โรคเบาหวาน
เบาหวาน จัดเป็นโรคชนิดหนึ่งที่เกิดจากความไม่สมดุลของปริมาณ อาหารประเภทคาร์โบไฮเดรท (อาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล) ที่รับประทานเข้าไปในร่างกายกับปริมาณของฮอร์โมนอินซูลิน ในภาวะปกติ ฮอร์โมนอินซูลิน ถูกหลั่งออกมาจากต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อน เมื่อมีน้ำตาลเพิ่มขึ้นในเลือด เพื่อทำให้ร่างกายใช้น้ำตาล ที่ได้มาจากอาหารให้เป็นพลังงานภายในเซลล์ เมื่อปริมาณของฮอร์โมนอินซูลิน ไม่สมดุลกับอาหารกลุ่มแป้งและน้ำตาล ที่รับประทานเข้าไป ร่างกายนำน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ดี จึงเกิดโรคเบาหวานขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดความไม่สมดุลดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด มีการศึกษาที่ชี้แนะว่า เป็นผลจากพันธุกรรมหรือ เกิดจากโรคติดเชื้อไวรัสบางชนิดทำลายต่อมไร้ท่อ ที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน หาใช่มีต้นเหตุมาจากการกินน้ำตาลมากเกินไป ดังที่หลายคนเข้าใจกัน (แต่การกินของหวาน ทำให้ร่างกายควบคุมระดับน้ำตาลยากขึ้น) ในระยะแรกเริ่มที่ เกิดความไม่สมดุล ร่างกายของผู้นั้นจะปรับตนเองโดยอัตโนมัติ โดยผู้นั้นไม่รู้ตัวและยังไม่แสดงอาการออกมา จนกว่าความไม่สมดุลนี้ มีมากเกินกว่าความสามารถ ในการปรับตัวของร่างกายผู้นั้น จะทำได้ ผู้นั้นจะค่อยๆ แสดงอาการ ของโรคเบาหวานออกมา จนกระทั่งมีอาการครบทุกรูปแบบ ดังนั้นกว่าผู้นั้นจะแสดงอาการ ออกมาให้เห็นชัดว่าเป็นโรคเบาหวาน โรคได้เกิดขึ้นก่อนแล้ว นานหลายเดือนหรืออาจจะเป็นปีๆ แต่ยังไม่มีข้อมูลว่า การเข้าไปแก้ไขหรือรักษา ตั้งแต่ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการชัดเจน จะเกิดประโยชน์ที่เด่นชัด และดีกว่าการเข้าไปรักษาโรค ในระยะที่มีอาการแล้วหรือไม่ จึงยังไม่มีการตรวจค้นหา ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน ในระยะที่ยังไม่แสดงอาการทั้งๆ ที่เรามีวิธีการทดสอบอยู่แล้ว หากในอนาคตมีวิธีการรักษาใหม่ๆ ในระยะที่ยังไม่มีอาการ และสามารถรักษาโรคให้หายขาด หรือหยุดยั้งการดำเนินโรคไว้ที่ตรงนั้นได้ ก็อาจจะมีการตรวจค้นหา ผู้ที่ยังไม่แสดงอาการ เพื่อให้การรักษาดังกล่าวได้ ดังนั้น ชีวิตของผู้ที่เป็นโรคเบาหวานสามารถ แบ่งออกเป็นระยะต่างๆ ดังนี้คือ
ระยะที่หนึ่ง คือ ระยะเวลาตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์จนถึงหลังคลอด
ระยะที่สอง คือ ระยะเวลาหลังคลอด จนถึงระยะเวลาที่ตรวจพบว่า เริ่มเกิดความไม่สมดุล แต่ผู้นั้นยังไม่มีอาการของเบาหวาน การแบ่งออกเป็นระยะที่หนึ่งและสอง ยังไม่มีความสำคัญในขณะนี้ เพราะยังไม่มีการรักษาใดๆ ในปัจจุบัน
ระยะที่สาม คือ ระยะเวลาที่ตรวจพบว่า เกิดความไม่สมดุล และไม่มีอาการ จนถึงผู้นั้นเริ่มมีอาการของโรคเบาหวาน
ระยะที่สี่ คือ ระยะเวลาที่ผู้นั้นมีอาการของโรคเบาหวาน ไปจนถึงหายจากโรค
ระยะที่ห้า คือ ระยะที่หายจากโรคเบาหวานจนถึงแก่กรรม
ปัจจุบันเราพบผู้ป่วยและรักษาโรคเบาหวานในระยะที่สี่ ซึ่งเป็นระยะเวลา ที่ผู้ป่วยมาหาแพทย์ โรคเบาหวานไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความผิดปกติ ของระดับน้ำตาลในเลือดเท่านั้น แต่ยังทำให้ระบบประสาท และหลอดเลือดเสื่อมเร็วกว่าปกติ การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ ไม่สามารถแก้ไขความเสื่อมของระบบประสาท และหลอดเลือดที่เสื่อมไปแล้วได้ นักวิทยาศาสตร์หลายท่าน จึงตั้งสมมติฐานว่า ถ้ามีการรักษาโรคเบาหวาน ตั้งแต่แรกเริ่มที่ยังไม่มีอาการ อาจจะป้องกันการเสื่อม ของระบบประสาทและหลอดเลือดได้ ถ้าในอนาคตมีวิธีการรักษาดังกล่าว และป้องกันความเสื่อมได้จริง เราอาจจะมีวิธีการรักษาหรือควบคุมโรคเบาหวาน ตั้งแต่ผู้นั้นเป็นทารกในครรภ์มารดาเลยก็ได้ หากทำได้จะเป็นการป้องกัน ผู้นั้นไม่ ให้มีโอกาสแสดงอาการของโรคเบาหวาน หรือยืดเวลาที่ไม่แสดงโรคเบาหวานออกไป (ระยะที่สองและสาม) หรือลดความรุนแรงของโรคเบาหวาน ถ้าโรคจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต ในส่วนที่ประชาชนทั่วไปทำได้เองในขณะนี้คือ การออกกำลังกาย และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในสมดุล ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่อยู่ในระยะที่สอง จนถึงระยะที่สี่และระยะที่ห้าของชีวิต ให้ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในท้ายบทความเกี่ยวกับ การออกกำลังกายและน้ำหนักที่อยู่ในสมดุล
โรคเบาหวานพบได้ในประชากรไทยตั้งแต่ร้อยละ ๓ ถึง ๑๐ แล้วแต่พื้นที่และภาวะโภชนาการ โรคนี้พบได้ทั้งสองเพศ มักพบในวัยกลางคน แต่สามารถพบได้ตั้งแต่เด็กจนถึงผู้เข้าสู่วัยทอง ใน อดีต ที่ประเทศไทยยังเป็นประเทศด้อยพัฒนา โรคเบาหวานจะพบได้ ประมาณร้อยละ ๑-๔ เท่านั้น โรค เบาหวานมี ๒ ประเภท
ประเภทที่หนึ่ง เกิดจากร่างกายขาดอินซูลิน เพราะต่อมสร้างอินซูลินที่ตับอ่อนถูกทำลาย
ประเภทที่สอง ไม่ได้เกิดจากการ ขาดอินซูลิน แต่ร่างกายอาจจะ มีอินซูลินเพิ่มขึ้นในร่างกายแต่ ก็ยังเป็นโรค เบาหวาน เพราะความผิดปกติเริ่มจาก ปัจจัยหรือสารบางอย่างทำให้ ร่างกายไม่สามารถใช้อาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลให้เป็นพลังงานได้ตามปกติ น้ำตาลจึงสะสมเพิ่มขึ้นในร่างกาย และร่างกายต้องหลั่งอินซูลินเพิ่ม ตามระดับน้ำตาล เพื่อพยายามแก้ไขภาวะการที่ไม่สามารถใช้น้ำตาล ให้เป็นพลังงานได้ อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อต่อมผลิตอินซูลินจนผลิตเพิ่ม ไม่ไหวแล้ว อาการของโรคเบาหวานจึงแสดงออกมา
โรคเบาหวานประเภทที่สอง เป็นประเภทที่พบบ่อยกว่าประเภทแรก ปัจจัยภายนอกบางอย่างที่ขัดขวาง หรือลดประสิทธิภาพของอินซูลิน ในการใช้น้ำตาลให้เป็นพลังงานได้แก่ การกินอาหารที่อุดมสมบูรณ์มากเกินพอ สภาพการทำงานของคนในกรุงเทพ ที่เป็นแบบนั่งอยู่ในสำนักงาน และขาดการออกกำลังกาย การมีความเครียดด้านจิตใจเพิ่มขึ้น จากเรื่องต่างๆ ทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่ผู้นั้นไม่สามารถแก้ไขได้ การที่ผู้ป่วยได้รับยาที่ต้านฤทธิ์ของอินซูลิน เป็นต้น ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ ล้วนส่งเสริมให้เป็นโรคเบาหวานประเภทที่สองได้ง่ายขึ้น อาการนำ ๓ อย่างที่พบบ่อย ของ ผู้ที่เป็น โรค เบาหวานได้แก่ ปัสสาวะบ่อย ดื่มน้ำบ่อย แต่ ผอมลง หรือ น้ำหนักลด ผู้ป่วยยัง กินอาหารได้ หรือกินเก่งขึ้น บางรายอ้วนขึ้นก่อนแล้วค่อยผอมลง แต่ผู้ป่วยจะรู้สึกผิดปกติและมาหาแพทย์ตอนน้ำหนักลด นอกจากนี้ จะมีอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยง่ายขึ้น การที่ถ่ายปัสสาวะบ่อยเพราะร่างกายใช้น้ำตาลในร่างกายไม่ได้ดี จึงมีน้ำตาลท่วมท้นในกระแสเลือดและน้ำตาลที่ท่วมท้นจะถูกขับออกมาในปัสสาวะ น้ำตาลที่ถูกขับออกมาในปัสสาวะ จะดึงน้ำตามออกมาในปัสสาวะด้วย จึงเป็นการเพิ่มปริมาณปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ใส และมีปริมาณมาก ซึ่งแตกต่างจากโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ ที่ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะบ่อยแต่มีจำนวนน้อย และปัสสาวะขุ่น บางครั้งจึง มีมดมาตอมน้ำตาลในปัสสาวะ คนปกติจะไม่มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะเลย การสูญเสียปริมาณ น้ำปัสสาวะมากทำให้หิวน้ำบ่อยและต้องดื่มน้ำชดเชยบ่อยขึ้น น้ำหนักลดเพราะร่างกายใช้น้ำตาลเป็นพลังงานไม่ได้และ น้ำตาลสูญเปล่า เพราะถูกขับออกมาทางปัสสาวะ ร่างกายจึงต้องไปดึงไขมัน และโปรตีนในร่างกาย มาเผาผลาญเป็นพลังงานแทน ร่างกายจึงผอมลง การถ่ายปัสสาวะบ่อยและมีปริมาณมาก ทำให้มีการสูญเสียเกลือแร่ออกนอกร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียง่ายขึ้น ถ้าผู้ป่วยไม่รักษาจะเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่รุนแรงจนถึงแก่ชีวิตได้
ภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เรื้อรังและเกิดขึ้นช้าๆ ได้แก่ ความผิดปกติใน การทำงานของระบบประสาท โดยเฉพาะการรับรู้ความรู้สึก และหลอดเลือดแดง ผู้ป่วยเบาหวานจะมีเท้าชา รับรู้ความรู้สึกเจ็บและการสัมผัสลดลง โดยเฉพาะที่ปลายมือปลายเท้า ส่วนผิวในของหลอดเลือดแดงขนาดเล็ก จะเสื่อมเร็วขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงขนาดเล็กตีบหรือตันง่ายขึ้น ระบบการแข็งตัวของเลือดจะทำให้เลือดแข็งตัวง่ายขึ้นด้วย ปัจจัยทั้งสอง จะส่งเสริมให้หลอดเลือดแดงตีบหรือตันง่ายขึ้น เลือดจึงไปเลี้ยงที่อวัยวะต่างๆ ลดลง และบางครั้งมีการอุดตันของหลอดเลือดแบบฉับพลันได้ จึงเกิดโรคที่เป็นจากผลจากอวัยวะขาดเลือดฉับพลันซึ่งได้แก่เนื้อตายในอวัยวะนั้น ถ้าเกิดที่หลอดเลือดแดงที่ไปหล่อเลี้ยง สมอง หัวใจ ไต ผลร้ายก็คือ ทำให้ผู้ป่วยเกิดโรคอัมพาตของแขนขา หรืออัมพาตครึ่งซีกหรือหมดสติ หรือเกิดอาการแน่นหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจวายฉับพลัน ไตพิการเรื้อรัง เป็นต้น ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะค่อยๆ เกิดขึ้นและมีผลให้เกิดผลร้ายซ้ำเติมตามมาอีก ที่สำคัญคือ แผลเบาหวาน และติดเชื้อ ต้อกระจก และอวัยวะปลายทางขาดเลือด เป็นต้น
แผลเบาหวาน เป็นภาวะซ้ำเติมที่รู้จักกันดีทั้งในหมู่แพทย์ พยาบาลและผู้ป่วย แต่การดูแลรักษาแผลเบาหวานมักจะไม่ถูกต้อง ตั้งแต่แรกหรือให้การรักษาช้าเกินไป ผลร้ายที่ตามมาคือ ต้องตัดนิ้วหรือตัดเท้าหรือตัดขาส่วนล่างระดับหน้าแข้งลงไป หรือตัดขาทิ้งตั้งแต่ขาท่อนบนลงมา ผลร้ายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นอีกในยุคปัจจุบัน เพราะเรามียาและวิธีรักษาที่ดีมาก ที่จะรักษาโรคให้หายขาดตั้งแต่เริ่มต้น ผู้ป่วยเบาหวานต้องดูเท้าตนเองทุกวันว่า มีแผลเกิดขึ้นหรือไม่ ดูให้เห็นชัดๆ ว่า ไม่มีแผลเพราะผู้ป่วยอาจจะมีต้อกระจกรวมอยู่ด้วย ทำให้เห็นไม่ชัด ถ้ารอให้เกิดความรู้สึกเจ็บที่แผล หรือมีไข้ก่อนแล้วค่อยไปหาแพทย์ ก็จะช้าไป ถ้ามีแผลเกิดขึ้นจากการมองเห็นด้วยสายตา ต้องหมั่นทำแผลให้สะอาด และให้แพทย์มาร่วมดูแลแผลด้วยตั้งแต่ต้น ผู้ป่วยหลายรายเชื่อ เรื่องการพอกแผลด้วยสมุนไพรที่บอกต่อๆ กันมา ขอแนะนำให้พบแพทย์ก่อนด้วย ไม่ควรใช้สมุนไพรรักษาตามลำพัง โดยไม่มีใครช่วยติดตามและประเมินผล โดยส่วนตัวไม่แนะนำให้ใช้สมุนไพรรักษาแผลเบาหวาน เพราะเห็นมาหลายรายแล้วว่า ไม่ได้ผล ทำให้พลาดโอกาสที่จะหายจากโรคโดยเร็ว บางครั้งเห็นมีแผลขนาดเล็กที่เท้าแต่มีไข้ขึ้น แสดงว่า แผลได้เซาะลึกเข้าใต้ชั้นผิวหนัง และลามแผ่ออกไปใต้ชั้นผิวหนังแล้ว
การรักษาแผลเบาหวาน ต้องใช้ยาต้านจุลชีพที่เหมาะสม โดยเฉพาะแผลที่มีกลิ่นเหม็นเน่า แผลเหล่านี้จะลุกลามได้ง่าย เพราะเลือดมาเลี้ยงน้อย ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ต่อสู้กับเชื้อโรค ตรงบริเวณที่มีแผลไม่ไหว จึงขอแนะนำให้ดูแลแผลเบาหวาน โดยให้แพทย์ร่วมดูแลรักษาตั้งแต่ต้น การป้องกันการเกิดแผลที่เท้า จะเป็นทางออกที่ดีที่สุด หมั่นสวมรองเท้าหัวปิดที่ไม่คับ ให้เลือกรองเท้าที่นุ่มและสวมใส่สบาย เวลาอาบน้ำควรนวดถูเท้าเบาๆ ให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น หรือแช่เท้าในน้ำอุ่นเล็กน้อย ต้องระวังอย่าใช้น้ำร้อนจัด เพราะผู้ป่วยอาจจะรู้สึกร้อนเพียงเล็กน้อยที่เท้า แต่เท้าบวมพองไปแล้ว พอนวดเท้าและทำความสะอาดเท้าเสร็จ ให้ซับน้ำที่เท้าให้แห้ง เนื่องจากการติดเชื้อที่แผลเบาหวาน เป็นเชื้อโรคที่มากับอุจจาระ จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า แผลเบาหวานได้รับเชื้อดังกล่าว จากน้ำในห้องน้ำหรือห้องส้วมที่ปนเปื้อนอุจจาระ ส้วมหรือห้องน้ำของผู้ป่วยเบาหวาน จึงต้องแห้งและสะอาด ถ้ามีแผลและต้องเข้าห้องน้ำหรืออาบน้ำ ต้องห่อเท้าด้วยถุงพลาสติกให้มิดชิด ขณะอาบน้ำหรือเข้าห้องน้ำ และถอดถุงพลาสติกออกทันทีที่ออกจากห้องน้ำ
ยาที่ใช้รักษาโรคเบาหวานมีทั้งยากินและยาฉีด ยากินจะใช้ไม่ได้ผลในผู้ป่วย ที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่ง เพราะ ไม่มีต่อมหรือมีต่อมไม่เพียงพอ ที่จะผลิตอินซูลินและ ยากินต้องอาศัยการออกฤทธิ์กระตุ้นต่อม ให้สร้างอินซูลินเพิ่มขึ้น ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่หนึ่ง จึงต้องฉีดยาอินซูลินชดเชยตลอดชีพ ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานประเภทที่สองใช้ยากินได้ ถ้าโรคไม่รุนแรงจนเกินไป ถ้าโรครุนแรงจนถึงระดับหนึ่ง การใช้ยากินอย่างเดียวจะไม่ได้ผลเช่นกัน จึงต้องใช้ยาฉีดร่วมด้วยในกรณีนี้
โดยทั่วไปผู้ป่วยต้องลดการกินอาหารประเภทแป้ง และน้ำตาลหรือถึงกับพยายามหลีกเลี่ยง ถ้ายังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ การรักษาต้องติดตามการตรวจระดับน้ำตาลเป็นระยะๆ ว่า การรักษาได้ผลหรือไม่ หรือได้ผลน้อยไปหรือมากไป? แต่ในช่วงแรกที่ผู้ป่วยมีน้ำหนักลดลงมาก ยังไม่ต้องควบคุมอาหารมากนัก ก็ได้ปล่อยให้ผู้ป่วยกินอาหาร และได้ยาจนน้ำหนักตัวอยู่ ในเกณฑ์ที่เหมาะสมก่อน แล้วค่อยจำกัดอาหารต่อไป การควบคุมอาหารจึงต้องควบคุมให้อยู่ในสมดุล
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีการรักษาเบาหวานที่สำคัญมากด้วย ไม่ควรออกกำลังกายหักโหมและทันทีเพราะจะทำให้เอ็นและกล้ามเนื้อบาดเจ็บได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสมคือ การค่อยๆ ออกกำลังกายจนมีเหงื่อเล็กน้อย ระยะเวลาที่ออกกำลังกายอยู่ระหว่าง ๒๐ - ๓๐ นาที ให้ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ - ๓ ครั้ง ถ้าสามารถออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันได้ จะยิ่งดีมาก และผู้นั้นจะออกกำลังกายได้นานขึ้นโดยไม่เหนื่อยง่าย ปริมาณงานของการออกกำลังกายแต่ละวัน จะต้องมีขนาดอย่างน้อยเท่ากับการเดินเร็วนาน ๓๐ นาทีต่อวัน สำหรับผู้ที่มีน้ำหนักมากเกินอยู่แล้ว หรือมีปัญหาเกี่ยวกับข้อเข่าเสื่อมหรือเจ็บที่เท้า การออกกำลังกายในสระน้ำ จะช่วยให้มีการออกกำลังกาย โดยไม่ทำให้ขาหรือเข่ามีปัญหามากขึ้น ควรออกกำลังกายโดยเล่นกีฬาบางอย่าง หรือ เดินเร็วๆ หรือวิ่งเหยาะๆ เป็นต้น
การรักษาและการออกกำลังกายที่ได้สมดุล จะทำให้ผู้นั้นมีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์เฉลี่ย ของคนปกติทั่วไปตามค่าดัชนีมวลกาย ทำให้ ผู้ป่วยรู้สึกแข็งแรงดีกระฉับกระเฉงเหมือนเดิม นำหนักตัวที่เหมาะสม สามารถทราบได้ด้วยตนเองอยู่แล้ว ไม่ต้องให้ใครมาบอกก็รู้อยู่แก่ใจ ถ้าต้องการข้อมูลในเชิงวิทยาศาสตร์ที่เป็นตัวเลข เราสามารถคำนวณได้ โดยเอาน้ำหนักเป็นกิโลกรัมเป็นตัวตั้ง แล้วหารด้วยส่วนสูงหน่วยเป็นเมตร ที่ยกกำลังสองแล้วสูตรคำนวณคือ น้ำหนัก(กิโลกรัม) หารด้วย ส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร) เช่น หนัก ๗๐ กิโลกรัมและสูง ๑.๘๐ เมตร จะได้ดัชนีมวลกายเท่ากับ ๗๐ หารด้วย (๑.๘๐) ๒ ได้เท่ากับ ๗๐ หารด้วย ๓.๒๔ เท่ากับ ๒๑.๖ จำง่ายๆ ว่า ค่าปกติอยู่ระหว่าง ๒๐-๒๕ ถ้า อยู่ระหว่าง ๒๖-๓๐ ให้เริ่มระวังว่า น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นอีก ต้องเริ่มควบคุมน้ำหนัก ถ้าได้ค่าเกิน ๓๐ ต้องหามาตรการควบคุมน้ำหนักให้ได้
การกินแต่อาหารกลุ่ม fast food ประจำ การนั่งเล่นเกมอยู่หน้าโทรทัศน์เป็นประจำ ล้วนแต่เป็นการบ่อนทำลายสุขภาพของตนเอง การควบคุมน้ำหนัก การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี และการออกกำลังกาย ถือว่า เป็นเรื่องที่เราทุกคนสามารถทำได้ในทุกระยะของชีวิตคน เป็นเบาหวานตั้งแต่เกิดมา และสามารถทำได้ในประชากรทั่วไป ไม่ว่าจะป่วยหรือไม่เคยป่วยเป็นโรคใดก็ตาม
การปฏิบัติตนในด้านอื่นๆ ของผู้ที่เป็นเบาหวานอีกข้อคือ ผู้ป่วยต้องกินยาต้านเบาหวานหรือฉีดยาให้สม่ำเสมอ ส่วนการกินยาสมุนไพรต่างๆ น่าจะช่วยให้สภาพจิตใจดีขึ้นได้ ถ้ามีผู้นั้นมีความเชื่อในสรรพคุณของสมุนไพร เพียงแต่ ผู้เขียนสามารถรับรองได้ว่า การกินแต่ยาแผนปัจจุบันอย่างเดียว ก็สามารถคุมโรคเบาหวานได้แน่นอนอยู่แล้ว ผู้ที่กินสมุนไพรร่วมด้วยโดยที่เชื่อว่า สมุนไพรดังกล่าวไม่มีพิษหรือผลร้ายใดๆ เลยนั้น ผู้กินก็ต้องประเมินผลการกินสมุนไพร เหมือนกับการกินยาแผนปัจจุบันด้วยเหมือนกัน
ผู้ที่เป็นเบาหวานต้องหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคอื่นๆ ได้ง่ายขึ้นหรือทำให้การรักษาเบาหวานยากขึ้น เช่น ต้องงดสูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุราจนเมามาย หรือดื่มเป็นประจำที่มากเกินไป อยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์และถ่ายเท หลีกเลี่ยงการสัมผัสโรคติดเชื้อบางอย่าง เช่น วัณโรค ไม่เกาตามผิวหนังอย่างรุนแรงเมื่อรู้สึกคัน โดยเฉพาะตามรักแร้หรือในที่อับชื้น ไม่ขยี้หนังตารุนแรงเมื่อรู้สึกคันตา ต้องล้างมือเมื่อสัมผัสสิ่งสกปรก หรือเมื่อจะแตะต้องผิวหนังของตนเอง โดยเฉพาะในบริเวณที่อับชื้น ต้องล้างมือตนเองให้สะอาด เมื่อจะทำแผลของตนเอง เป็นต้น
ขณะที่รักษาโรคเบาหวาน หากมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นโดยที่ไม่เคยมีมาก่อน ต้องรีบหาสาเหตุและให้การแก้ไข เช่น ถ้ามีอาการ เหงื่อแตก หมดแรงจะเป็นลม โดยไม่มีอาการแน่นหน้าอก หรือถ่ายอุจจาระดำ มักเกิดจาก น้ำตาลต่ำในเลือด ผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานจึงต้องมีเม็ดลูกกวาด หรือก้อนน้ำตาลเตรียมไว้อม เพื่อแก้ไขอาการดังกล่าว การอมลูกกวาดหรือก้อนน้ำตาล หรือดื่มน้ำหวานแล้วฟื้นคืนสติภายในเวลา ๕ นาที จะ ยืนยันว่า อาการดังกล่าว มีสาเหตุจากน้ำตาลในเลือดต่ำจริง หากเกิดภาวะนี้ ต้องหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน ถ้ามีอาการหอบเหนื่อยมากขึ้นตามลำดับ ต้องระวังว่า เกิดจากการรักษาเบาหวานที่ไม่เหมาะสม หรือไม่ได้รักษาอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปพบแพทย์เพื่อค้นหาสาเหตุและแก้ไขอีกเช่นกัน
โดยสรุป โรคเบาหวานเป็นโรคที่พบบ่อย การรักษาไม่ยุ่งยาก และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขได้ แต่ผู้ป่วยต้องเข้าใจโรคและร่วมมือกับแพทย์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง การมีพฤติกรรมที่เหมาะสม การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การควบคุมน้ำหนักโดยการรับประทานอาหารให้ถูกต้อง เป็นการส่งเสริมสุขภาพของผู้นั้น และทำให้เจ็บป่วยจากโรคอื่นน้อยลง การรักษาจึงจะได้ผลดี และส่งผลให้ร่างกายคงอยู่ในสภาพที่แข็งแรง และใช้งานได้นานเท่าคนปกติได้
แหล่งข้อมูล : ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
[/color]