........การมีน้ำหนักที่เหมาะสมเป็นหนทางสำคัญที่จะทำให้คุณมีสุขภาพแข็งแรง และลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพต่างๆในระยะยาวได้
คุณมีน้ำหนักที่เหมาะสมหรือไม่?
สามารถใช้การวัดดัชนีมวลกาย(Body mass index; BMI) ซึ่งคำนวณได้จากการนำน้ำหนักในหน่วยกิโลกรัมหารด้วยความสูงในหน่วยเมตรยกกำลังสอง
ค่าปกติ(คนไทย)
น้อยกว่า 18.50 น้ำหนักน้อย/ผอม
ระหว่าง 18.50 - 22.9 ปกติ
ระหว่าง 23 - 24.90 ท้วม
ระหว่าง 25 - 29.90 อ้วน
มากกว่า 30 อ้วนมาก
........ในค่า BMI ตั้งแต่ 23 ขึ้นไปนั้น คุณควรวางแผนที่จะลดน้ำหนักเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงต่างๆ ทั้งนี้ดัชนีมวลกายจะไม่สามารถใช้ในเด็กเล็ก สตรีตั้งครรภ์ และนักกีฬาที่มีกล้ามเนื้อมากๆ
การวัดรอบเอว
การมีรอบเอวมากกว่าปกติ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ, โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง โดยใช้เกณฑ์เส้นรอบเอวของคนเอเชีย(NCEP ATPIII) คือ > 90 ซม.หรือ 36นิ้วในผู้ชาย และ > 80 ซม.หรือ 32 นิ้วในผู้หญิง
ทำอย่างไรให้มีน้ำหนักที่เหมาะสม
1. มีน้ำหนักที่เหมาะสมอยู่แล้ว – กินอาหารให้เหมาะสม และออกกำลังกาย (ตาม WHO แนะนำให้ผู้ใหญ่ออกกำลังกายในระดับปานกลางเป็นเวลา 150 นาทีต่ออาทิตย์ หมายถึงต้องออกกำลังกายระดับปานกลางครั้งละ 30 นาทีอย่างน้อย 5 วันต่ออาทิตย์)
2. มีน้ำหนักมากเกินเกณฑ์ (อ้วน) –กินอาหารให้น้อยลง และออกกำลังกาย (ออกกำลังกายตาม WHO แนะนำเช่นกัน แต่ค่อยๆเพิ่มความแรงของการออกกำลังกายจนได้ตามเป้า: ระดับปานกลาง 150 นาทีต่ออาทิตย์)
3. มีน้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ (ผอม) – หากมีอาการผิดปกติร่วมด้วย อาจต้องพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา เพราะ อาจเกิดจากโรคเรื้อรัง หรือโรคทางระบบประสาทได้ แต่หากคุณเป็นคนที่จำกัดการกินอาหารมากนั้น อาจทำให้ขาดวิตามิน และแร่ธาตุที่ร่างกายต้องการได้