ดวงตาของเราคือสิ่งที่เราใช้งานบ่อยที่สุดในร่างกาย เพราะต้องแสดงภาพสะท้อนให้เรามองเห็นสิ่งที่อยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ จอคอมพิวเตอร์ หรือว่าสมาร์ทโฟนซึ่งทั้งหมดนี้เป็นตัวการทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้
โรคจอประสาทตาเสื่อม เกิดจากจอประสาทตาตรงจุดกึ่งกลาง ซึ่งมีเซลล์ประสาทตาอยู่เป็นจำนวนมากเกิดการเสื่อมลง ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัด เช่น เห็นนาฬิกา แต่ไม่เห็นเข็มนาฬิกา มองเห็นตรงกลางนาฬิกาเป็นจุดดำๆ มัวๆ หรือมองขอบนาฬิกาแต่ไม่รู้ว่าคืออะไร บางคนอาจเห็นนาฬิกาเบี้ยวผิดรูปไปเลย ซึ่งเป็นอาการเริ่มแรกของคนที่เริ่มเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อม และจะสูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลาง โดยที่ภาพด้านข้างยังมองเห็นปกติ ส่งผลให้การอ่านหนังสือ หรือสนด้ายเข้าเข็มทำได้ยาก บางรายที่เป็นหนัก ก็ไม่สามารถทำได้เลย
สาเหตุ
โรคจอประสาทตาเสื่อม มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น มีสายตาสั้นมากๆ วางคอมพิวเตอร์ ไม่เหมาะสม โรคติดเชื้อบางอย่าง อายุ พันธุกรรม เชื้อชาติ เพศ บุหรี่ ความดันเลือดสูง กินยาเอสโตรเจน ส่วนใหญ่จะพบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งเรียกว่าเป็นการเสื่อมสภาพของร่างกาย แต่ยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจนถึงที่มาของการเกิดโรคนี้
ชนิดของจอประสาทตาเสื่อม
โรคจอประสาทตาเสื่อม มีลักษณะโรค 2 รูปแบบ คือ
- แบบแห้ง (Dry AMD) เป็นรูปแบบที่พบมากที่สุด จะมีการเสื่อมสลาย และบางลงของ จุดกลางรับภาพจอประสาทตา (macula) จากขบวนการเสื่อมตามอายุ (aging) ความสามารถในการมองเห็นจะค่อย ๆ ลดลง และเป็นไปอย่างช้า ๆ
- แบบเปียก (Wet AMD) พบประมาณ 10-15 % ของโรคจอประสาทตาเสื่อมทั้งหมด แต่มีลักษณะการเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของการตาบอดในโรค จอประสาทตาเสื่อม เกิดจากการที่มีเส้นเลือดผิดปรกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา และผนังชั้นพี่เลี้ยง (Retinal pigment epithelium) มีการรั่วซึมของเลือดและสารเหลวจากเส้นเลือดเหล่านี้ ทำให้จุดกลางรับภาพบวม คนไข้ จะเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยว และมืดลงในที่สุด เมื่อเซลล์ประสาทตาตาย
อาการของโรคจอประสาทตาเสื่อม
อาการและอาการแสดง โรคจอประสาทตาเสื่อม อาจแสดงอาการแตกต่างกันในคนไข้แต่ละคน และยากต่อคนไข้ที่จะสังเกตความผิดปรกติในการมองเห็นเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก โดยเฉพาะถ้าตาอีกข้างหนึ่งยังมองเห็นได้ดี คนไข้อาจไม่สังเกตถึงความผิดปรกติไปหลายปี แต่ถ้ามีจอประสาทตาเสื่อมเกิดขึ้นในตาทั้ง 2 ข้าง คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติในการมองเห็นอย่างรวดเร็ว เช่น มองตรงกลางภาพไม่ชัด ส่วนกลางของภาพที่มองขาดหายไป หรือมืดดำไป หรือภาพที่เห็นดูบิดเบี้ยวไป
สิ่งตรวจพบ ตามคำแนะนำของวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา "บุคคลทั่วไปอายุระหว่าง 40 - 64 ปี ที่ไม่มีอาการผิดปรกติในการมองเห็น ควรได้รับการตรวจสุขภาพตา (รวมทั้งตรวจจอประสาทตา) ทุก 2 - 4 ปี สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แนะนำให้ตรวจทุก 1 - 2 ปี แม้ไม่มีอาการผิดปรกติอะไร" เนื่องจาก การที่คนไข้จะรู้สึกถึงความผิดปรกติจากโรคจอประสาทตาเสื่อม ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกเป็นสิ่งที่ยาก แต่ในขณะเดียวกัน การตรวจพบและให้การรักษาโรคตั้งแต่ระยะแรกเริ่มเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด เพราะว่าจอประสาทตาที่เสื่อมเสียไปแล้ว มีแต่จะเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ การรักษาในปัจจุบันจึงทำได้เพียงหยุดหรือชะลอการเสื่อมเสียของจอประสาทตาให้ช้าที่สุด ซึ่งอาจรักษาไม่ได้เลย ถ้าโรคเป็นรุนแรง
การรักษา
มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น ฉายแสงเลเซอร์เพื่อยับยั้ง หรือชะลอการลุกลามของเส้นเลือดที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา ฉีดยาที่มีคุณสมบัติเป็นสารเรืองแสง (Photosensitizer) เข้าทางเส้นเลือดและไปจับกับเซลล์ที่ผิดปกติใต้จอประสาทตา แล้วฉายเลเซอร์ไปยังจุดที่จะรักษา และผ่าตัดตา เพื่อทำลายหรือนำเส้นเลือดที่ผิดปกติออกจากใต้จอประสาทตา