ผู้เขียน หัวข้อ: บุญผ่อง วีรชนช่องเขาขาด  (อ่าน 2794 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ วิทยา

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 576
    1108
บุญผ่อง วีรชนช่องเขาขาด
« เมื่อ: 22/พ.ค./13 13:51น. »


บุญผ่อง วีรชนช่องเขาขาด
โดย....ธีรภาพ โลหิตกุล



               ขณะที่กระแสข่าวความแตกแยกทางการเมืองของผู้คนในสังคมไทยระลอกใหม่ กำลังก่อตัวขึ้น เรื่องราว
วีรกรรมของ คุณบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์ ที่ถูกนำมาสร้างเป็นละคร "บุญผ่อง" เริ่มออกอากาศเมื่อ 8 พฤษภาคมที่ผ่านมา
ทางสถานีไทยพีบีเอส เปรียบได้ดั่งวีรบุรุษผู้ขี่ม้าขาว ลงมาช่วยกอบกู้เกียรติศักดิ์ศรี และความภูมิใจในตนเองของคนไทย
ให้กลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยมีหลักฐานแวดล้อมหลายประการ บ่งบอกว่าคุณบุญผ่อง มีตัวตนจริงเป็นพ่อค้าระดับคหบดีแห่ง
จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งทำการค้ากับกองทัพญี่ปุ่น ที่เคลื่อนทัพผ่านไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา เมื่อราว 75 ปีก่อน
ในลักษณะเป็นผู้ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภคให้กองทัพบูชิโดแต่เพียงผู้เดียว



                แต่เมื่อได้เห็นอาการร้อนรนที่จะสร้าง "วงศ์ไพบูลย์แห่งเอเชียบูรพา" ที่มีตนเองเป็นพี่ใหญ่ ด้วยการละเมิดกฎ
ว่าด้วยเชลยศักดิ์สากล โดยกวาดต้อนเชลยที่เป็นทหารสัมพันธมิตร และกุลีชาวเอเชียจำนวนมากมายมหาศาล



มาสร้างทางรถไฟสายมรณะจากไทยไปพม่าอย่างทารุณโหดร้ายผิดมนุษย์ คุณบุญผ่องก็กระทำการเสี่ยงชีวิต
เปรียบได้ดั่งการยื่นคอเข้าไปใกล้ดาบปลายปืนของทหารญี่ปุ่นอย่างที่สุด นั่นคือลักลอบส่งยารักษาโรคให้เชลยศึก
สัมพันธมิตร ที่ยามนั้นถูกไข้ป่ามาลาเรีย และโรคร้ายนานาชนิด รุมเร้าจนมีสภาพไม่ต่างอะไรกับโครงกระดูกเดินได้



               โดยเฉพาะหน่วยที่ถูกญี่ปุ่นบีบบังคับให้เจาะภูเขาหินในเขตอำเภอไทรโยค ให้กลายเป็นช่องเขา
เพื่อให้ทางรถไฟผ่านไปชายแดนไทย-พม่า เขตอำเภอสังขละบุรี กระทั่งถูกเรียกขานว่า "ช่องเขาขาด" แต่ทว่า
ตะเกียงน้ำมันและกองไฟจากไม้ฟืน ที่ส่องสว่างให้เชลยศึกโหมกระหน่ำทำงานหนักทั้งกลางวันและกลางคืน
ไม่ต่างอะไรกับ "ไฟนรกโลกันตร์" ที่ใครตกลงไปแล้ว ไม่มีวันได้ผุดได้เกิด จนบรรดาเชลยศึกสัมพันธมิตร
ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวออสเตรเลียขนานนามช่องเขานี้ว่า"ช่องไฟนรก" (Hell Fire Pass)



               มีบุคคลหนึ่งที่เพียรพยายามยื้อชีวิตทหารและกุลีที่ป่วยไข้ ด้วยการทุ่มเททำงานหนักในฐานะหมอทหาร
คือ เวียรี่ ดันล็อป (Weary Dunlop) แน่นอนว่าเขาคือคนที่รับรู้วีรกรรมของคุณบุญผ่องในห้วงยามนั้นดีที่สุด
ด้วยเป็นคนรับยาที่คุณบุญผ่องลักลอบส่งมาให้กับมือ ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองยุติแล้ว ได้รับการยกย่องเป็น
ท่านเซอร์ เอ็ดเวิร์ด เวียรี่ ดันล็อป ในขณะที่คุณบุญผ่อง ได้รับการยกย่องเป็น "วีรชนของเหล่าทหารที่ตกเป็น
ทาสของญี่ปุ่น" และได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากอังกฤษและเนเธอร์แลนด์ เพื่อตอบแทนที่ให้
ความช่วยเหลือเชลยศึกในระหว่างสงคราม อีกทั้งยังได้รับการประดับยศเป็น "พันโทบุญผ่อง สิริเวชชะพันธ์"



               ต่อมาภายหลัง ได้มีการจัดตั้งมูลนิธิเพื่อส่งศัลยแพทย์ไทยไปเรียนต่อออสเตรเลีย ในนาม Weary
Dunlop Boon Pong Exchange Fellowship เพื่อระลึกถึงคุณความดีของหมอเวียรี่ และคุณบุญผ่อง
โดยก่อนหน้านั้น ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ตอบแทนน้ำใจคุณบุญผ่อง ด้วยการมอบรถที่ยึดได้จากกองทัพญี่ปุ่นเกือบ 200 คัน
ให้ประกอบธุรกิจรถเมล์ ในนาม บริษัท บุญผ่อง จำกัด เรียกกันว่า รถเมล์สายสีน้ำเงิน คู่แข่งรถเมล์สีขาวของบริษัทนายเลิศ
ซึ่งสมัยเป็นนักเรียน ผมยังได้ใช้บริการรถเมล์บุญผ่องที่วิ่งผ่านหน้าโรงเรียนเป็นประจำ



               วีรกรรมของคุณบุญผ่องสะท้อนให้เห็นว่า แม้สงครามจะทำให้มนุษย์เผยด้านมืดอันเลวร้ายออกมาได้
อย่างเหลือเชื่อ แต่บางครั้ง สงครามก็ไม่อาจปิดกั้นคุณธรรมของคนดีได้ ละครที่สร้างจากเรื่องจริงของคุณบุญผ่อง
ซึ่งสวมบทโดย "เจมส์" เรืองศักดิ์ ลอยชูศักดิ์ นับเป็นละครน้ำดีอีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยควรได้ดู เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์
ช่องเขาขาด อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี ก็เป็นพิพิธภัณฑ์ในพื้นที่จริง (Site Museum) ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ที่คนไทย
ควรไปดูเช่นเดียวกัน



               พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานช่องเขาขาด (Hellfire Pass Memorial Museum) จัดสร้างด้วยงบประมาณ
องค์การทหารผ่านศึกออสเตรเลีย นับเป็นพิพิธภัณฑ์อันทรงคุณค่าระดับโลก ทั้งในแง่ศิลปะการนำเสนอและความสำคัญ
ของสถานที่ ซึ่งเป็นสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ที่ผืนปฐพีทุกตารางนิ้วเคยรองรับศพของผู้พลีชีพ ไว้เป็นบทเรียนให้
มนุษยชาติรับรู้ถึงความโหดร้ายของสงคราม  เส้นทางเดินเท้าแม้จะมีการปรับแต่ง แต่ก็ให้มีสภาพใกล้เคียงของเดิม
คือเป็นทางเดินโรยด้วยก้อนหิน ทำให้เกิดเสียงดังทุกย่างก้าวที่เท้าบดทับลงไป มันเป็นเสียงที่เคยบดขยี้หัวใจเชลยศึก
และกุลีแห่งช่องเขาขาด ที่มีชีวิตเหมือนตกอยู่ในนรกขุมที่ลึกที่สุด



               ท่ามกลางงานขุดเจาะหินแข็งแสนสาหัส พวกเขาแออัดในกระท่อมหลังคามุงจาก มีเพียงข้าวกับปลาแห้งยาไส้
ผิวหนังอักเสบ แผลเน่าเปื่อย ติดเชื้อไข้มาลาเรีย อหิวาตกโรค แล้วยังถูกทหารญี่ปุ่นโบยตีด้วยแส้ จนมีเชลยศึกล้มตายกว่า
12,000 คน และกุลีชาวอินเดีย พม่า มลายู ตายไปถึงกว่า 70,000 คน นับเป็นความกล้าของผู้จัดทำพิพิธภัณฑ์



ที่ปรับแต่งสถานที่แต่พองาม ไม่ปรุงแต่งสีสันหรือสิ่งอำนวยความสะดวกจนเกินไป ทำให้กลิ่นอายความขลังของช่องไฟนรก
ยังอบอวลอยู่ในจินตนาการของผู้มาเยือน



               และถึงแม้จะไม่มีมัคคุเทศก์นำชม แต่เราสามารถรับรู้เรื่องราวของช่องไฟนรกโดยละเอียดได้ ด้วยอุปกรณ์หูฟัง
ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ที่ทางพิพิธภัณฑ์ให้เช่า (ซึ่งจะได้เงินคืนเมื่อส่งหูฟังคืน) เมื่อเดินถึงสถานที่สำคัญจุดไหน



ก็มีเลขกำกับให้เรากดปุ่มฟังข้อมูลได้ทันที ที่สำคัญคือไม่ใช่แค่เอาข้อมูลมาอ่านให้ฟัง ทว่าเป็นการบรรยายด้วยนักพากย์มืออาชีพ
ประกอบเสียงเอฟเฟกท์สมจริง สอดแทรกด้วยมุกตลกเรียกทั้งรอยยิ้มและความสะเทือนใจ เช่น นายทหารออสเตรเลียผู้คุมกำลัง
เชลยศึกหน่วยหนึ่ง รำพึงรำพันว่า"...ขบวนแถวของเชลยศึกที่กำลังขนหินนั้น ข้าพเจ้าดูคล้ายเป็นขบวนแห่ศพมากกว่า..."



               แล้วยังมีเรื่องพลทหารออสซี่นายหนึ่ง ได้รับคำสั่งให้หามศพเพื่อนไปเก็บไว้ที่เรือนพักศพก่อนทำพิธีในวันรุ่งขึ้น
แต่พอถึงที่วางศพแล้ว พลทหารก็โกยแน่บหน้าตาตื่นออกมา บอกใครๆ ว่าเขาได้ยินเสียงศพถอนหายใจ รุ่งเช้าไปดูที่เกิดเหตุ



ปรากฏว่าฝาผนังเรือนพักศพเป็นรูเบ้อเร่อ เพราะพลทหารไม่ได้วิ่งออกมาทางประตู แต่วิ่งทะลุฝาเรือนออกมาด้วยความกลัวสุดขีด
ดังนั้น จากประสบการณ์ที่เคยไปชมพิพิธภัณฑ์ในหลายประเทศ ผมจึงยกให้ช่องเขาขาด เป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑ์ทรงคุณค่าระดับโลก
ที่ไม่ควรพลาดชมด้วยประการทั้งปวง


              
หมายเหตุ : พิพิธภัณฑ์ช่องเขาขาด ตั้งอยู่ในพื้นที่กองกำลังทหารพัฒนา อ.ไทรโยค ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรีไปตามทางหลวง
323 ราว 77 กม. เปิดให้ชมฟรีทุกวัน 09.00-16.00 น. สถานที่พักใกล้เคียง อาทิ หินตกริเวอร์แคมป์, รีโซเทล แก่งละว้า,
จังเกิลราฟท์

..............................................
(บุญผ่อง วีรชนช่องเขาขาด : คอลัมน์ท่องไปกับใจตน : โดย....ธีรภาพ โลหิตกุล)

http://www.komchadluek.net/detail/20130512/158221/บุญผ่องวีรชนช่องเขาขาด.html#.UZmuJNhXu9u


+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=15409
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 28/พ.ค./13 14:06น. โดย วิทยา »