เพลงพักใจดอทเน็ต

สัพเพเหระ => การงานและอาชีพ => ข้อความที่เริ่มโดย: สุบิน ที่ 08/ธ.ค./11 19:58น.

หัวข้อ: ของเล่นพื้นบ้าน บ้านป่าแดด
เริ่มหัวข้อโดย: สุบิน ที่ 08/ธ.ค./11 19:58น.
(http://upic.me/i/8b/ruihw.jpg) (http://upic.me/show/31053284)เด็ก ๆ และผู้เฒ่าผู้แก่บ้านป่าแดด ในจังหวัดเชียงรายรู้จักการทำของเล่นพื้นบ้านมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกัมปี้ กำหมุน ลิงไต่ราว รวมไปถึงของเล่นประเภทงู กบ ปลาที่สานจากไม้ไผ่ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทยอยออกมาจากความทรงจำของคนเฒ่าคนแก่ที่รวมกลุ่มกันภายใต้ชื่อ "กลุ่มคนเฒ่าคนแก่" ทำของเล่นที่เคยเล่นเมื่อเยาว์วัย

นอกจากรอยยิ้ม เสียงหัวเราะและความสุขที่คืนกลับมาถมความเหงาในใจแล้ว ขอฃเล่นเด็กเหล่านี้ยังช่วยเชื่อมโยงเด็ก ๆ ให้กลับมาใกล้ชิดปู่ย่าตายายอีกด้วย

เมื่อพูดถึงของเล่นพื้นบ้าน เด็กสมัยนี้น้อยคนนักที่จะรู้จัก ส่วนใหญ่แล้วเด็ก ๆ จะรู้จักของเล่นที่ผลิตขึ้นจากนวกรรมใหม่ อาทิ ปืนกลแสงเลเซอร์ เกมกด เครื่องบินไขลาน ตุ๊กตาบาร์บี้ หรือแม้แต่รถแข่งที่ใช้รีโมทบังคับที่กำลังฮิตให้หมู่เด็ก ๆ อย่างรถกระป๋อง เป็นต้น

หากมองย้อนกลับไปในอดีตสมัยปู่ย่าตายายทำของเล่นพื้นบ้านให้ลูกหลานเล่น ไม่ว่าจะเป็นม้าก้านกล้วย ก๊อบแก๊บที่ทำจากกะลามะพร้าว สิ่งเหล่านี้ล้วนมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งสิ้น ปัจจุบันอาจเรียกได้ว่าของเล่นดังกล่าวไม่เหลือให้เด็กรุ่นหลังได้รู้จักกันเลย

วันนี้ภาพของคนเฒ่าคนแก่บ้านป่าแดด อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงรายไม่โดดเดียวเหงาหงอยอีกต่อไป หากมีกิจกรรมสำคัญบางอย่างให้ทำ โดยมีกำลังใจเป็นเด็กเล็กลูกหลานคอยวิ่งเล่นอยู่ใกล้ ๆ ทั้งหมดนี้มีแรงหนุนสำคัญจากคนหนุ่มที่รักจะทำงานกับคนแก่อย่าง วีระพงษ์ กังวานนวกุล หนุ่มไฟแรงจากเมืองกรุงที่หันเหชีวิตเข้าสู่ชนบท พร้อมด้วยผู้ร่วมงานจำนวนหนึ่งจัดตั้งองค์กรเล็ก ๆ ที่ชื่อ "กลุ่มคนเฒ่าคนแก่" และ "กลุ่มพัฒนาเด็กและเยาวชน" ขึ้นภายในหมู่บ้าน

"การจัดตั้งกลุ่มนี้ก็เพื่อจะเน้นตรงต้นแบบและปลายแบบ ต้นแบบก็คือคนเฒ่าคนแก่ ปลายแบบก็คือเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กในชนบทจะเรียนรู้ สัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนเฒ่าคนแก่ซึ่งเป็นแบบอย่างที่ดีงาม และเป็นหลักสำคัญของครอบครัว การทำของเล่นพื้นบ้านเป็นการส่งเสริมให้คนเฒ่าคนแก่ได้พึ่งตนเอง ลดช่องว่างระหว่างสังคมระหว่างผู้สูงอายุกับบุคคลวัยอื่น"

ของเล่นพื้นที่ที่วีระพงษ์ได้ให้คนเฒ่าคนแก่บ้านทำมีอยู่หลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นกังหันลม ซึ่งทำด้วยไม้ไผ่ เต่า ปลา งู ลิง รวมถึงสัตว์อีกสารพัดชนิดและอะไรอีกหลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้คนเฒ่าคนแก่รู้สึกเพลิดเพลินกับผลงานที่ประดิษฐ์ นับเป็นการสร้างสรรค์ความรู้สึกดี ๆ ภูมิใจที่สังคมยังเห็นคุณค่าของคนแก่ เป็นการอนุรักษ์รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเองเพื่อสังคมของคนต่างวัย

"ผมคิดว่าการทำงานกับเด็ก ๆ เป็นผลพลอยได้จากการทำงานกับผู้ใหญ่ จริง ๆ แล้วผมก็ยังคาดหวังลึก ๆ เหมือนกันครับ แต่คิดว่าเราคงจะสวนกระแสของเล่นปัจจุบันยากเหมือนกัน แต่ไป ๆ มา ๆ เด็กเขากลับตื่นเต้นมาก อาจเป็นเพราะว่าในครอบครัวก็มีการพูดถึงกัน พ่อแม่เองก็เคยเห็น เคยเล่นของเล่นเหล่านี้มาก่อน พอเห็นว่ามันกลับมาอีกทีก็พูดถึงให้ลูกฟัง มีรอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะในส่วนของคนเฒ่าคนแก่ได้มีการนำหมอและพยาบาลมาบริการตรวจสุจภาพฟรี เมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์ก็มีการจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่และยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวบ้านกับชุมชน

การเดินทางตามหาของเล่นพื้นบ้านที่บ้านป่าแดด หมู่บ้านเล็กในป่าใหญ่แห่งนี้ กลับไม่พบเพียงของเล่นพื้นบ้านหน้าตาแปลก ๆ ที่คนรุ่นใหม่ไม่เคยเห็นมาก่อนเกือบ 20 ชนิดเท่านั้น ทว่ายังพบบางสิ่งบางอย่างที่หวนกลับคืนมาด้วยนั่นก็คือ ความสุข ความผูกพัน รอยยิ้มและเสียงหัวเราะ.

หมายเหตุ : สนใจสนับสนุนการทำงานของกลุ่มคนเฒ่าคนแก่ สามารถบริจาคได้ที่ชื่อบัญชี กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ ธนาคารกรุงไทย สาขาห้าแยกพ่อขุนเม็งราย บัญชีออมทรัพย์เลขที่ 539-1-17436-8 หรือติดต่อได้ที่ กลุ่มคนเฒ่าคนแก่ 268 ม.3 บ้านป่าแดด ต.ป่าแดด อ.แม่สรวย จ.เชียงราย 57180.

หัวข้อ: Re: ของเล่นพื้นบ้าน บ้านป่าแดด
เริ่มหัวข้อโดย: น้องดา ที่ 09/ธ.ค./11 00:38น.
ดีค่ะพี่สุบินเป็นการอนุรักษ์ของเก่าๆๆที่เคยสัมผัสมาในสมัยก่อน อาจจะเผยแพร่ให้เด็กๆๆได้รับทราบจากจินตนาการที่ผู้เฒ่า ผู้แก่ได้กลั่นกรองออกมาจากใจให้มันกลายมาเป็นสิ่งของ มีทั้งความรัก ความผูกพันธ์กันเหมือนสมัยก่อน ดีค่ะนับว่าเป็นโครงการที่ดีโครงการหนึ่งที่สนับสนุนให้ได้มีสืบต่อไป :'e:106
หัวข้อ: Re: ของเล่นพื้นบ้าน บ้านป่าแดด
เริ่มหัวข้อโดย: ประสิทธิ์ ที่ 09/ธ.ค./11 01:18น.
ของเล่นจากไม้ ถือว่าเป็นสินค้าที่คนไทยส่งออกมากเหมือนกัน ผมเคยไปเจอที่ต่างประเทศหลายแบบทีเดียวที่ทำจากไม้สักจากภาคเหนือและจากไม้ยางพาราจากภาคใต้ แต่จำชื่อโรงงานผลิตไม่ได้ แต่เป็นสิ่งประเทืองปัญหาของเด็กไทยมาช้านาน ทุกวันนี้กลับเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติด้วย ขอบคุณมากครับพี่สุบินที่นำมาให้เพื่อนได้ทราบกัน
 :'e:92 :'e:92