หนังกลางแปลง > ภาพยนตร์ในอดีต
คนภูเขา (2522) เปิดตัวมนตรี เจนอักษร อย่างอลังการ์
ทนาย:
คนภูเขา (2522)
ผู้กำกับ: วิจิตร คุณาวุฒิ
นำแสดงโดย: มนตรี เจนอักษร, วลัยกร เนาวรัตน์, สุภาวดี เทียนสุวรรณ, พิสิษฐ์ อนุชิตชาญชัย, เพชรรัช อินทรกำแหง, โรเบิร์ต คีธ
ทนาย:
ความยาวภาพยตร์ - 120 นาที
*** ภาพจาก ไทยซีน,คอม***
ทนาย:
มองหนังไทย ย้อนไปในปี พ.ศ. 2522 ต้องบอกว่า สภาวะหนังไทยยังคงสดใส และ ยังเป็นที่ต้องการของ คนไทยส่วนใหญ่ที่ ยอมควักเงินในกระเป๋าไปซื้อความบันเทิงจาก "หนังไทย " จึง ไม่น่าแปลกใจ ที่ ในปี พ.ศ. 2522 นี้ ผลผลิตของหนังไทย ถูกนำออกมาฉายนับได้เป็นร้อยเรื่องทีเดียว
หนังไทยในช่วงปี 2522 ยังคงมีรูปแบบหลากหลาย ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น ตลก ชีวิต บู๊ แล้วแต่ว่า ผู้กำกับ หรือ ผู้สร้างคนใดชอบที่จะทำแบบใด เท่าที่ยังพอจำได้ ในช่วงปี 2522 นี้ มีหนัง ที่ได้ชื่อว่า ทำเงินเป็นกอบเป็นกำ แบบว่า "ไม่เจ็บตัว"อยู่ไม่เกิน 10 เรื่องเท่านั้น อาทิ 2 ผู้ยุ่งหยิง ผลงานของ โรม บุนนาค, เรื่องเขยใหม่ปึ๋งปั๊ง ผลงานของ กำธร ทัพคัลไลย ที่ได้อานิสงฆ์ต่อเนื่องมาจากเรื่องแรกคือ ทายาทป๋องแป๋ง เป็นหนังแนวตลก ที่ เนื้อหา แม้จะ โอเวอร์แอ๊คจน เน่าสนิท แต่ คนดูก็ให้ความนิยม เพราะ ดูแล้วสบายใจ,เรื่องแดร๊กคิวล่าต๊อก ผลงานของ ดาวตลก ล้อต๊อก ที่สร้างหนังมาหลายเรื่องจนคงจะเบื่อหน่าย ไม่รู้จะหาชื่ออะไรมาเล่น เลยใช้ชื่อตัวเอง รับบทเป็นแดรกคิวล่า ซะเลย ผลปรากฎว่า คนดูพอใจ กลายเป็นหนังดังที่คนไทยไม่ลืม นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องอื่นๆอีก อาทิ นายอำเภอปฏิวัติ ผลงานของรังสี ทัศนพยัคฆ์ ,เรื่องไผ่แดง ผลงานของ เพิ่มพล เชยอรุณ,เรื่องพรุ่งนี้ก็สายเกินไป ผลงานของ รุจน์ รณภพ,เรื่องเสือภูเขา ผลงานของ คมน์ อรรฆเดช, เรื่อง หมอซ้ง ผลงานของ ศุภักษร,เรื่องอยู่กับ ก๋ง ผลงานของ คมน์ อรรฆเดช และ เรื่อง สุดสาคร ซึ่งเป็นผลงาน หนังการ์ตูนไทย เรื่องยาว เรื่องแรก ผลงานของ ปยุต เงากระจ่าง แต่ รายได้ไม่เข้าเป้า หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็น ตำนานหนังการ์ตูนไทย แทนที่จะเป็นตำนานหนังทำเงิน
สำหรับเรื่อง คนภูเขา ผลงานของ วิจิตร คุณาวุฒิ เรื่องนี้ จัดว่า เป็นหนังแหวกแนวอีกเรื่องหนึ่ง ที่ คนนึกไม่ถึงเหมือนกันว่า จะกลายเป็นหนังทำเงิน
แต่ด้วย ชื่อเสียง และ ความมีคุณภาพของ "วิจิตร คุณาวุฒิ" ภายใต้นามปากกาที่ใช้ในการกำกับภาพยนตร์ว่า "คุณาวุฒิ" ทำให้ นักดูหนังที่ชอบ เรียนรู้หนังคุณภาพ แม้เรื่องอาจจะไม่สะดุดหู สะดุดตา แต่ด้วยเป็น ฝีมือกำกับระดับ เศรษฐีตุ๊กตาทอง คนนี้ ถึงอย่างไรก็ต้อง เข้าไปพิสูจน์ผลงานกันหน่อย
แล้วก็ไม่ผิดหวังจริงๆ เพราะ วิจิตร คุณาวุฒิ สามารถทำ สารคดี ให้กลายเป็น ความบันเทิง ด้วย กลยุทธ์ และลูกเล่นที่แฝงเข้าไปสอดแทรกในเรื่อง ตลอดช่วงเวลา 120 นาที โดยไม่ทำให้คนดูรู้สึกว่า "เบื่อ"
หนังเริ่มเปิดเรื่อง คล้ายหนังสารคดี คือ กล่าวถึง ชนกลุ่มน้อยในประเทศไทย ที่อาศัยอยู่บนภูเขา ตามตะเข็บชายแดนของประเทศไทย
ภาพและคำบรรยายสอดคล้องกันเพื่อให้คนดูได้รับรู้ว่า มี ชนกลุ่มน้อย ที่เรียกกันว่า "ชาวเขา"มี เผ่าใดบ้าง
ใช้เวลาในช่วงเปิดเรื่องประมาณ ห้าถึงสิบนาที หนังก็กลับภาพ จาก สารคดี เข้าสู้เรื่องราวของชาวเขาเผ่า อีก้อ ด้วยภาพของ พระเอกในเรื่อง จูงหมามาฝูงเบ่อเริ่ม เพื่อเอามาฝากญาติพี่น้องนำเอาไปใช้เป็นอาหาร
มีภาพการ ทุบหัวสุนัข เพื่อนำมาเป็นอาหาร มีการนั่งร่วมวงกินเนื้อสุนัข ที่ฟังคำเล่าขานอาจจะดูโหดร้าย แต่ ภาพที่ปรากฎอยู่บนจอไม่ได้โหดร้ายเหมือนภาพจินตนาการเท่าไรนัก
แล้วจากนั้นก็เดินเรื่องให้คนดูได้รับรู้ถึง ชีวิตของ ครอบครัวพระเอกที่ ต้องยอมทนรับกับวัฒนธรรมประเพณีของชนเผ่า ซึ่งมันอาจจะงมงายไปหน่อยสำหรับผู้เจริญแล้ว แต่ ความจริง ย่อมเป็นความจริง ในเมื่อ วัฒนธรรมประเพณีดังกล่าว พวกชาวเขาเผ่านี้ยังคงยึดมั่นอยู่มิรู้คลาย
หนังย่อมเป็นหนัง ผู้เขียนเรื่อง ทำให้ ชีวิตของ ครอบครัวนี้ต้องพบกับพิบัติภัยของชีวิตที่ต้องระหกระเหินไปพบกับ ความวุ่นวายของชีวิต จนแทบเอาตัวไม่รอด คนเขียนบท ซึ่งเป็น คนเดียวกับ ผู้กำกับ เก่งในการสอดแทรก ระหว่าง วัฒนธรรม ประเพณีให้เข้ามาผูกพันกับ วิถีชีวิตได้อย่างกลมกลืน
ดูหนังเรื่องนี้จบแล้ว สิ่งได้รับคือ ได้พบว่า ความเชื่อที่งมงายของมนุษย์ที่ยังไม่พัฒนานั้น มีส่วนสัมพันธ์กับ วิถีชีวิตของมนุษย์ที่ต้องการความเจริญไม่น้อย หนังทำให้เห็นว่า ยังมี ประเพณีอะไรอีกหลายอย่าง ที่ น่าจะเลิก เพราะมันฝืนกับความเจริญ
สรุปรวมความก็คือ หนังเรื่องนี้ ได้ทั้งความรู้และความบันเทิง จึงไม่น่าแปลกใจที่หนังเรื่องนี้ คว้ารางวัลตุ๊กตาทองมาหลายรางวัล
และส่งผลให้พระเอกหน้าใหม่เอี่ยมที่ยังไม่เคยมีใครรู้จักเลย ภายในนามว่า "มนตรี เจนอักษร"กลายเป็นนักแสดงระดับ ซูเปอร์สตาร์ไปอย่างเป็นเอกฉันท์ ทั้งๆที่ หน้าตาแทบจะบอกได้ว่า โอกาสของความเป็นพระเอก หาได้ยากเต็มที
ก็อย่างว่าแหละครับ ใครโชคดี ได้ไปเกิดในอ้อมอกของคนเก่ง ก็ย่อมมีจุดเด่นตามไปด้วย เหมือน มนตรี เจนอักษร คนนี้แหละครับ
ใครที่ยังไม่เคยดู(เพราะเกิดไม่ทัน) หรือ ดูแล้ว อยากจะฟื้นความหลังอีกสักครั้ง ไปหาซื้อแผ่น ซีดี มาดูกันได้ หาซื้อง่าย แต่สภาพของแผ่น ไม่ชัดเหมือนดูในโรงนะครับ เนื่องมาจาก ต้นแบบที่เอามาทำเป็นหนังแผ่นนั้น มันถูกใช้งานมาอย่างโชกโชนแล้ว ผลงานที่มีอยู่ในแผ่น จึงมีคุณค่าความคมชัดเพียง 60-70 % เท่านั้นเอง
ตัดสินใจว่าจะดูแล้ว ก็ต้องทำใจหน่อย
***จากบทความของชนิตร ภู่กาญจน์***
ประยุทธ:
เห็นหน้าคุณมนตรีแล้ว ช่วงนั้นคงอายุ 17-18 ได้มั่ง ไม่เคยชมภาพยนตร์เรื่องนี้ แต่รู้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ดังมาก ๆ
ภูฤดู ปักซัว:
แม้ จะมีเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก ของหนัง คนภูเขา
แต่ในความรู้สึกของผม มันก็มีจุดหนึ่งที่หนังมันสะท้อนให้เห็นถึงความไม่เข้าใจอย่างแท้จริงกับชีวิตของคนภูเขา
(นี่ ยังรวมไปถึงหนังในยุคหลังๆ อีกหลายๆเรื่อง)
ประเด็น ก็คือ การที่มักตีความเอาอย่างง่ายๆว่า ถ้าเป็นหนังเกี่ยวกับทางเหนือ
ก็จะเขียนบทให้ตัวละครพูดเหนือ หรือพูดคำเมือง
ซึ่งในความเป็นจริง มันใช้ไม่ได้กับ คนภูเขา
คนภูเขา ไม่ได้พูดคำเมือง หรือ พูดภาษาเหนือแบบคนพื้นเมือง(ล้านนา) ครับ
คนภูเขา พูดกันด้วยภาษาประจำเผ่า และ ภาษาไทยกลาง ต่างหาก
จะด้วยเป็นเพราะว่า ผู้คนที่เข้าไปศึกษาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของ คนภูเขา เขาพูดภาษาไทยกลาง ก็เป็นได้
ทุกวันนี้ คนภูเขา จะสื่อสารกับคนเหนือ คนล้านนา เขาก็ยังพูดด้วยภาษาไทยกลาง ไม่ได้พูดคำเมือง
เห็นหนังไทยเกี่ยวกับคนภูเขา แต่บังคับให้พูดภาษาเมืองเหนือทีไร ผมละ หงุดหงิดทุกทีละครับ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version