ข้อมูลจาก หนังสือชุดภูตผีปิศาจไทย ของครูเหม เวชกร ลำดับที่ ๔ เล่ม"ผู้มาจากเมืองมืด" ตอน ประตูผี
(ต้นฉบับค้นพบใหม่ตอนปี ๒๕๔๖ ในวาระครบรอบร้อยปีชาตะกาลครูเหม เวชกรพอดี)
'...ตำบลประตูผี เดี๋ยวนี้เปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลว่า ตำบลสำราญราษฎร์ แต่ความหมายก็อยู่ดังเดิม
คือประตูเมืองเก่าที่ทะลุกำแพงเมืองตรงนี้ชื่อประตูผี เป็นที่นำศพคนตายในเมือง
ออกไปทำศพกันนอกเมือง เพราะสมัยโนัน สร้างเมืองใหม่ๆ ต้องการความเป็นมงคล
ไม่มีการนำศพทำเมรุกันในกำแพงเมือง เว้นแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินและพระศพเจ้านายใหญ่ๆโตๆเท่านั้น
ประตูผีนี้จึงมีชื่อตายตัวเป็นกฎว่า ใครนำศพคนตายออกประตูเมืองด้านอื่นๆมิได้
ต้องออกแต่ประตูนี้โดยจำกัด แม้จะเปลี่ยนชื่อใหม่ว่า สำราญราษฎร์ ก็ยังมีความหมาย
เดิมนั่นเอง หมายถึงว่า ราษฎรมีความสุขแล้ว และคนที่สุขที่สุดก็คือคนตายแล้ว
เป็นผู้หมดห่วง หมดกังวล สำราญจริงๆจึงมาออกประตูนี้ และวัดที่ใกล้ที่สุดในสมัยโน้น
ก็คือวัดสระเกศ พอออกจากประตูผีข้ามสะพานลงมา ก็เข้าวัดสระเกศสู่ลานป่าช้า
ที่ใหญ่โตมโหฬารจริงๆ นับแต่ลงสะพานสำราญราษฎร์ก็เป็นพื้นที่ป่าช้าแท้ๆ
จรดสะพานแม้นศรี อีกด้านหนึ่งไปจรดบ้านบาตร เป็นป่าช้าที่กว้างใหญ่
ไม่เหมือนวัดต่างๆเดี๋ยวนี้ ป่าช้าอยู่ติดกับบ้านคน ป้าช้ามีวัดละนิดเดียว คำว่า
ป่าช้าของสมัยก่อนนั้นเป็นสถานที่สงัดเงียบวังเวงไม่ใกล้ใคร ห่างผู้ห่างคนจริงๆ
เป็นแดนของคนตายแล้ว ไม่ใช่แดนคนมีชีวิตจะไปปะปน...'