ผู้เขียน หัวข้อ: "ข้าวเย็นเหนือ" และ "ข้าวเย็นใต้" สมุนไพรมากประโยชน์  (อ่าน 3997 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ สุบิน

  • เทพ
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 2334
    646
    • อีเมล์



ผู้ที่สนใจในตำราแพทย์แผนไทย ย่อมจะเคยรู้จักชื่อสมุนไพร 2 ชนิด ที่ชื่อว่า ข้าวเย็นเหนือ, ข้าวเย็นใต้ หรือข้าวเย็นทั้ง 2 ซึ่งตำราบางเล่มเรียกชื่อว่า "หัวยาข้าวเย็นเหนือ" หรือ "หัวยาข้าวเย็นใต้" ก็มี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตำรับยาที่ใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง โรคบุรุษ โรคเข้าข้อออกดอก โรคฝี โรคระดูขาว โรคไข้ทับระดู หรือโรคระดูทับไข้ โรคริดสีดวงทวาร และยาครรภรักษา (ยาบำรุงครรภ์) ที่มักจะมีข้าวเย็นทั้ง 2 เป็นตัวยาสำคัญร่วมอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากรายชื่อโรคที่ได้เอ่ยมาข้างต้นที่มีค่อนข้างหลากหลายและเป็นโรคที่ชาวบ้านมักจะเป็นกันอยู่ (แม้แต่ในสมัยนี้) ก็เห็นว่า เรื่องราวของ "ข้าวเย็นเหนือ" และ "ข้าวเย็นใต้" เป็นเรื่องที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อย ดังนั้น ใน "เทคโนโลยีชาวบ้าน" ฉบับนี้ เราจะนำเอาเรื่องราวของหัวยาข้าวเย็นทั้ง 2 ชนิด มาเล่าสู่กันฟัง

ข้าวเย็นทั้ง 2 มีกล่าวถึงในพระคัมภีร์แพทย์ของเก่า คือ พระคัมภีร์มหาโชตรัตและพระคัมภีร์ชวดาร และยังมีบันทึกไว้ในตำรายา "จารึกวัดราชโอรส" (ยุคต้นรัตนโกสินทร์-สมัย ร.2) และตำรายารุ่นหลังๆ เช่น "ตำรายาสมุนไพรหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า" เป็นต้น เราจะลองไปสำรวจย้อนหลังกันดูว่า บรรพบุรุษของเราได้นำเอาหัวยาข้าวเย็นมาใช้เป็นยาในการบำบัดโรคภัยอย่างไรบ้าง หลังจากนั้น ค่อยมาทำความรู้จักกับสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ดังกล่าวต่อไป

ตำรายาที่มีชื่อของข้าวเย็นทั้ง 2 ร่วมอยู่ด้วย ตำรับแรกคือ "ยาแก้มเรงทังปวง" (ยาแก้มะเร็งทั้งปวง) ที่ปรากฏอยู่ใน "ตำรายาจารึกวัดราชโอรส" (วัดราชโอรส หรือ วัดราชโอรสาราม เดิมมีชื่อว่า วัดจอมทอง เป็นวัดโบราณที่สร้างมาก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2364 พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ได้ทรงรื้อและปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งหมด แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง ซึ่งรัชกาลที่ 2 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า วัดราชโอรส เป็นวัดที่ตั้งอยู่ ณ จังหวัดธนบุรี ก่อนจะมารวมอยู่ในกรุงเทพมหานครในภายหลัง) ซึ่งบันทึกไว้ก่อนที่จะมีจารึกตำรายาของ "วัดโพธิ์" เนื้อความของตำรับยา มีว่า

"สิทธิการิยะ-ยาแก้มเรงทังปวงเอา อยาดำ รงทอง กำมถันทังสอง เทียรดำ สิ่งละ -/-2 เข้าสารขั้วรแนงเอา -/3 หัวย้าง เปลือกสรรพร้าพวงแอ -/3 เอาเข้าเยนทังสอง สิ่งละ 5/- ตวงด้วยสุรา 7 ทนาน ให้กินแก้มเรงคชราช แลไส้ดวนไส้ลาม ทังอุปทมก็หายสิ้นดีนักฯ

อนึ่ง เอาพรรผักกาษ พริกไท สิ่งละ -/1 อยาเข้าเยนทังสอง สิ่งละ 2/2 หัวย้างได้ลหางนาก สิ่งละ 5/- กะเทียม 3 หัว ต้ม 3 เอา 1 ให้กินแก้มเรงคุด มเรงเพลิง มเรงเปื่อย ทังตัวก็ดี หายสิ้น ได้ใช้มามากแล้วอย่าสนเท่เลยฯ"

จากข้อความที่ยกมาข้างต้น เป็นยา 2 ตำรับ ที่ใช้รักษามะเร็งทั้งคู่ ที่ยกมาก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้เห็นสำนวนภาษาไทยเมื่อราว 190 ปีก่อน ที่พวกเราเข้าใจค่อนข้างจะยาก คำว่า ยา ท่านสะกดว่า อยา, ข้าวสารคั่ว ท่านว่า เข้าสารขั้ว, ยาเข้าเย็น ท่านว่า อยาเข้าเยน, ไคล้หางนาก ท่านว่า ได้ลหางนาก, มะเร็งคุด ท่านว่า มเรงคุด และมะเร็งคุดทะราด ท่านว่า มเรงคชราช และยังมีคำศัพท์ที่เรายังเดาไม่ออกอีก คือคำว่า หัวย้าง ซึ่งไม่ทราบว่าท่านหมายถึงอะไร แต่ที่แน่ๆ ก็คือ ท่านใช้ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ เป็นตัวยาที่ใช้รักษามะเร็งแน่นอน

ตำรายุคหลังต่อๆ มา ที่ระบุตัวยาในตำรับยารักษาโรคโดยใช้ข้าวเย็นมีมากมายหลายตำรับ เช่น ตำรายาหลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท ซึ่งก็มีทั้งโรคมะเร็งและโรคอื่นๆ แต่เพื่อมิให้ยืดยาวจนเกินควร ผู้เขียนจะนำเอารายละเอียดมาลงแต่เพียงบางตำรับ นอกนั้นก็จะสรุปมาพอเข้าใจ หากท่านผู้ใดสนใจยาตำรับใดจริงๆ ก็สามารถไปค้นเพิ่มเติมได้จากหนังสือตำรายาหลวงพ่อศุขที่มีพิมพ์เผยแพร่ออกมาแล้วหลายเล่ม หลวงพ่อศุข บันทึกไว้ว่า

1. ยาแก้ฝีทุกชนิด ที่เข้าด้วยข้าวเย็นทั้ง 2 มีมากด้วยกันถึง 6 ตำรับ มีตัวยาตั้งแต่ 3 อย่าง-7 อย่าง ซึ่งจะขอนำเอามาลงไว้พอเป็นตัวอย่างเพียง 1 ตำรับ ได้แก่ หัวข้าวเย็นเหนือ 1, หัวข้าวเย็นใต้ 1, กระดูกควายเผือก 1, กำมะถันเหลือง 1, ขันทองพยาบาท 1 และหัวต้นหนอนตายหยาก 1 เอาอย่างละ 20 บาท (น้ำหนัก) เท่ากัน และเหง้าสับปะรด หนัก 10 บาท, กระดูกม้า หนัก 4 บาท, ต้นพริกขี้หนู 1 ต้น (เอาทั้งต้นทั้งราก), ผิวไม้รวก (ขูด) 3 กำมือ รวมเป็น 10 อย่าง นำมาต้มในหม้อดินพอสมควร ใช้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา 3 เวลา หลังอาหาร มีสรรพคุณ แก้โรคแผลกลาย โรคฝีทุกชนิด รักษาแผลในหลอดลม ในลำไส้ ได้ผลชะงัดนักฯ

2. ยาแก้โรคระดูขาว และโรคบุรุษ ท่านให้เอา ต้นตะไคร้ทั้งห้า (ถอนเอาทั้งต้นตลอดราก) หนัก 20 บาท, หัวยาข้าวเย็นเหนือ หนัก 1 บาท, หัวยาข้าวเย็นใต้ หนัก 1 บาท, ต้นบานไม่รู้โรยดอกสีขาว ทั้งห้า (ต้นตลอดราก) 1 ต้น และเกลือทะเล (ใส่ให้มีรสเค็มมากๆ) นำมาต้ม 3 เหลือ 1 ใช้น้ำยาดื่มครั้งละ 1 ถ้วยตะไล วันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) ก่อนอาหาร แก้ระดูขาวและโรคบุรุษได้ผลชะงัดนัก

3. ยาแก้ไอ ท่านให้เอาหัวยาข้าวเย็นทั้ง 2 ชนิด อย่างละ 5 บาท (น้ำหนัก) เท่ากัน ต้มในหม้อดิน เติมเกลือทะเลเล็กน้อย ใช้ดื่มวันละ 2 เวลา (เช้า-เย็น) แก้ไอดีนักฯ

4. ยาแก้โรคเบาหวาน ท่านให้เอาหัวยาข้าวเย็นทั้ง 2 กับใบโพธิ์ และไม้สักใส่หม้อดินต้มดื่มน้ำ แก้เบาหวาน อีกตำรับหนึ่งใช้หัวยาข้าวเย็นทั้งสอง กับต้นลูกใต้ใบ ต้มน้ำดื่มเช่นกัน

5. ยาแก้โรคริดสีดวงทวารหนัก ท่านให้เอาตัวยา 12 อย่าง คือ หัวยาข้าวเย็นเหนือ, หัวยาข้าวเย็นใต้, เหง้าสับปะรด, รากลำเจียก, สารส้ม, พริกไทยล่อน, จุกกระเทียม, จุกหอมแดง, จันทน์แดง, จันทน์ขาว, แก่นจำปา และเครือส้มกุ้ง ต้มด้วยหม้อดิน ดื่มครั้งละ 1 ถ้วยชา วันละ 3 เวลา (เช้า-กลางวัน-เย็น) ท่านว่าริดสีดวงทวารจะหายภายใน 7 วัน

6. ยาแก้ไข้ทับระดู และ ระดูทับไข้ เฉพาะที่เข้าด้วยหัวยาข้าวเย็นทั้ง 2 มีจำนวน 2 ตำรับ ใช้ตัวยารวม 4 อย่าง และ 6 อย่าง ใช้ต้มเอาน้ำดื่ม

7. ยาแก้โรคหนองใน (ใช้ได้ทั้ง ชาย-หญิง) เป็นยาต้ม ใช้หัวยาข้าวเย็นทั้ง 2 และสมุนไพรอย่างอื่น รวมทั้งสิ้น 14 อย่าง ต้มน้ำดื่ม แก้โรคหนองใน (โกโนเรีย) จะหายภายใน 7 วัน

มาถึงสมัยนี้, ยาแก้โรคบุรุษ และโรคหนองใน ตามตำรับแผนปัจจุบันค่อนข้างจะมีประสิทธิภาพสูง ผู้ที่เป็นจึงไม่จำเป็นต้องหันไปใช้ยาแผนไทยเช่นในกาลก่อน แต่ก็ควรจะระวังไว้ให้จงหนักว่า การที่ท่านเป็นโรคที่ติดต่อทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นโรคหนองใน หรือโรคซิฟิลิส ก็ตาม ย่อมคาดคะเนได้ว่า ท่านเสี่ยงที่จะติดโรค เอช ไอ วี (เอดส์) ได้เช่นกัน โปรดอย่าชะล่าใจ หรือตกอยู่ในความประมาทอีกต่อไป เพราะโรคเอดส์นั้น หากเป็นแล้วก็หมดโอกาสที่จะได้ "แก้ตัว" ...ไม่ควรเสี่ยง

ที่ยกมาข้างต้นนั้น เป็นข้อมูลการใช้ประโยชน์จากยาข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ ตามตำรับยาแผนไทยในอดีต ทีนี้ เราจะกลับหันมาทำความรู้จักกับยาข้าวเย็นเหนือกับข้าวเย็นใต้ในเชิงลึก และน่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่ต้องการจะปลูกสมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ ต่อไป

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ท่านให้ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวเย็นทั้ง 2 ไว้ว่า

"ข้าวเย็นใต้ น. ชื่อไม้เถาชนิด Smilax glabra Roxb. ในวงศ์ Smilacaceae เหง้าใช้ทำยาได้"

"ข้าวเย็นเหนือ น. ชื่อไม้เถาชนิด Smilax china L. ในวงศ์ Smilacaceae เหง้าใช้ทำยาได้"

สรุปได้ว่า ทั้ง 2 ชนิด เป็นไม้เถาในวงศ์เดียวกันแต่ต่างชนิด ใช้เหง้าหรือหัวเป็นยาได้เหมือนๆ กัน

เราจะไปเปิดดูในตำราเล่มอื่นๆ บ้างว่า ข้าวเย็นทั้ง 2 ชนิด มีสรรพคุณในทางใดบ้าง ตำราที่เราจะไปค้น ก็คือ "สารานุกรมสมุนไพร" ของ อาจารย์วุฒิ วุฒิธรรมเวช ซึ่งมีข้อมูลอยู่ที่หน้า 135 ท่านว่า

ทั้งข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ มีสรรพคุณเหมือนกัน และนิยมใช้คู่กัน เรียกว่า "ข้าวเย็นทั้งสอง" โดยใช้หัว ซึ่งมีรสมันกร่อยและหวานเล็กน้อย มีสรรพคุณแก้ประดง คุดทะราด แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ แก้กามโรค ออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อยพุพอง เม็ดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก และใช้แก้อักเสบในร่างกาย

ข้าวเย็นเหนือ เถามีหนาม ใบเหมือนกับใบกลอย ลักษณะใบเป็นรูปหัวใจ, หัวมีเนื้อสีน้ำตาลแดง เนื้อค่อนข้างแข็ง มีตามป่าในทุกภาค แต่ส่วนใหญ่จะได้มาจากภาคเหนือ จึงเรียกว่า ข้าวเย็นเหนือ ส่วนชื่ออื่นก็มี ได้แก่ ข้าวเย็นโคกแดง, ยาหัวข้อ, ค้อนกระแต (อุบลราชธานี), หัวยาจีนปักษ์เหนือ (ใต้) และเสี้ยมโถ่ฮก (ภาษาจีน)

ข้าวเย็นใต้ เถามีหนาม เกิดตามป่าที่มีความชื้นต่ำ หัวเล็ก, สีขาวอมเหลืองหรือเทา เรียกกันว่า ข้าวเย็นโคก แต่สรรพคุณสู้ที่นำเข้าจากจีนไม่ได้ เพราะมีหัวโตกว่าและเนื้อนิ่ม ชื่ออื่นๆ คือ ข้าวเย็นโคกขาว, ยาหัวข้อ (เหนือ), หัวยาจีนปักษ์ใต้ (ใต้) และเตียวโถ่ฮก (ภาษาจีน)

การขยายพันธุ์-ใช้หัวฝังดิน แต่ค่อนข้างจะเป็นไม้ที่เลี้ยงยาก หากออกไปพ้นถิ่นเดิมก็มักจะเฉาและตายไปในที่สุด ดังนั้น จึงหาดูต้นหรือดูหัวสดได้ค่อนข้างยาก ส่วนใหญ่ก็จะเห็นแต่หัวตากแห้ง โดยสังเกตได้ชัดเจนว่า ข้าวเย็นเหนือจะมีสีน้ำตาลปนแดงสดใส ส่วนข้าวเย็นใต้จะมีหัวสีขาวหรือสีเทาหม่น (กรุณาดูภาพถ่ายประกอบ)

ท่านผู้ใดมีต้นพันธุ์หรือหัวพันธุ์อยู่และอยากจะเผยแพร่ให้เกษตรกรท่านอื่นได้ทดลองปลูกบ้าง กรุณาแจ้งข้อมูลให้ผู้เขียนทราบ เพื่อจะได้ทำหน้าที่สื่อกลางให้ในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้สมุนไพรทั้ง 2 ชนิดนี้ ได้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในอนาคตนั่นเอง

เรื่องราวของ "ข้าวเย็นเหนือ" และ "ข้าวเย็นใต้"สมุนไพรที่ไม่ธรรมดา จากอดีต...มาจนถึงปัจจุบัน ก็ขอจบลงแต่เพียงแค่นี้ สวัสดีครับ

ขอบคุณอาจารย์ ไพบูลย์ แพงเงิน เจ้าของบทความมาณ.ที่นี้

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832

ออฟไลน์ ภูวดี

  • ผู้ช่วยแอตมิน
  • *******
  • ออฟไลน์
  • 2319
    4393
  • เพศ: ชาย
    • อีเมล์

กำลังสงสัยอยู่ครั๊บไอ้ตัวยา ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้
ใช้เป็นส่วนผสมในตัวยาแก้โรคปวดหลังว่ามันคืออะไร
นึกว่าหมายถึงข้าวจริงๆ...มาเห็นตรงนี้ อ้าว เป็นพืช...ถึงได้ทราบครั๊บ
ดอกสวยครั๊บ คุ้นตามาก เหมือนจะเห็นปลูกอยู่ตามบ้านหลายแห่ง

:'e:37ไอ้โรคชนิดที่ 7 ปัจจุบันไม่ค่อยจะได้ยินว่าใครเป็นนะครั๊บ
หรือจะหายสาบสูญไปพร้อมๆกับ หิต ก็ไม่ทราบเหมือนกัน

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 21/พ.ค./12 01:14น. โดย ภูวดี »
ขอให้มีความสุขกับเสียงเพลงครั๊บ


ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ ชื่อคุ้นหูค่ะ แต่ดูรูปแล้วไม่เคยเห็นเลยค่ะ
สนใจโรคที่หกอ่ะค่ะ ขอบคุณมากนะคะคุณสุบิน ที่นำสาระดีๆมาให้อ่าน

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832

toon

  • บุคคลทั่วไป

 :'e:94 มากๆคับที่นำสิ่งดีๆมาให้กันครับผมๆๆๆนำไปใช้ได้อีกด้วยสมุนไพรแบบนี้
ขอบคุณอีกครั้งเป็นอย่างสูงครับ

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832


  ขอเสริม ข้อมูลจากลุงสุบิน อีกนะครับ อันนี้มีประสพการณ์ ด้วยตัวเองเลย เมื่อตอนลูกชายคนกลางยังเล็ก ผิวหนังผุพองบ่อย มดกัด ยุงกัด มีแผลนิดหน่อย ก็จะเปื่อย ผุพองมีน้ำเหลือง ไปทั้งตัว โดยเฉพาะ แถวแข้งขา ไปหาหมอแผนปัจจุบัน ทั้งที่คลีนิด โรงพยาบาล ได้ยาทา ยากิน แต่พอยาหมด ก็เป็นอีก บังเอิญใกล้ๆบ้านมีอาม่าแก่ๆ คนนึงแกเห็นลูกชาย ก็แนะนำให้ ไปซื้อข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้ มาเท่าๆกัน ต้มให้ิกินต่างน้ำ พอหมดแค่หม้อเดียว แผลแห้งหาย และไม่เคยเป็นอีกเลย ตราบเท่าทุกวันนี้ ผมก็ได้แนะนำเพื่อนๆ ไปหลายคน ได้ผลครับนี่แหละสรรพคุณของ "ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นใต้"

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832

ออฟไลน์ ตู่ ลำพูน

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 583
    114
  • เพศ: ชาย

นึกว่าเป็นข้าวเย็นจริง...ที่ไหนได้เป็นพืชสมุนไพร...พยายามนึกภาพดอกคล้ายดอกอะไรนึกไม่ออก..ขอคุณลุงสุบินที่นำสารดีๆมาฝากครับสมุนไพรไทยเรามีหลายชนิดบางชนิดก็ถูกต่างประเทศจดสิทธิบัตรเอาไปทำยา

+0 โดย

ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=6832