"มะตาด"เป็นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่งที่มีคุณค่าน่าศึกษาและเสาะหาไปปลูก อนุรักษ์ เป็นไม้ที่ขึ้นตามธรรมชาติในป่าดงดิบชื้นและป่าพรุทั่วไปของทุกภาค มีชื่อเรียกตามภาคต่างกัน เช่น สุราษฎร์ธานี เรียก " ส้านกวาง " และ " ส้านท่า " เชียงใหม่เรียก " ส้านป้าว " และ " ส้มปรุ " นครศรีธรรมราชและตรังเรียก " แส้น " ในภาคกลางเรียก " มะตาด " แต่คนมอญเรียก " หะเปร้า " (คำใกล้เคียงกับสำเนียงมอญคงสะกดได้เช่นนี้)
"มะตาด"เป็นไม้พุ่มยืนต้น สูงราว ๑๐-๑๕ เมตร ลำต้นและกิ่งก้านคดงอ ใบเดี่ยวคล้ายรูปไข่หรือใบหอกออกตามกิ่ง "มะตาด"เป็นต้นไม้ที่ทนแล้งและน้ำท่วมไม่ตาย เริ่มผลัดใบในเดือนเมษายน–พฤษภาคม ออกดอกออกผล ในเดือนกรกฎาคม หรือสิงหาคม ก่อนจะสุกและวาย ราวเดือนตุลาคม "ดอกมะตาด"จะเริ่มออกเป็นตุ่มที่ยอดลักษณะคล้าย"ผลมะตาด" พอโตขนาดเท่าผลส้มเขียวหวานก็จะบานออก ภายในดอกจะมีเกสรตัวผู้สีเหลืองล้อมรอบเกสรตัวเมียสีขาว ครั้นเมื่อละอองเกสรตัวผู้ผสมเกสรตัวเมียแล้ว กลีบดอกสีขาวก็จะเหี่ยวร่วงโรยหลุดออก จากนั้นกลีบเลี้ยงก็จะเริ่มห่อเข้ามาใหม่ เป็นผลกลมเหมือนเมื่อก่อนดอกยังไม่บาน และเจริญเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อผลแก่เต็มที่จะมีขนาดเท่ากระท้อนห่อ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐-๑๕ เซนติเมตร สีเขียวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองมักลิ่นหอม แล้วหล่นลงแตกเมล็ดภายในกระจายออกเป็นต้นอ่อนต่อไป
"มะตาด"จะให้ผลปีละครั้ง บางต้นดกมาก ออกผลแต่ละครั้งนับเป็นร้อย ๆ ผลมะตาดมี ๒ ชนิดคือ ๑) ชนิดข้าวเจ้า เนื้อหยาบกระด้าง มีเส้นกากมาก ผลสีเขียวอ่อน ๒) ชนิดข้าวเหนียว เนื้อนิ่มมีกากน้อย ผลสีเขียวจัด รสอร่อยกว่าชนิดข้าวเจ้า ถ้าเป็นผลสดจะมีรสเปรี้ยวจัดอมฝาดเล็กน้อย
มะตาด แอปเปิลมอญประโยชน์ ของ"มะตาด" นอกจากจะปลูกไว้เพื่ออาศัยร่มเงาแล้ว ส่วนต่าง ๆ ยังนำมาเป็นยาสมุนไพรได้ เช่น รากใช้เป็นยาถอนพิษจากแมลงกัดต่อย เปลือกและใบมีรสฝาดใช้เป็นยาสมานได้ดี ส่วนผลมะตาดที่เป็นเมือกมีลักษณะเป็นวุ้นเหนียวลื่น ๆ จะไปช่วยเคลือบแผลในกระเพาะไม่ให้เจ็บป่วย และสะดวกในการขับถ่าย นอกจากนี้ยังนิยมนำไม้มะตาดมาทำพาย พานท้ายรางปืน และทำฟืนอีกด้วย
ในสมัยก่อน ผมเป็นเด็กวัดศาลาแดงเหนือ เคยรับแกงจากชาวบ้าน มาถวายพระภิกษุสงฆ์ตอนเช้า จะเห็นแต่"แกงมะตาด" แกงกระเจี๊ยบ แกงมะสั้น และแกงต่าง ๆ เป็นส่วนมาก นาน ๆ ครั้งจะมีแกงใส่กะทิ หมู เนื้อ มาให้เห็นบ้างในวันพระ หลายคนที่เคยรับประทาน"แกงมะตาด"เป็นครั้งแรก มักติดอกติดใจในความอร่อย แต่คนที่เคยรับประทานเพียงไม่กี่ครั้ง ก็อาจทำ"แกงมะตาด"ได้ไม่ถูกวิธี
ผมเองก็ชอบรับประทาน เวลาจะ"แกงมะตาด"ทีไร มักจะไปเอาผล"มะตาดข้าวเหนียว"ของบ้านย่าส้ม ศรีสวัสดิ์ ที่บ้านวัง (วัดพลับสุธาวาส) มาแกง หากไม่มีเวลาไปหาก็จะซื้อ"มะตาด"ที่ตลาดปทุมธานีในราคา ๓ ผล ๑๐ บาท (ผมเคยลองไปหาซื้อที่ตลาดจังหวีดอื่นก็หาซื้อยาก เพราะถิ่นอื่นมักไม่นิยมรับประทาน และไม่ได้ปลูกมากเท่าที่จังหวัดปทุมธานี) แม่ค้าขาย"มะตาด"ในจังหวัดปทุมธานีบอกผมว่า เดี๋ยวนี้ไม่ใช่แค่คนมอญจะรับประทานเท่านั้น คนไทยและคนจีนก็ชอบ"แกงมะตาด"กันมาก จนร้านกับข้าวในตลาดปทุมธานีที่มีอยู่หลายเจ้ายังไม่พอขาย
ถ้าจะ"แกงมะตาด"ให้มีรสชาติอร่อย ควรหา"มะตาดข้าวเหนียว"มาแกง ส่วนจะเลือก"มะตาด"แก่หรือ"มะตาด"อ่อน ก็แล้วแต่ความชอบ ของแต่ละบุคคล เมื่อได้"ผลมะตาด"มาแล้วก็นำมาล้างน้ำให้สะอาด มะตาด ๑ ลูกมี ๕ กลีบ เลือกเอาเฉพาะกลีบใน ๓ กลีบมาสับเป็นชิ้นเล็ก ๆ จากนั้นเตรียมเครื่องแกง โดยเอาพริกแห้งเม็ดใหญ่ มาฉีกแช่น้ำสักพัก แล้วใส่ครกรวมกับเกลือหนึ่งหยิบมือ ตำรวมกันให้ละเอียด ใส่หัวหอมประมาณ ๕-๖ หัว แล้วตำให้หอมพอแตกแยก ใส่กะปิประมาณ ๑ ช้อนแกง บางบ้านอาจใส่ปลาร้าลงไปด้วย จากนั้นตำโขลกคลุกเคล้ารวมกันให้ละเอียด ในสมัยก่อน ส่วนผสมของเครื่องแกง จะมีปลาฉลาดแห้งและกุ้งแห้งเป็นส่วนมาก แต่ปัจจุบันปลาแห้งหายาก ก็อาจใช้ปลาสดหรือกุ้งสดที่สุกแล้วตำกับเครื่องแกงไปด้วย
เมื่อเตรียมเครื่องแกง และ"มะตาด"เรียบร้อยแล้ว จึงเอาน้ำใส่หม้อตั้งไฟให้เดือด ถ้าบ้านไหน จะแกงใส่กะทิ ก็ใช้น้ำกะทิแทนน้ำเปล่า จากนั้นเอาเครื่องแกงมาละลาย ในหม้อน้ำกะให้พอสมควร แล้วเอาหม้อเครื่องแกงมาตั้งไฟให้เดือดพล่าน เสร็จแล้วนำผลมะตาดที่สับเตรียมไว้ใส่หม้อจนเดือดพล่าน สักครู่ เอาทัพพีคนให้เข้ากันอีกที ใส่น้ำปลาชิมรสตามที่ต้องการแล้วยกลง การรับประทาน"แกงมะตาด" ถ้าทีของแกล้ม เช่น เนื้อเค็ม ปลาเค็ม และไข่เค็ม จะเพิ่มความอร่อยมากขึ้น เพราะ"แกงมะตาด"มักมีรสเปรี้ยวของ"ผลมะตาด"อยู่ก่อนแล้ว
หลายคนมักมีความเห็นตรงกันว่า การรับประทานอาหารให้ถูกปาก และยกให้ว่าเป็นของอร่อยนั้น แต่ละคนมักจะชอบอาหารท้องถิ่น หรืออาหารที่บ้านของตนเอง เพราะได้รับประทานมาตั้งแต่เล็กจนโต ได้ชิมจนติดปาก พอไปรับประทานที่อื่นก็แพ้อาหารที่พ่อแม่ทำให้รับประทาน ซึ่งเป็นอาหารที่อร่อยที่สุดในโลก
ผมพยายาม Copy รูปมาแล้ว แต่ไม่สามารถวางได้ จึงขอแนะนำเวปไซด์นี้ครับ เพราะเป็นผลไม่ที่ผมคิดว่าน้อยคนที่รู้จักครับ
http://www.openbase.in.th/node/10065