ผู้เขียน หัวข้อ: 6 วิถีใช้ชีวิตให้อยู่รอดแข็งแรง ผ่านร่องมรสุม  (อ่าน 1918 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ แมวดำ

  • ปรมาจารย์
  • ***
  • ออฟไลน์
  • 333
    519
  • เพศ: ชาย
  • ชนใดไม่มีดนตรีกาล ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
    • @pump_upp - best crypto pumps on telegram !
    • อีเมล์


..... เหลือบตาดูฟ้า เงี่ยหูฟังเสียงอึ่งอ่างร้อง ก็เห็นพ้องว่าช่วงนี้ยังมีฝนส่งท้ายหนักอยู่ แม้จะดูเป็นปลายปีที่หลายแห่งในโลกผลัดเปลี่ยนฤดูไปแล้วก็ตาม แต่ความชุ่มชื่นก็ยังส่งท้ายให้คนไทยอยู่
       
       ขอให้พระพิรุณท่านไปฝากรักไว้เหนือเขื่อนบ้างเถิดครับ (เพี้ยง)
       
       สำหรับตัวผมเองในหน้านี้ก็พบเจอปรากฏการณ์ทุกแบบที่ตามมาของฝนฟ้าแปรปรวนเช่นเดียวกับท่านทั้งรถติด, น้ำท่วมซอย และเปียกปอนด้วยในบางวัน ซึ่งลำพังตัวเองยังไม่พอเป็นไรมาก แต่นึกห่วงไปถึงผู้ใหญ่ที่หลายท่านโดนละอองฝนแล้วทำท่าจะเป็นไข้หัวลมเอา
       
       ตื่นเช้ามาหลังจากฟังเสียงอึ่งอ่างปลุกแล้วก็ต้องลงไปดูระดับน้ำหน้าบ้านครับ ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าผมไม่เชื่อถืออึ่งอ่างนะครับ แม้ว่าอึ่งอ่างจะสติปัญญาไม่สูงนักไม่ได้จบแม้กระทั่งอนุบาลอึ่ง หากแต่เป็นเพราะปากซอย 20 มิถุนาหน้าบ้านผมในบางเพลาก็มีสภาพน่าเห่เรือดังเช่นในหน้านี้
       
       แล้วเหตุที่ต้องไปดูก่อนก็เพราะคุณแม่ครับ
       
       ท่านชอบเดินออกไปกวาดน้ำที่ขังลานหน้าบ้าน เลยต้องคอยแย่งหน้าที่มาทำเอง จนคุ้นชินกับกลิ่นฝน และละอองน้ำที่เย็นพอชื่นใจในช่วงเช้าๆ
       
       ส่วนท่านที่ไวต่อความเจ็บไข้ไม่สบายก็ขอให้เลี่ยงอย่าไปถูกความชื้นจะดีกว่าครับ แม้จะรักเสียงอึ่งอ่างแค่ไหนก็ไม่ควรไปเปียกฝนบ่อยๆ เกรงจะไม่สบายเอา ส่วนท่านที่อยากจะป้องกันความเสี่ยงไว้ให้เหนือกว่านั้นก็มีวิธีดีๆ ที่ทำได้เองมาฝากกัน
       
       >>เป็นเทคนิคง่ายๆ เผื่อไว้ให้ในโค้งสุดท้ายแห่งร่องมรสุมครับ

      1) ฉีดวัคซีนกันไว้
       
       แม้วัคซีนกันมรสุมจะไม่มีแต่ชนิดที่กันไข้หวัดใหญ่มีส่วนช่วยท่านได้ ทำให้ชีวิตง่ายขึ้นเพราะถ้าเป็นหวัดขึ้นมาในหน้านี้คงไม่ค่อยโสภานัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับท่านที่มีโรคหัวใจ, โรคปอด, เบาหวาน, อาการถุงลมโป่งพอง, สูงวัย หรือไม่ต้องมีโรคอะไรแต่อยากป้องกันไว้ก็ได้
       
       ซึ่งถ้าเมื่อไรหาจังหวะชีวิตดีแข็งแรงไม่มีไข้ ก็ขอให้ไปตามล่าหาวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาฉีดไว้ เป็นศิริมงคลแก่สุขภาพหน้ามรสุมครับ
       
       2) เตรียมเสื้อกันฝนพับได้
       
       เสื้อกันฝนเป็นอุปกรณ์ยังชีพที่สำคัญช่วงหน้าฝนมาฟ้ารั่วนี้ แม้จะมีแนวโน้มที่จะโบกมือลาน่านฟ้าเมืองไทยแล้ว แต่ก็ยังเอาแน่ไม่ได้คล้ายกับวัยฮอร์โมน ดังนั้นการมีเสื้อฝนสำเร็จรูปพับได้พกไว้จะช่วยให้ท่านไม่ต้องทุกข์ระทมนักเวลาที่ต้องนั่งพี่วินกลับบ้าน หรือผ่านไปในที่ที่ลมแรงจนร่มต้านไม่อยู่
       
       นอกจากนั้นเสื้อกันฝนยังช่วยให้แก็ดเจ็ตอันมีค่าทั้งหลายคือ มือถือรุ่นใหม่, แท็บเล็ตตัวล่า, นาฬิกา และกระเป๋าที่น่ารักต้องตกอยู่ในความเสี่ยงด้วยครับ

      3) พกผ้าหรือกระดาษชำระไว้
       
       มีติดกระเป๋าไว้จะช่วยท่านได้มากเมื่อถึงเวลาครับ ขอให้ท่านที่รักลองนึกสภาพเวลาที่ถนนมีน้ำเจิ่งนองแล้วเราต้องเดินกายกรรมหลบสายน้ำที่กระเซ็นเข้ามาเป็นระลอก หรือในบางขณะที่ตัวเราถูกละอองฝนจนเปียกผมไหลย้อยเข้าตา
       
       ถ้าท่านที่มีผ้าสะอาดไว้ก็จะช่วยให้ไม่เสี่ยงกับโรคผิวหนัง, ตาแดง, ไวรัสหวัด หรือแม้แต่ท้องเสียก็ยังได้ ซ้ำถ้ามีเด็กๆ หรือมนุษย์ร่วมฟ้าเดียวกันกับท่านอยู่ใกล้ๆ ยังอาจช่วยเขาได้ด้วยครับ

        4) ล้างมือให้บ่อย
       
       เพราะมือที่เปียกน้ำหรือความชื้นแฉะเป็นสื่อแพร่โรคจากตัวท่านหรือพาเชื้อโรคมาหาท่านก็ได้ครับ ดังนั้นการไอ, จาม หรือเช็ดน้ำมูก ขอให้ตามมาด้วยการล้างมือ
       
       ซึ่งถ้าท่านที่รักไม่สะดวกทุกครั้งผมก็เข้าใจครับ ขอแค่ให้ช่วงที่ไม่ได้ล้างมือนี้อย่าเพิ่งไปสัมผัสกับใครอื่นหรือเอาขึ้นมาป้ายหน้าปะจมูกตัวเองเท่านั้นครับ
          5) ยาง่ายๆ ช่วยบรรเทาหวัดได้
       
       ถ้ามีน้ำมูกพอรำคาญแต่ไม่อยากให้รบกวนชีวิตนักจะใช้ยาลดน้ำมูกง่ายๆ อย่าง “คลอเฟนิรามีน” ที่กินแล้วง่วงก็ช่วยได้ครับ
       
       สำหรับอาการไข้รุมๆ เริ่มๆ อาจหาพาราเซตามอล หรือไทลีนอลมารับประทานไว้ให้สบายตัว ไม่หนักหัวนัก แล้วอย่าลืมยาดีที่สุดคือ “พักให้เยอะ” ครับ
       
       6) เตรียมแตะและเสื้อแห้ง
       
       ขอให้หาถุงเท้าหรือถ้าให้ดีมีรองเท้าแตะติดที่ทำงานไว้ให้ความสำคัญประหนึ่งติดร่มไว้ก็ดีครับ เพราะถุงเท้าแห้งใหม่ๆ จะช่วยเสริมสร้างคุณภาพให้กับเท้าน้อยๆ ของท่านได้ เพราะการปล่อยให้เท้าเปียกชื้นนานจะเป็นการเสริมสร้างโอกาสให้เชื้อโรคน้ำกัดเท้ามาลงหลักปักฐานจนคันเป็นลิงได้
       
       ส่วนเสื้อยืดแห้งๆ ที่พกไว้ ก็จะช่วยให้ท่านไม่ต้องจมอยู่กับความชื้นทั้งกายและใจทำให้เสี่ยงไม่บรรจง เอ๊ย…หวัดครับ
       
       ที่เล่ามาเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงสุขภาพในช่วงหน้าที่ฝนฟ้าตกหนักในหลายที่จนน้ำขัง ซึ่งยังต้องอาศัยท่านช่วยดูแลภูมิชีวิตให้แข็งแรงด้วยอีกแรงหนึ่ง เพราะคนเราเมื่อแข็งแรงเสียแล้วก็ยากที่จะอ่อนไหวต่อลมฟ้าอากาศใดๆ       
       แถมยังจะช่วยคนอื่นๆ รอบตัวได้อีกด้วยครับ

บทความเกี่ยวกับสุขภาพ โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ขอขอบคุณอย่างสูง นะคะ


ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=34645