ผู้เขียน หัวข้อ: ผักกุ่ม ผักสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กินอร่อย  (อ่าน 3239 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ สุบิน

  • เทพ
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 2334
    646
    • อีเมล์



ผักกุ่ม เป็นผักพื้นบ้านที่คนไทยและประเทศเพื่อนบ้านเรา เช่น พม่า เขมร ลาว มาเลย์ กินเป็นอาหารและใช้เป็นยามานานนับพันปี ชนชาติหนึ่งที่จะขาดผักกุ่มเสียมิได้คือ “คนไทยใหญ่” คำว่า “กุ่ม” ของคนไทยใหญ่นั้นหากใช้เป็นคำในภาษาไทยภาคกลางก็จะหมายถึงคำว่า “คุ้ม” ดังนั้นโดยนัยแห่งความหมายของต้นกุ่มนี้ จึงหมายถึง คุ้มทั้งปี คุ้มกิน คุ้มใช้ ไม่อดอยาก หรือมีผู้คุ้มครอง ดังนั้นผักกุ่มจึงถือเป็นไม้มงคลที่คนไทยใหญ่ใช้ในงานมงคลต่างๆ ไม่ว่างานขึ้นบ้านใหม่ งานแต่งงาน โดยเฉพาะงานปอยส่างลอง

งานปอยส่างลองเป็นงานบวชเณรลูกแก้ว จัดช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นประเพณีทางศาสนาที่สวยงามมาก โดยจะมีการแต่งองค์ทรงเครื่องของผู้ที่เตรียมตัวจะบวชเณรงดงามราวกับเจ้าชาย และมีการจัดซุ้มเฉลิมฉลองเป็นเวลาหลายวันก่อนบวชเณร ในงานนี้จำเป็นต้องมีผักกุ่มให้ได้ ต่อให้ช่วงนั้นราคาแพงแค่ไหนคนไทยใหญ่ก็ยอมจ่าย และยังเชื่อว่าการกินผักกุ่มดองในเดือนสี่ ขึ้นสิบห้าค่ำจะทำให้ ”คุ้มไปทั้งปีไม่เจ็บไม่ป่วย” การกินผักกุ่มในเดือนสี่นี้ก็เพื่อช่วยให้ร่างกายแข็งแรง มีความพร้อมก่อนเข้าสู่ฤดูทำไร่ไถนาในหน้าฝนที่กำลังจะเข้าเยือนนั่นเอง

คนไทยใหญ่ยังนิยมหักเอากิ่งพร้อมทั้งก้านและใบใส่ในยุ้งข้าวเพื่อให้ข้าวในยุ้งฉางพอกินคุ้มทั้งปี วิธีการคือนำใบบอน (คนไทยใหญ่จะเรียกบอนว่า ”หวอน”) เอามาทำเป็นหมอนหนุนแล้วค่อยวางกิ่งก้านใบผักกุ่มไว้บนหมอนใบบอน ก่อนนำข้าวเปลือกมาใส่ยุ้งฉาง เมื่อนำข้าวเปลือกมาใส่ในยุ้งฉางเสร็จแล้วก็จะบอกว่า “ขอให้คุ้มทั้งปี”

ผักกุ่มเป็นไม้มงคลของคนไทยใหญ่ที่นิยมปลูกไว้ในบ้าน โดยเชื่อว่าจะคุ้มกินคุ้มใช้ไม่ขาดเหลือ ซึ่งความเชื่อนี้คล้ายกับคนไทยบ้านเราที่ถือว่าผักกุ่มเป็นไม้มงคลเช่นกัน โดยนิยมปลูกในทิศตะวันตกเชื่อว่าจะทำให้ครอบครัวมีฐานะ มีเงินเป็นกลุ่มเป็นก้อนดั่งชื่อของต้นไม้


คู่หู ผู้พิชิตโรคภัย
ต้นกุ่ม มี ๒ ชนิดคือ ต้นกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crateva adansonii DC.subsp.trifoliata (Roxb.) Jacobs และ ต้นกุ่มน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crateva magna (Lour.) DC. และ Crateva Religiosa Forst.f. คนไทยสมัยก่อนนิยมกินเป็นอาหารและใช้เป็นยารักษาโรค โดยนำใบอ่อนและดอกอ่อนที่ออกในช่วงฤดูฝน มาดอง ต้ม นึ่ง หมกก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน กุ่มทั้งสองมีสรรพคุณทางยาเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สรรพคุณที่กล่าวไว้ในตำรายาไทยคือ

เปลือก...ใช้เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง คุมธาตุ ขับผายลม ขับน้ำดี ขับนิ่ว แก้บวม แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาท และยาบำรุง
แก่น...ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว บำรุงเลือด
ราก...ใช้ขับหนอง บำรุงธาตุ
ใบ...ใช้ขับลม เจริญอาหาร ขับเหงื่อ ฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนังและกลากเกลื้อน แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ เจริญอาหาร
ดอก...เป็นยาเจริญอาหาร แก้เจ็บคอ แก้ไข้

กุ่มบก ในหลายพื้นที่จะเรียก ผักก่าม เป็นไม้ดั้งเดิมของประเทศในย่านเอเชียและแอฟริกาทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตอบอุ่น ชอบขึ้นใกล้ๆ ริมห้วยหนอง คลองบึง ชอบแสงมาก การขยายพันธุ์ใช้เมล็ดเพาะหรือใช้ไหลที่แตกขึ้นจากรากของต้นใหญ่ก็ได้ ตามปกติกุ่มบกเป็นไม้เตี้ยๆ กิ่งออกต่ำมาก มักจะทอดนอนขนานกับพื้นเหมือนราวตากผ้า จึงเหมาะแก่การที่จะแขวนของไว้ในระหว่างพักการเดินทางในป่าได้เป็นอย่างดี เปลือกกุ่มก็เรียบค่อนข้างออกสีขาว ดูสะอาดตาน่าใช้ ความที่กุ่มเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบแสงแดดมาก บริเวณนั้นจึงโปร่งมีแดดเพียงพอช่วยทำให้ของที่แขวนไว้แห้งเร็วทันใจ

ตามพุทธประวัติเล่าไว้ว่า พระพุทธเจ้านำผ้าบังสุกุลที่ห่อศพ นางมณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็เสด็จมาตากผ้าบังสุกุลดังกล่าว พฤกษเทวา ซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลง เพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

ส่วนกุ่มน้ำจะพบตามชายแม่น้ำลำคลองทั่วไป แตกต่างไปจากกุ่มบกตรงที่ปลายใบของกุ่มน้ำนั้นเรียวแหลมใบสอบแคบๆ


ผักกุ่ม เป็นยา
ผักกุ่มเป็นสมุนไพรที่มีรสร้อน ช่วยในการไหลเวียนของเลือด บำรุงเลือดลมสตรี กุ่มทั้งสองจึงเป็นส่วนผสมในตำรับยาไทยหลายตำรับ อาทิเช่น ตำรับยาแก้โลหิตเสีย ตำรับยาแก้อัมพาต มือเท้าตาย แก้มือเท้าเย็น ตำรับยาแก้ลม ยาหอม ตำรับยาแก้กษัยปู ตำรับยาแก้กษัย ตำรับยาแก้ปวดหลัง ตำรับยาแก้โรคปัสสาวะสตรี เป็นต้น

ยาบำรุงร่างกาย ชะลอความแก่
นอกจากชนชาติไทยใหญ่ที่เห็นผักกุ่มเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคือต้องกินให้ได้ในทุกงานมงคลแล้ว ผักกุ่มยังเป็นสมุนไพรที่หมออายุรเวทโบราณนิยมใช้เป็นยาภายในเพื่อทำให้เลือดบริสุทธิ์ ช่วยในการรักษาสมดุลของระบบไหลเวียนของเลือด คนเนปาลเชื่อว่าใบของผักกุ่มมีสรรพคุณในการขับพยาธิและบำรุงร่างกาย ส่วนหมอยาไทยใช้เปลือกผักกุ่มทำเป็นผงกินกับน้ำผึ้งเป็นยาต้านความชรา แก้อาการเหน็บชา ทำให้สายตาแจ่มใส

ยาบำรุงระบบทางเดินปัสสาวะ ลดบวม
หมอยาพื้นบ้านไทย นิยมใช้เปลือกกุ่มเข้ายารักษาโรคปัสสาวะสตรี แก้กษัย แก้นิ่ว ขับปัสสาวะ ลดอาการบวม ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ของอินเดียและเนปาล ที่ใช้เปลือกกุ่มสำหรับปัญหาของระบบขับถ่ายปัสสาวะ ช่วยทำให้การทำงานของกระเพาะปัสสาวะ (bladder) และกล้ามเนื้อหูรูดมีแรงบีบตัว และช่วยรักษาอาการหนาวสั่นจากประจำเดือนไม่ปกติ หรือระบบทางเดินปัสสาวะไม่ปกติ ลดอาการบวม ปัจจุบันมีงานศึกษาวิจัยพบว่าผักกุ่มทำให้แรงบีบของกระเพาะปัสสาวะ (bladder tone) และการทำงานของระบบขับปัสสาวะดีขึ้น

ยาแก้นิ่ว
ในบรรดาหมอพื้นบ้านไทย อินเดียและเนปาลต่างใช้ต้นกุ่มทั้งในส่วนของเปลือกและแก่นมาใช้รักษานิ่วในไต ซึ่งอาจจะเป็นผลจากการที่ต้นกุ่มมีฤทธิ์ขับปัสสาวะและยังยับยั้งการก่อตัวเป็นก้อนนิ่วชนิดนิ่วด่าง(inhibited phosphatic stone formation)

สมุนไพรช่วยผู้ป่วยเบาหวาน
สรรพคุณของผักกุ่มใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคเบาหวานอาจไม่ค่อยแพร่หลายนัก แต่แม่เฒ่าชาวไทยใหญ่ที่ผ่านภัยสงครามในรัฐฉานเล่าว่า มีการใช้เปลือกต้นกุ่มต้มกินต่างน้ำจะช่วยคุมน้ำตาลในผู้ป่วยเบาหวานได้ จึงน่าสนใจและมีประโยชน์เพราะผักกุ่มช่วยในการไหลเวียนของเลือด

ยอดยาสำหรับระบบทางเดินอาหาร
ผักกุ่มจัดว่าเป็นยาร้อนจึงช่วยบำรุงธาตุไฟที่ใช้ในการย่อยอาหาร ช่วยขับลม ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายเป็นปกติ ช่วยในเรื่องการหลั่งน้ำดี ช่วยทำให้เจริญอาหาร

แก้อักเสบ แก้ปวดบวม
ผักกุ่มนับเป็นสมุนไพรที่ไม่เคยขาดในตำรับยาที่ใช้ในการประคบ พอก เพื่อแก้อักเสบ แก้ปวดเมื่อย ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาต โรครูมาติก นิยมใช้ใบและเปลือกผสมกับสมุนไพรอื่นๆ หรือจะใช้ตัวเดียวก็ได้ ซึ่งการศึกษาวิจัยฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาพบว่า ผักกุ่มมีฤทธิ์แก้อักเสบ แก้ข้อเข่าอักเสบ แก้ไข้


ผักกุ่ม ผักสุขภาพ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่กินอร่อย
ใบกุ่มและกิ่งมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์เป็นพิษได้เมื่อกินสด ดังนั้นจึงต้องดอง นึ่ง หมกหรือต้ม เพื่อทำลายสารดังกล่าว ชาวบ้านจึงมีวิธีการกินผักกุ่มที่หลากหลาย อาทิเช่น นำไปหมกทรายไว้ ๔-๕ วัน คนเมืองเลยเคยเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเวลาไปเลี้ยงควายแถวห้วยจะเอายอดผักกุ่มไปหมกทรายไว้ แล้วอีกสี่ห้าวันจึงไปเอาขึ้นมากินอร่อยมาก

นอกจากนี้ผักกุ่มยังทำเป็นห่อหมกได้ด้วย โดยนำมานึ่งหรือต้มผักกุ่มให้เปื่อย นำมาตำแล้วคั้นน้ำย่านางใส่ลงไป เสร็จแล้วนำไปผสมกับไข่ไก่ ปลาหรือเนื้อก็ได้ คนให้เข้ากัน จากนั้นนำไปห่อใบตองหมกกินอร่อยมาก

นอกจากนี้ยังมีบางพื้นที่อ่อมผักกุ่ม โดยทำคล้ายกับแกงขี้เหล็กด้วยการนำมาต้มคั้นน้ำทิ้งสัก ๑-๒ ครั้งเพื่อลดความขม และปรุงรสด้วยข่าอ่อน ตะไคร้ น้ำปลาร้า น้ำปลา เกลือ ข้าวสารเล็กน้อย ใบแมงลัก ผักชีฝรั่ง ถ้าใส่น้ำคั้นใบย่านางลงไปด้วยจะทำให้ผักกุ่มจืดเร็วไม่ขมมาก ส่วนชาวเหนือมีการนำยอดผักกุ่มมาเผาและแกล้มลาบกิน

วิธีที่นิยมมากที่สุดในการรับประทานผักกุ่มคือการดอง ใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริกหรือป่นปลาน้ำพริก หรือปรุงเป็นอาหารโดยนำไปผัดหรือแกงก็ได้ ส่วนชาวใต้นำผักกุ่มดองไปรับประทานกับขนมจีนน้ำยา

ประโยชน์ต่อสุขภาพ
ใบผักกุ่มรสขมร้อน ใบผักกุ่มดอง ๑๐๐ กรัม ให้พลังงาน ๘๘ กิโลแคลอรี่ ประกอบด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายคือ เส้นใย ๔.๙ กรัม แคลเซียม ๑๒๔ มิลลิกรัม ฟอสฟอรัส ๒๐ มิลลิกรัม เหล็ก ๕.๓ มิลลิกรัม วิตามินเอ ๖๐๘๓ IU วิตามินบีหนึ่ง ๐.๐๘ มิลลิกรัม วิตามินบีสอง ๐.๒๕ มิลลิกรัม ไนอาซิน ๑.๕ มิลลิกรัม และวิตามินซี ๕ มิลลิกรัม


“ ผักกุ่ม...เป็นผักที่กินแล้วอร่อยมาก คุ้มค่า คุ้มเวลาที่ลงแรงไป เอามาเข้ายาก็ได้หลายตำรับ ใช้รักษาโรคต่างๆ ให้บรรเทาเบาบางลง เป็นต้นไม้ที่นำมาประกอบในพิธีมงคลต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่ใครๆ ต่างยกย่องว่า ผักกุ่ม คุ้มกิน คุ้มใช้ และคุ้มครองสุขภาพ ”


+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=4118

ออฟไลน์ chomm

  • เทพ
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 1688
    731

ไม่แน่ใจว่าจะเป็นผักกุ่มที่ทางอิสาณเอามาทำเหมือนผักดองรึป่าวคะ

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=4118