะเลาะกับเพื่อน วิธีที่ดีคืออาจจะต้องพักก่อน ถอยออกมาจากสถานการณ์นั้น ยืนเถียงกันต่อไปก็ไม่มีประโยชน์
ขณะที่ วิธีแก้ระยะยาว ต้องรู้ตัวก่อนว่าเรามักเครียดเรื่องอะไร ซึ่งแต่ละคนจะมีเรื่องประจำ ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีแพทเทิร์นซ้ำ ๆ กันมาตั้งแต่เด็ก เช่น เรื่องนี้ทีไรเราเครียดทุกที คนอื่นไม่เครียด ถ้าเกิดหาแพทเทิร์นนี้เจอ แล้วมาดูว่าเราป้องกันอะไรได้บ้างก็จะช่วยได้ ซึ่งวิธีป้องกันแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน วิธีมาตรฐานทั่วไปเลย คือ การออกกำลังกาย เล่นโยคะ รวมถึงการนั่งสมาธิ ซึ่งมีงานวิจัยรองรับมาแล้วว่าปฏิบัติประจำช่วยป้องกันความเครียด ช่วยให้หายเร็วขึ้น หรือ ความเครียดส่งผลกับเราน้อยลง
และอีกเทคนิคหนึ่ง คือ ทำความเข้าใจว่าความเครียดแต่ละอย่างธรรมชาติมาไม่เหมือนกัน และหลายอย่างมักเกิดจากปัจจัยตัวเรา ยกตัวอย่าง คุยกับเพื่อนทีไรแล้วเครียด ทะเลาะกับเพื่อนตลอด ปัญหาอาจจะไม่ได้อยู่ที่ตัวเพื่อน เพราะกับคนอื่นเขาไม่เห็นทะเลาะ ทำไมทะเลาะกับเราคนเดียว หรือ แฟนพออยู่กับคนอื่นก็ดีหมด แต่อยู่กับเราทะเลาะกันตลอด อาจจะต้องมาดูว่าปัจจัยเกิดจากตัวเราหรือไม่ แล้วปรับที่ตัวเรา ซึ่งตรงนี้เป็นขั้นบุคลิกภาพแล้ว ต้องปรับระยะยาว เป็นต้น
เข้าใจ และรับมืออย่างถูกต้อง เราเองก็เป็นฝ่ายชนะความเครียดได้ ทั้งยังส่งผลดีต่อคนรอบข้างด้วย.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์