สวนสัตว์เชียงใหม่เชิญชม‘นิลกาย’สัตว์ในหิมพานต์

รับปีมังกรทองเฮงๆๆๆ สวนสัตว์เชียงใหม่ได้น้องใหม่‘นิลกาย’ หรือ “วัวสีน้ำเงิน” สัตว์ในป่าหิมพานต์จากพาราณสี ใครเห็นถือว่าโชคดีรับปีใหม่ ถือเป็นนิลกายเพศเมียน้องใหม่ตัวที่ 5 ปัจจุบันถือเป็นสัตว์ป่าหายาก เพิ่งคลอดจากพ่อ‘อลานดิน’กับแม่‘มะตะบะ’ ไม่นานนี้เอง ผู้รู้ท่านว่าใครได้พบเจอจะโชคดี

นายนิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้ช่วยสวนสัตว์เชียงใหม่ เปิดเผยว่าไม่นานมานี้ สวนสัตว์เชียงใหม่ ได้รับสมาชิกเกิดใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1 ตัว เป็น‘นิลกาย’เพศเมีย สีน้ำตาลอ่อน ซึ่งถือเป็นนิลกายรุ่นที่ 3 เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ 1 คู่ คือพ่ออลาดิน และ แม่มะตะบะ ซึ่ง‘นิลกาย’เป็นสัตว์ที่ได้รับการสักการะทางศาสนาถือเป็นสัตว์มงคล และหายาก ที่สวนสัตว์เชียงใหม่มีแค่เพียง 5 ตัวเท่านั้น

“นิลกาย” (Nilgai) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เคี้ยวเอื้องจำพวกมีเขาเกลียว (แอนทีโลป) เท้ากีบคู่ใน วงศ์เดียวกับวัว โดยมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Boselaphus tragocamelus ซึ่งมีรูปลักษณ์คล้ายวัวผสมม้า ส่วนใหญ่พบในธรรมชาติบริเวณที่ราบตอนเหนือของอินเดียและทางภาคตะวันออกของ ปากีสถาน นิลกายชอบอยู่ตามที่ราบและเนินเขาที่มีไม้พุ่มเตี้ย ไม่ชอบอยู่ในป่าทึบ ลักษณะเด่นของนิลกายอยู่ที่สีสันของเจ้าตัวผู้มากกว่า ที่สีจะค่อยๆเข้มขึ้นจนเป็นสีน้ำเงินเข้ม อันเป็นที่มาของชื่อ “วัวสีน้ำเงิน” นั่นเอง
‘นิลกาย’ถือเป็นสัตว์มีเขาเกลียวขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชีย โดยมีส่วนสูงวัดถึงไหล่ประมาณ 1.2-1.5 เมตร และยาว 1.8-2 เมตร หางยาว 40-45 เซนติเมตร ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักประมาณ 120-140 กิโลกรัม ลำตัวใหญ่ แต่มีขาเล็กเรียว ที่อาจจะไม่สมกับตัวสักเท่าไร ตัวผู้มีเขาเล็กๆโค้งไปข้างหน้าเล็กน้อย ยาวประมาณ 21-25 เซนติเมตร มีขนแข็งยาวขึ้นจากส่วนหัวไล่ไปถึงกลางหลังทั้งสองเพศ ดูรวมๆแล้วถือเป็นสัตว์สวยงามใช้ได้อีกชนิดหนึ่ง
นิลกายสามารถเจริญเติบโตเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ได้เร็วที่อายุเพียง 18 เดือนเท่านั้น ซึ่งหลังผสมพันธุ์แล้ว แม่นิลกายอุ้มท้องประมาณ 8 เดือนก็จะตกลูก ซึ่งมักเป็นคราวละ 2 ตัวหรือมากได้ถึง 3 ตัว ด้วยน้ำหนักเจ้าตัวเล็กแรกเกิดอยู่ระหว่าง 13-16 กิโลกรัม และสามารถมีชีวิตอยู่นานได้ถึง 21 ปี
นิลกายเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางวัน และพักผ่อนในเวลากลางคืนเหมือนวัว ควายทั่วไป แต่กินอาหารหลากหลายกว่าหน่อย เพราะกินทั้งต้นไม้ ใบหญ้า ใบไม้ และผลไม้ทั่วไป นอกจากนี้ยังมีความสามารถพิเศษในเรื่องความอึด อดน้ำเก่ง สามารถอยู่ได้หลายวันโดยไม่มีน้ำกิน แต่รู้จักอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำ โดยส่วนใหญ่จะอยู่กันเป็นกลุ่มประมาณ 15 ตัว ยกเว้นตัวที่อายุมากแล้วมักจะปลีกตัวไปอยู่ตามลำพัง และจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่อีกครั้งก็ในช่วงฤดูหนาวประมาณ 30-100 ตัว
ในท้องถิ่นแถบเอเชียใต้เชื่อกันว่าเจ้านิลกายเป็นวัวและได้รับการสักการะทาง ศาสนา จึงเป็นข้อดีที่ช่วยป้องกันไม่ให้มันถูกล่าได้ทางหนึ่ง แต่นิลกายก็หนีไม่พ้นสภาพที่ต้องกลายเป็นสัตว์สงวน ผลจากการที่มันเข้าไปรบกวนกินพืชผลของเกษตรกรเสียหายได้ครั้งละมากๆ ในอินเดียจึงอนุญาตให้ล่าสัตว์ชนิดนี้ได้อย่างถูกกฎหมาย ขณะที่อีกไม่น้อยถูกรถชน นอกจากนี้ยังต้องขาดแคลนที่อยู่ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นทุก วัน และมีศัตรูตามธรรมชาติอีกอย่างคือเสือและสิงโต
เรียกว่าภัยมีรอบด้าน!! ทำให้ปัจจุบันเหลือนิลกายอยู่ไม่มากแล้ว ในอินเดียมีประมาณ 100,000 ตัวเท่านั้น ส่วนที่รัฐเทกซัสของสหรัฐที่ถูกนำไปเลี้ยงในสวนสัตว์บ้าง ในธรรมชาติบ้าง ช่วงทศวรรษ 1920 เหลืออยู่ประมาณ 1,500 ตัว
ปัจจุบันสวนสัตว์เชียงใหม่มีอยู่จำนวน 5 ตัว เข้ามาชมและศึกษาได้ครับ นิลกายถือเป็นสัตว์โบราณจากพาราณสีผู้ใดพบเห็นถือว่าโชดดีครับ
ขอบคุณภาพ/ข่าว นิพนธ์ วิชัยรัตน์ ผู้ช่วยสวนสัตว์เชียงใหม่