
ข้าวก่ำ (Purple Rice) เป็นข้าวพื้นเมืองของเอเชีย มีหลายชื่อ ชื่อที่ภาคกลางรู้จักกันดีคือ ข้าวเหนียวดำ (Black Sticky Rice) ภาคใต้เรียก เหนียวดำ บางที่ก็เรียกข้าวนิล ในประเทศจีนก็พบเช่นกันเรียกว่า ข้าวดำจีน (Chinese black rice) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Oryza sativa ข้าวก่ำนั้นนอกจากจะมีการนำมาบริโภคในรูปของอาหารแล้ว ยังมีการนำมาใช้ในรูปยารักษาโรคอีกด้วย โดยพบว่าในสมัยก่อนหากสตรีใดคลอดลูกและมีการตกเลือดมาก การรักษาก็คือการนำเอาต้นข้าวก่ำมาต้มเคี่ยวน้ำให้งวดลงเล็กน้อยแล้วให้รับประทาน
ข้าวก่ำที่พบในประเทศไทยนั้นข้าวสีม่วงกลุ่มอินดิก้า (indica type) มีสีแดงอมม่วงเนื่องจากมีสารในกลุ่มแอนโทไซยานิน (Anthocyanin)ได้แก่สาร cyanindin 3-glucoside ซึ่งมีรายงานว่าสามารถระงับยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งปอด (lung cancer) และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระเนื่องจากมีสารที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระหลายชนิดได้แก่ tocotrienols, ferulic acid, gamma oryzanol, และ phytosterols ซึ่งนอกจากจะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระแล้วยังมีผลเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ลดการอักเสลดไขมัน นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่สำคัญสามารถนำไปใช้ทดแทนการให้ธาตุเหล็กเพื่อลดปัญหาที่มักพบในเรื่องการให้ธาตุเหล็กแก้ผู้ป่วยที่ขาดเหล็กทั้งนี้เนื่องจากการให้ธาตุเหล็กทดแทนในลักษณะนั้นมักใช้ขนาดที่สูงและส่งผลกระทบให้มีการเพิ่มการสร้างอนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มขึ้นและเกิดอันตรายต่อเซลล์ต่างๆของร่างกาย ซึ่งการบริโภคข้าวก่ำจึงสามารถจะลดปัญหาดังกล่าวได้เนื่องจากในข้าวก่ำเองก็มีสารอื่นๆที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระอยู่เป็นจำนวนมากดังที่กล่าวข้างต้น