ผู้เขียน หัวข้อ: เที่ยวหน้าฝน ยลเมืองลับแล แวะเมืองแพร่ ไหว้สาพระธาตุปีขาล  (อ่าน 544 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ วิทยา

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 576
    1107



เที่ยวหน้าฝน ยลเมืองลับแล แวะเมืองแพร่ ไหว้สาพระธาตุปีขาล    

   
อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก

       ช่วงฤดูฝนนั้นเป็นช่วงที่ชุ่มฉ่ำ ต้นไม้ใบหญ้าดูจะเขียวขจีเป็นพิเศษเนื่องจากได้รับน้ำอย่างเพียงพอ ส่วนเรื่องการ
ออกไปเที่ยวในช่วงหน้าฝนนั้น ใครที่คิดว่ารอไปจนถึงหน้าหนาวดีกว่า “ตะลอนเที่ยว” ขอบอกเลยว่าหน้าฝนนี่แหละที่น่า
จะชวนกันออกมาเที่ยว เพราะช่วงนี้อากาศก็เย็นสบายกำลังดี ถึงจะเปียกฝนไปบ้างแต่ก็ชุ่มชื่นดีไม่น้อย โดยเฉพาะการมา
เที่ยวเมืองเล็กๆ สงบๆ ในช่วงหน้าฝนนั้น ยิ่งเพิ่มความน่าประทับใจให้มากขึ้นไปอีก ลองจินตนาการถึงเมืองเล็กๆ น่ารัก
ที่มีวิถีชีวิตเรียบง่าย ท่ามกลางป่าเขาและต้นไม้เขียวๆ มีฝนพรำลงมาเบาๆ อากาศก็สดชื่นเย็นสบาย แบบนี้จะพลาดได้อย่างไร


วิหารของวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง

       ว่าแล้วก็เลยเก็บกระเป๋า แล้วขึ้นรถมุ่งหน้ามายัง จ.อุตรดิตถ์ ดินแดนของตำนานเมืองลับแล ที่นี่นั้นมีประวัติศาสตร์มา
ยาวนาน โดยนักโบราณคดีได้ค้นพบหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชุมชนมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์แล้ว   นอกจากจะรู้จัก
อุตรดิตถ์จากตำนานเมืองลับแลแล้ว เมืองนี้ก็ยังเป็นที่รู้จักจากชื่อของ “พระยาพิชัยดาบหัก” อดีตเจ้าเมืองพิชัย (จ.อุตรดิตถ์
ในปัจจุบัน) ที่สร้างวีรกรรมการต่อสู้ในศึกสงคราม และรักษาเมืองพิชัยเอาไว้ได้ในการรบกับพม่า เมื่อสมัยกรุงธนบุรี  ซึ่งเมื่อมา
ถึงอุตรดิตถ์แล้ว ก็เลยขอมาเริ่มการท่องเที่ยวในทริปนี้ที่ “อนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก” ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าศาลากลาง
จังหวัดอุตรดิตถ์ มาไหว้เคารพท่านเนื่องในโอกาสที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวที่นี่


พระบรมธาตุทุ่งยั้ง

       “พระยาพิชัยดาบหัก” มีบ้านเกิดอยู่ใน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ได้เข้ารับราชการและมีความดีความชอบ จนได้รับการแต่งตั้งขึ้น
เป็นพระยาพิชัย ผู้ครองเมืองพิชัย ในสมัยกรุงธนบุรี ส่วนการทำสงครามที่ท่านได้สร้างเกียรติประวัติไว้ก็คือเมื่อ พ.ศ.2316 พม่า
ได้ยกทัพมาตีเมืองพิชัย พระยาพิชัย ได้ยกทัพไปสกัดทัพพม่าจนแตกพ่ายกลับไป การรบในครั้งนั้นดาบคู่มือของพระยาพิชัยดาบหัก
ข้างขวาได้หักไปหนึ่งเล่ม แต่ก็ยังรบได้ชัยชนะต่อทัพพม่า ด้วยวีรกรรมดังกล่าวจึงได้สมญานามว่า“พระยาพิชัยดาบหัก”  สำหรับ
อนุสาวรีย์ของท่าน ทำพิธีเปิดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2512 โดยสร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติประวัติในความกล้าหาญ รักชาติ และ
เสียสละ ปัจจุบันนี้ ใครที่แวะเวียนมาเที่ยวเมืองอุตรดิตถ์ก็มักจะแวะมาสักการะพระยาพิชัยที่นี่ และหากว่าเดินไปด้านข้างของอนุสาวรีย์
ก็จะได้ชม “ดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” จัดแสดงอยู่ภายในพิพิธภัณฑ์ ซึ่งที่นี่ก็จะทำให้ได้รู้จักว่าเหล็กน้ำพื้คืออะไร และการ
หล่อดาบเหล็กน้ำพี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีขั้นตอนอะไรบ้าง


พิพิธภัณฑ์ในม่อนลับแล

       จากอนุสาวรีย์พระยาพิชัยดาบหัก ขอแวะมาเข้าวัดให้เป็นสิริมงคลกับการเดินทางอีกสักนิด มากันที่ “วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง”
ซึ่งถือว่าเป็นวัดสำคัญอีกแห่งหนึ่งของอุตรดิตถ์ ความพิเศษของวัดนี้คือเป็นสถานที่ประดิษฐานพระมหาธาตุเจดีย์ หรือพระบรมธาตุ
ทุ่งยั้ง ที่เป็นโบราณสถานเก่าแก่ จากการสันนิษฐานของนักโบราณคดี คาดว่าพระบรมธาตุทุ่งยั้งสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย
โดยตำแหน่งที่ตั้งของวัดนั้นอยู่เกือบกึ้งกลางของเมืองโบราณทุ่งยั้ง ซึ่งเป็นเมืองโบราณร่วมสมัยกันกับกรุงสุโขทัยและศรีสัชนาลัย
นอกจากนี้ ยังสันนิษฐานด้วยว่าเดิมเจดีย์เป็นทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แต่ต่อมามีการบูรณะปฏิสังขรณ์มาเป็นเจดีย์ทรงลังกาดังที่เห็นในปัจจุบัน 
ถ้าหากว่าเดินเข้ามาในวัดแล้ว ก่อนจะไปถึงพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ก็ต้องเดินเข้าไปภายในวิหารเก่าแก่สมัยอยุธยา วิหารนี้ก่อด้วยศิลาแลง
และอิฐ มีหลังคาลดหลั่น 3 ชั้น ส่วนหน้าบันแกะสลักลงรักปิดทอง เมื่อสะท้อนกับแสงแดดที่ส่องมานั้นระยิบระยับงามจับตามาก
ภายในวิหารประดิษฐานหลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองทุ่งยั้ง


พระธาตุช่อแฮ

       ส่วนพระบรมธาตุนั้นจะตั้งอยู่ทางด้านหลังของวิหาร ตัวพระบรมธาตุเป็นเจดีย์แบบลังกาทรงกลม ภายในบรรจุพระบรม
สารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า เชื่อกันว่าหากมาบูชาแล้วจะทำให้เกิดความสงบสุข ความแข็งแรง และความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า
“ตะลอนเที่ยว” ขอแอบมากระซิบบอกว่า อีกฝั่งถนนของวัดนั้นจะเป็นตลาดเล็กๆ ที่ขายของกินของใช้ มีขนมนมเนย กับข้าว
กับปลาให้เลือกสรรกันหลายเมนู โดยเฉพาะในช่วงบ่ายแก่ๆ ชาวบ้านก็จะเริ่มนำอาหารออกมาวางขาย ใครจะไปเลือกซื้อของ
คาวของหวานกันก็ได้ตามชอบเลย


หลวงพ่อช่อแฮ ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ

       หลังจากรู้จักในตัวเมืองอุตรดิตถ์ไปพอควร ก็เดินทางกันต่อไปยังเมืองลับแลของจริง ที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ เมืองเงียบ
สงบอยู่ท่ามกลางหุบเขา ช่วงที่ไปถึงนั้นมีฝนปรอยๆ อากาศก็เย็นสดชื่น แบบนี้เหมาะกับการมาเดินชมวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชาวบ้าน
แต่ใครที่มีเวลาไม่มากนักก็ขอแนะนำให้มาที่ “ม่อนลับแล” ที่นี่เป็นทั้งร้านอาหาร ร้านจำหน่ายของฝาก และเป็นพิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน
ที่เก็บรวบรวมสิ่งของของชาวลับแลมาไว้ให้ชมกัน  ภายในพิพิธภัณฑ์ของม่อนลับแล จัดแสดงผ้าทอพื้นเมือง อุปกรณ์ เครื่องใช้ไม้สอย
และกรรมวิธีการย้อมและทอผ้า ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่ตกทอดมาสู่ลูกหลาน เดินชมผ้างามๆ จนรอบห้องแล้ว หากเดิน
ออกมาด้านนอกก็จะยังอยู่ในบรรยากาศสบายๆ ใต้ต้นไม้ร่มครึ้ม และยังสามารถมาชิมอาหารพื้นเมืองลับแลได้ที่นี่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น
ข้าวแคบ ข้าวพัน หมี่พัน ข้าวพันผัก เป็นต้น


พระเจ้าทันใจ

       อิ่มท้องอิ่มใจจากเมืองลับแลแล้ว ก็กลับไปเข้าวัดเข้าวาอีกสักครั้ง แต่คราวนี้ไปกันที่ จ.แพร่ ไปสักการะพระธาตุประจำ
ปีเกิดปีขาลกันที่ “วัดพระธาตุช่อแฮ” ที่มีคำกล่าวว่า หากมาแพร่แล้วไม่ได้มานมัสการพระธาตุช่อแฮ ก็เหมือนมาไม่ถึงจังหวัดแพร่
วัดพระธาตุช่อแฮ เป็นพระอารามหลวงที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเตี้ยๆ (สมัยโบราณเรียกเนินเขานี้ว่า โกสิยธชัคคะบรรพต) มีสิ่งสำคัญ
ภายในวัดคือ พระธาตุช่อแฮ ซึ่งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีขาล ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุม
ไม้สิบสองบุด้วยทองดอกบวบ สูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยม ศิลปะแบบเชียงแสน ภายในบรรจุพระเกศาธาตุ และพระศอกด้านซ้าย 
คำว่า “พระธาตุช่อแฮ” หมายถึง เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายและพระเกศาธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
และประดับบูชาด้วยผ้าแพรอย่างดี โดยการมาสักการะบูชาองค์พระธาตุนั้นมักนิยมนำผ้าแพรเนื้อดีไปถวาย เชื่อว่าจะทำให้มีชีวิต
ผาสุก มีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน และมีพลังคุ้มครองป้องกันศัตรูได้


แหล่งรวบรวมผ้าซิ่นตีนจกโบราณ

       นอกจากจะมาสักการะองค์พระธาตุช่อแฮแล้ว ภายในวัดพระธาตุช่อแฮยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่เคารพของชาวพุทธอีกด้วย
เริ่มต้นจาก “หลวงพ่อช่อแฮ” พระประธานที่ประดิษฐานภายในพระอุโบสถ ศิลปะล้านนาเชียงแสน สุโขทัย อายุหลายร้อยปี
สร้างด้วยอิฐโบกปูน ลงรักปิดทอง “พระเจ้าทันใจ” พระพุทธรูปปางสมาธิปูนปั้นลงรักปิดทอง เป็นพระที่สร้างขึ้นและเสร็จ
ภายในวันเดียว จึงเชื่อกันว่าใครที่มาขอพรพระเจ้าทันใจก็จะได้สิ่งนั้นสมประสงค์ ส่วนที่ด้านหลังของซุ้มพระเจ้าทันใจนั้นยังมี
ไม้เสี่ยงทาย โดยผู้ใดต้องการเสี่ยงทายสิ่งใดก็จะนำไม้ดังกล่าวมาทาบกับช่วงแขนที่กาง เหยียดตรงไปจนสุดแขนทั้งสองข้าง
ความยาวของวาอยู่ตรงจุดใดของไม้ก็จะทำเครื่องหมายไว้ แล้วนำไม้มาอธิษฐานเบื้องหน้าพระเจ้าทันใจว่า สิ่งที่ตนประสงค์นั้น
จะสำเร็จหรือไม่ หากสำเร็จก็ขอให้ความยาวของตนเลยจุดที่ทำเครื่องหมายไว้ออกไป เมื่ออธิฐานเสร็จแล้ว ก็นำไม้เสี่ยงทายขึ้นมา
วัดอีกครั้งหนึ่ง แล้วก็ยังมี พระเจ้านอน พระเจ้าไม้สัก ธรรมมาสน์โบราณ กรุอัฐิครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ที่ได้มาเป็นประธาน
บูรณะปฏิสังขรณ์พระธาตุช่อแฮ เมื่อปี พ.ศ.2467 ส่วนทางขึ้นไปสักการะองค์พระธาตุนั้นก็จะต้องเดินผ่านบันไดนาค ซึ่งเป็น
บันไดนาคโบราณ มีอยู่ 4 ด้าน และบันไดสิงห์ อีก 1 ด้าน และแต่ละด้านนั้นจะมีความสูงและจำนวนของขั้นบันไดไม่เท่ากัน


ชุดการแต่งกายจากภาพยนตร์สุริโยทัย

       อิ่มบุญอิ่มใจกันถ้วนหน้า หลังจากนี้ก็ไปดูของสวยๆ งามๆ กันที่ “พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นโกมลผ้าโบราณ” อ.ลอง จ.แพร่
เป็นสถานที่รวบรวมผ้าโบราณชนิดต่างๆ ของเมืองลอง และผ้าโบราณของชุมชนต่างๆ ซึ่งริเริ่มโดยนายโกมล พานิชพันธ์ 
เมื่อเดินเข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ ส่วนแรกที่เห็นก็คืองานจิตรกรรมเวียงต้า ซึ่งเป็นงานศิลปะพื้นบ้านล้านนา เป็นความงาม
ตามแบบของสกุลช่างศิลป์เมืองน่าน เขียนอยู่บนแผ่นกระดาษไม้สัก เดินถัดเข้าไปด้านในจะจัดแสดงผ้าโบราณเมืองลอง
เป็นผ้าซิ่นตีนจกของกลุ่มไทโยนกเมืองลอง และยังมีผ้าซิ่นตีนจกจากแหล่งอื่นๆ ที่มีความงดงามและทรงคุณค่าไม่แพ้กันเลย
ใครที่ชอบดูผ้าโบราณสวยๆ ถ้ามาที่นี่รับรองว่าไม่ผิดหวัง เพราะมีให้ชมมากมาย ทั้งผ้าโบราณที่จัดเก็บไว้ และยังมีผ้าที่ทาง
พิพิธภัณฑ์จัดทำขึ้นเพื่อใช้ในการแสดงภาพยนตร์หรือละครเรื่องต่างๆ อาทิ ภาพยนตร์เรื่องสุริโยทัย ละครเรื่องรอยไหม เป็นต้น


บ้านวงศ์บุรี บ้านสีชมพูหลังงาม

       และถ้ายังติดใจกับความสวยงามแบบโบราณกันอยู่ ก็ต้องกลับเข้ามาในตัวเมืองแพร่ เพราะจะไปเยือนบ้านโบราณ
“บ้านวงศ์บุรี” บ้านสีชมพูหลังงามแบบยุโรปประยุกต์ หลังคาสูงทรงปั้นหยาสองชั้น ซึ่งหลายคนอาจจะคุ้นตามาจากละคร
เรื่องรอยไหม เพราะที่นี่ใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ โดยใช้เป็นเรือนของเจ้านางมณีริน บ้านวงศ์บุรีสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2440
ตามดำริของแม่เจ้าบัวถา มหายศปันยา ชายาของเจ้าหลวงพิริยะเทพวงศ์ ถ้ามองมาที่บ้านหลังนี้จะมองเห็นจุดเด่นที่ตัวบ้าน
เป็นสีชมพู และลวดลายไม้แกะสลักที่หน้าจั่ว ชายคา ระเบียง ช่องลม ชายน้ำ หน้าต่าง และประตู ต่อมาได้มีการซ่อมแซม
แต่ลวดลายแกะสลักยังคงเป็นของเดิม


จำลองห้องนอนในสมัยก่อน

       ภายในบ้านตกแต่งด้วยสิ่งของเครื่องใช้เก่าแก่ของตระกูลที่ถ่ายทอดกันมาหลายชั่วอายุ ได้แก่ เครื่องเรือน เครื่องเงิน
เครื่องปั้นดินเผา เอกสารที่สำคัญ เช่น เอกสารการซื้อขายทาส ซึ่งปัจจุบันก็เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมความงามกันได้ทุกวัน
ติดตาตรึงใจกับความงาม ทั้งความงดงามของธรรมชาติ และความงดงามของสถาปัตยกรรมและโบราณสถานต่างๆ นอกเหนือจากนี้
ความงามจากใจของชาวบ้านที่ยิ้มแย้มต้อนรับนักท่องเที่ยวเสมอ เป็นเสน่ห์ของเมืองเล็กๆ “อุตรดิตถ์-แพร่” ที่อยากจะชวน
ทุกคนให้มาเที่ยวและซึมซับความสุขแบบนี้ด้วยกัน


ภายในบ้านวงศ์บุรียังได้สัมผัสความงามของสิ่งของต่างๆ


       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
       
       สอบถามข้อมูลการท่องเที่ยวเพิ่มเติมได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานแพร่ (พื้นที่รับผิดชอบ : แพร่ น่าน อุตรดิตถ์)
โทร. 0-5452-1127, 0-5452-1118 หรือที่เฟสบุค : Tat Phrae
       
       * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *


>>>>>>>>>>>>>>>>>>>
นำมาจาก
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9560000107301

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=18701