มาดูแลสุขภาพกัน > โรคภัยใกล้ตัว
โรคเสพติดดิจิทัล (Digital Addiction) โดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
ภูแมว:
โรคเสพติดดิจิทัล (Digital Addiction) โดย : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
โรคใหม่ทางสังคมโรคหนึ่งที่เกิดขึ้นจากพัฒนาการของเทคโนโลยีและกระแสสังคมออนไลน์ต่างๆ คงหนีไม่พ้นโรคที่ฝรั่งเขาเรียกว่า Digital Addication หรือ โรคเสพติดดิจิทัล ซึ่งถ้าท่านผู้อ่านนึกถึงโรคนี้ไม่ออก ท่านก็ลองถามตนเองนะคะว่า ตัวท่านเองหรือบุคคลรอบๆข้างท่านมีอาการเช่นนี้หรือไม่?
ท่านจะต้องเข้าเช็ค ตรวจสอบ หรือ รายงานตัวในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น facebook twitter หรือ instagram ตลอดเวลา ในขณะเดียวกันท่านไม่สามารถอยู่เฉยๆ หรือ นิ่งๆ ได้เกินห้านาที โดยไม่ยกโทรศัพท์หรือ Tablet ขึ้นเช็คข่าวหรือข้อมูลทางเน็ต หรือ ทุกครั้งที่มีโอกาส หรือ เวลาว่างท่านจะต้องตรวจสอบอีเมล เช็คข่าวต่างๆ ผ่านเน็ต คุยกับเพื่อนฝูงผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ ฯลฯ หรือในขณะนั่งประชุมท่านจะเปิดทั้งคอมพิวเตอร์เพื่อทำงานหรือเช็คอีเมลไปด้วย และในขณะเดียวกันก็คอยคุยกับเพื่อนผ่านทาง Line / Whatsapp ผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฯลฯ
ปัจจุบันนี้ไม่ว่าเราไปที่ใดก็แล้วแต่ ปรากฏการณ์หนึ่งที่มักจะพบเห็นจนชินตาคือ คนยกโทรศัพท์ขึ้นมาเพื่อเข้าสู่โลกดิจิทัล ไม่ว่าจะนั่งบนรถไฟฟ้า หรือ นั่งร่วมโต๊ะรับประทานอาหารด้วยกัน เคยเห็นบางครอบครัวนั่งรับประทานอาหารร่วมกันที่ร้านอาหาร แต่ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และลูกๆ ต่างยกโทรศัพท์ของตัวเองขึ้นมา แล้วก็กดๆ โดยไม่ได้สนใจปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ปรากฏการณ์ต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในไทยเท่านั้น แต่ดูเหมือนจะเป็นกระแสที่ห้ามไม่หยุดกันทั่วโลก จากการสำรวจของ Nielsen ในปี 2011 พบว่าชาวอเมริกาใช้เวลา 81,000 ล้านชั่วโมงต่อปี ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือ Blog ต่างๆ และในขณะเดียวกันร้อยละ 64 ของเวลาที่ใช้บนโทรศัพท์มือถือนั้นจะใช้ไปกับ apps ต่างๆ นอกจากนี้งานวิจัยของ Nielsen ยังพบอีกว่าคนจำนวนมากจะใช้ชีวิตกับจอดิจิทัลมากกว่าหนึ่งจอขึ้นไป อาทิเช่น นั่งดูโทรทัศน์ไป ก็เปิด Tablet หรือโทรศัพท์มือถือไปด้วย หรือ นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ก็คอยสนใจต่อจอโทรศัพท์มือถือไปด้วย
จริงๆ การปรับตัวให้สอดคล้องและก้าวทันตามเทคโนโลยีและกระแสสังคมที่เปลี่ยนไปเป็นสิ่งที่ดี แต่เมื่อการเสพติดต่อสื่อดิจิทัลและสภาวะออนไลน์ทั้งหลายมากไป ก็ส่งผลต่อความสามารถในการทำงานและใช้ชีวิตของเรา มีงานวิจัยอีกที่พบว่าโดยเฉลี่ยแล้วพวกที่เสพติดต่อดิจิทัลจะนั่งทำงานได้นิ่งๆ เพียงแค่สามนาทีก่อนที่จะถูกรบกวนด้วย บรรดา Notification ต่างๆ และพบว่าการถูกรบกวนด้วยสื่อออนไลน์เหล่านี้ยังส่งผลต่อ IQ ของเรามากกว่าการเสพยาเสพติดด้วยซ้ำ
ขณะเดียวกันผลจากการการออนไลน์ตลอดเวลาทำให้เราขี้เบื่อมากขึ้น ความอดทนน้อยลง เพราะปัจจุบันเราไม่ต้องใช้ความพยายามมากเท่าไรต่อการหาคำตอบ ต่อคำถาม หรือความอยากรู้ต่างๆ ที่เข้ามา เพราะจากทุกสถานที่และทุกเวลาที่เราจะสามารถเข้าไปหาคำตอบออนไลน์ได้ โดยสังเกตได้จากคนรุ่นใหม่จำนวนมากที่มีอาการขี้เบื่อ โดยเวลาฟังเพลงต่างๆ จะไม่อดทนฟังให้จบเพลงโดยไม่เลื่อนเปลี่ยนเพลง
ผลจากการเสพติดดิจิทัลทำให้เราได้รับข้อมูลต่างๆ ตลอดเวลา และอาจจะมากเกินความจำเป็น มีงานวิจัยที่พบว่าสมองเรารับรู้ข้อมูลต่างๆ มากกว่าเมื่อสี่สิบกว่าปีที่แล้วถึงสามเท่า และมีคนจำนวนมากที่ใช้ชีวิตเสมือนเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามที่จะต้องรายงานข่าวใหม่ๆ สดๆ ที่เกิดขึ้น อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะมีไฟไหม้ รถติด น้ำมันขึ้นราคา หรือ บุคคลสำคัญเสียชีวิต ส่วนอีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจคือทุกครั้งเมื่อเครื่องบินลงจอดปุ๊บ สิ่งที่แรกที่ผู้โดยสารจำนวนมากทำคือเปิดโทรศัพท์มือถือ ทำให้มีความรู้สึกว่าข้อมูลหรือข่าวสารต่างๆ ที่มาพร้อมกับโทรศัพท์มือถือนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากหรือมีความสำคัญเร่งด่วนถึงขั้นที่เราจะรอที่จะเปิดมือถือในอาคารผู้โดยสารไม่ได้
ปัจจุบันนี้ เริ่มมีความคิดว่าการที่เราเสพติดกับดิจิทัลมากจนเกินไป อาจทำให้วิถีในการดำเนินชีวิต ความคิด และทัศนคติของเรา เปลี่ยนไปจากเดิม คนยุคใหม่อาจจะคิดได้เร็วขึ้น ทำงานได้เร็วขึ้น แต่สิ่งที่ขาดไปคือความสามารถในการคิดในเชิงลึก สมาธิในการทำงานที่นาน หรือแม้กระทั่งความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ต่างๆ
โดยท่านอาจจะเริ่มพบคำศัพท์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพยายามในการลดอาการเสพติดสื่อดิจิทัลต่างๆ มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Digital Diet หรือ Digital Detox หรือ แม้กระทั่ง Digital Addiction Clinics ซึ่งหลายๆ คนที่เข้าโปรแกรมข้างต้นเหล่านี้ ต่างก็หวังว่าพวกเขาจะหายจากโรคเสพติดดังกล่าว และสามารถใช้ชีวิตที่สมดุลในโลกยุคดิจิทัลนี้ได้
หมู โคราช:
ผมคนหนึ่งน่าจะเป็นโรคนี้ ว่างไม่ได้ต้องเล่น Facebook line โทรศัพท์ งุดหงิดง่าย รักษายังไหงครับ :'e:94
น้ำหวานเจี๊ยบ:
ผมไม่เป็นโรคนี้แน่นอนครับเพราะผมไม่มีสมาร์ทโฟน twitter facebook instragram เพราะว่าผมไม่มีตังค์จะซื้อ อิอิ ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ
ปณต:
กลัวแล้วงับ ต้องระวังและเพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ คือว่าถ้าใช้ก็เสี่ยงแล้ว ขอบคุณที่มีเรื่องเตือนใจงับ
มารีน ปทุม:
เป็นเหมือนกัน วันไหนออกจากบ้านแล้วลืมโทรศัพท์มือถือติดตัวไปด้วย มันเหมือนไม่มีความมั่นใจในตัวเองเลย จะต้องย้อนกลับไปเอามาติดตัวให้ได้ น่ากลุ่มใจจริงๆค่ะ psi306
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version