เมื่อวานนี้ทราบข่าวว่าคุณยรรยงค์ เสลานนท์ นักร้องที่มีน้ำเสียงเป็นเอกลักษณ์และเป็นอมตะแห่งวง สุนทราภรณ์ ท่าน ได้จาก
พวกเราไปแล้วผมขอนำเพลง ใบไม้ร่วง และประวัติของท่านมาร่วมไว้อาลัย ขอให้ดวงวิญญาณของท่านจงไปสู่สุขคติภพด้วยเทอญ
ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นคนกรุงเทพมหานครตั้งแต่กำเนิด มารดา คือ ศิริ คุ้มอยู่ นักร้องนักแสดงละครวิทยุชื่อดัง จึงมีโอกาสติดตามมารดาไปตามสถานีวิทยุ และชอบร้องเพลงคลอตามแผ่นเสียง
หลังจบการศึกษาจากโรงเรียนวัดบวรนิเวศน์ เมื่อปี พ.ศ. 2501 ยรรยงค์ เสลานนท์ ไปสมัครเข้าสอบรับราชการ แผนกบันเทิง กรมประชาสัมพันธ์
เหตุที่ผู้สอบจะต้องมีผู้รับรองการเข้าสอบ ยรรยงค์นึกไม่ออกว่าจะให้ใครรับรอง รู้จักเพียงชื่อครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงตัดสินใจไปพบวินัย จุลละบุษปะ เพื่อให้พาไปพบครูเอื้อ ซึ่งขณะนั้นครูเอื้อ สุนทรสนาน กำลังยืนคุยอยู่กับวินัย จุลละบุษปะ ณ ตรงนั้น ยรรยงค์จึงได้เข้าแสดงตน
และโดยไม่พูดพร่ำทำเพลง เขาได้ยื่นกระดาษให้ครูเอื้อ เซ็นชื่อรับรอง หลังไถ่ถามจนรู้ความ ครูเอื้อก็ยินดีเซ็นรับรองให้
แต่ผลการสอบคัดเลือก รับเพียง 3 คน ซึ่งยรรยงค์ ไม่ผ่านการสอบบรรจุ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน เห็นว่า ยรรยงค์มีแววอยู่บ้าง จึงรับเข้าไว้ในโครงการดาวรุ่งพรุ่งนี้ รุ่นเดียวกับศรวณี โพธิเทศ และรุ่งฤดี แพ่งผ่องใส
ยรรยงค์ เสลานนท์ ก็ได้ฝึกฝนร้องเพลง ก่อนจะได้มีโอกาสติดตามวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ไปออกรายการโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม โดยนำเพลงลาวดวงเดือน ร้องออกทีวี
กระทั่งปี พ.ศ. 2503 ยรรยงค์ เสลานนท์ สอบบรรจุรับราชการ ประจำแผนกดนตรีสากล กรมประชาสัมพันธ์ได้ ครูเอื้อ สุนทรสนาน จึงมอบเพลงฝากน้ำใจ ให้ร้องอัดแผ่นเสียงเป็นเพลงแรก
ต่อมา ก็มีผลงานเพลงทยอยออกมา อาทิ ทรัพย์ทรวง, กรรมรัก, เงา, ไม่รัก-ไม่รู้, คอยลม, ร้อนนี้พี่ยังหนาว, คมตา, ใบไม้ร่วง, พลิ้วลมวอน, ฉันรักเธอ, ราตรีประดับดาว, ยอดปรารถนา, เกาะลอย, คิดถึง, ยากยิ่งสิ่งเดียว, ชีวิตกับสังคม, ฉันไม่งาม และนิมิตสวรรค์
และเพลงคู่ทาษ ที่เป็นเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้ยรรยงค์ เสลานนท์ เป็นที่รู้จัก รวมถึงเพลงกลิ่นราตรี ของมัณฑนา โมรากุล ที่ยรรยงค์ เสลานนท์ นำมาร้องอัดแผ่นใหม่
เมื่อบริษัท เมโทรแผ่นเสียง ได้รับพระบรมราชานุญาตบันทึกแผ่นเพลงพระราชนิพนธ์ ความฝันอันสูงสุด โดยมีวงสุนทราภรณ์ บรรเลง ครูเอื้อ สุนทรสนานก็ได้มอบหมายให้ยรรยงค์ เสลานนท์ ขับร้องบันทึกแผ่นเสียง
ซึ่งแผ่นชุดนี้ มีเพลงความฝันอันสูงสุด เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพียงเพลงเดียว นอกเหนือจากนั้นเป็นเพลงปลุกใจของวงสุนทราภรณ์
ปี พ.ศ. 2512 ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้ตั้งโรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี จึงชวนยรรยงค์ เสลานนท์ ไปร่วมฝึกสอนขับร้องอยู่ที่โรงเรียน
และยรรยงค์ก็ยังได้รับความไว้ใจจากครูเอื้อ ให้อัดแผ่นร้องเพลงประจำของมหาวิทยาลัยรามคำแหง คือ เพลง รามแห่งความหลัง และดาวราม รวมถึงเพลงประจำจังหวัดปราจีนบุรี เพลงรอเธอที่ปราจีน และ ถิ่นเราเขาใหญ่
รวมถึงอัดแผ่นเพลง คืนสู่เหย้า คู่กับ บรรจงจิตต์ พัฒนาสันต์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็เป็นลูกศิษย์ ที่เรียนร้องเพลงกับยรรยงค์ เสลานนท์ ซึ่งต่อมาเพลงคืนสู่เหย้า กลายเป็นเพลงเอกประจำงานคืนสู่เหย้าของทุกสถาบัน
ทั้งนี้ ก่อนที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน จะสิ้นบุญ ได้สั่งเสียไว้ว่าเพลงที่ครูเอื้อเคยร้องอัดไว้ทั้งหมดต่อไปให้ยรรยงค์เป็นผู้ร้องต่อ
และแม้ว่ายรรยงค์ เสลานนท์ จะเป็นครูสอนร้องเพลงที่โรงเรียนสุนทราภรณ์การดนตรี แต่ก็ยังมีผลงานเพลงออกมา คือ อัลบั้มกล่อมรัก ที่ร่วมงานกับบริษัท โรต้า และยังรับราชการที่กรมประชาสัมพันธ์จนเกษียณอายุ เมื่อปี 2544 รวมเวลา 40 ปี ....
ยรรค์ยงค์ เสลานนท์ เสียชีวิต เมื่ิอวันที่ 28 มีนาคม 2556 เวลาประมาณ 14.00 น. ในวัย 76 ปี
ขอขอบคุณคุณลือ และเว็บบ้านคนรักสุนทราภรณ์ มา ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ