ผู้เขียน หัวข้อ: ของดีเมืองนครศรีธรรมราช  (อ่าน 7447 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ สุวิทย์ สุข

  • VIP
  • *****
  • ออฟไลน์
  • 110
    69
  • เพศ: ชาย
ของดีเมืองนครศรีธรรมราช
« เมื่อ: 16/ก.พ./15 18:59น. »


1. พระพุทธสิหิงค์

พระพุทธสิหิงค์ เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมือง ของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นพระพุทธรูปที่มีพระรูป และสัดส่วนที่งดงามมาก
* ในประเทศไทย มีพระพุทธสิหิงค์อยู่  ๓ องค์ คือ 
* ที่หอพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช 
* ที่พระที่นั่งพุทไธสวรรค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
* ที่วัดพระสิงห์เชียงใหม่
.....ตามประวัติกล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์ สร้างที่ประเทศลังกา เมื่อ พ.ศ.๗๐๐ ด้วยกิตติศัพท์เลื่องลือ ว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์
มีพุทธลักษณะงดงาม พ่อขุนรามคำแหง จึงทรงขอให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจัดส่งราชฑูตไปลังกา ขอพระพุทธรูปองค์นี้มาบูชา
ซึ่งก็ได้มาตามราชประสงค์ ได้อัญเชิญมาประดิษฐานที่นครศรีธรรมราช จัดงานพิธีสมโภชใหญ่โต เป็นเวลา ๗ วัน พระเจ้าศรีธรรมโศกราชได้ให้ช่างท้องถิ่น จำลองไว้บูชา ๑ องค์ แล้วได้อัญเชิญไปไว้ ณ กรุงสุโขทัย พระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่นครศรีธรรมราชนี้
มีลักษณะ ตามแบบสกุลช่างท้อวถิ่น เรียกว่า แบบขนมต้ม คือ มีพระพักตร์กลม อมยิ้ม พระอุระอวบอ้วน ประทับนั่งในท่าขัดสมาธิเพชร ชายสังฆาติสั้นระดับพระถัน

หอพระพุทธสิหิงค์

หอพระพุทธสิหิงค์อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครนั้น เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร ตั้งอยู่ระหว่าง
ศาลากลางจังหวัด และ ศาลจังหวัด สร้างใหม่แทนหอเดิมใน พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แบ่งออก
เป็นสองตอน มีผนังก่ออิฐกั้น ตอนหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร บุด้วยทองคำ และเงิน
อย่างละองค์ ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของตระกูล ณ นคร



พระเจดีย์ยักษ์ และพระเงิน

...เป็นเจดีย์โบราณทรงลังกา ก่อด้วยอิฐขนาดสูงใหญ่ เป็นรองจากองค์พระบรมธาตุเจดีย์ แต่เดิมนั้นอยู่ในวัดพระเงิน  ซึ่งปัจจุบัน
อยู่ในเขต ต. คลัง อ. เมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ติดกับสำนักงานเทศบาลนคร นครศรีธรรมราช
...มีผู้สันนิษฐานว่า สร้างในระหว่าง พุทธศัตวรรตที่ ๑๘ - ๑๙ ในสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช และได้สร้างวิหารหน้าพระเจดีย์
ประดิษฐานหลวงพ่อเงิน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ ฝีมือช่างอยุธยา เป็นที่สักการะบูชาของชาวนคร และชาวพุทธทั่วไป
...ตามตำนานของพระเจดีย์ยักษ์กล่าวว่า ในขณะกำลังทรงสร้างพระบรมธาตุอยู่นั้น ปรากฎว่ามียักษ์ตนหนึ่งเข้ามายังเมืองนครศรีธรรมราช
ต้องการจับคนในเมืองกินเป็นอาหาร ระหว่างนั้นทางชาวเมืองกำลังก่อสร้างเจดีย์พระธาตุอยู่ ชาวบ้านจึงขอร้องยักษ์ตนนั้นว่าอยากสร้างเจดีย์พระธาตุให้เสร็จก่อนแล้วจะยอมให้กินเป็นอาหาร ทันใดนั้นก็มีชายผู้หนึ่งนึกพิเรน จึงท้าเจ้ายักษ์ตนนั้นว่าถ้าแน่จริงให้มาแข่งกันสร้างเจดีย์ เจ้ายักษ์ก็รับปาก เวลาผ่านไปเจ้ายักษ์ก็เริ่มสร้างเจดีย์ ทางยักษ์ตนนั้นใช้เวลาไม่นานก็สร้างเจดีย์กำลังจะเสร็จแล้ว ทางชาวเมืองเห็นว่ายังไงก็คงไม่มีทางสร้างเสร็จก่อนเจ้ายักษ์แน่ๆ จึงคิดอุบายนำผ้าสีเหลืองมาห่มเจดีย์พระธาตุ ด้วยระยะห่างระหว่างพระธาตุกับเจดีย์ยักษ์ทำให้เจ้ายังมองไปเห็นเหมือนว่าชาวเมืองสร้างเจดีย์เสร็จก่อนตน จึงเกิดโมโหอย่างมาก ด้วยความโกรธจึงใช้มือทุบยอดเจดีย์
ของตนที่กำลังจะเสร็จจนยอดหัก แล้วด้วยความอับอายยักษ์ตนนั้นจึงวิ่งออกจากเมืองไป ชาวเมืองดีใจเป็นอย่างมากจึงเกิดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน...



หอพระนารายณ์ ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับหอพระอิศวร คนละฟากของถนนราชดำเนินในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเทวสถานของพรามณ์ ลัทธิไวษณพนิกาย ซึ่งนับถือพระนารายน์เป็นเทพสูงสุด มีเทวรูปพระนารายน์ประดิษฐานอยู่ อายุประมาณ พุทธศัตวรรษ
ที่ ๑๐-๑๑ เทวรูปองค์นี้เป็นเทวรูปศิลปแบบอินเดียที่เก่าแก่ที่สุดที่ได้พบ ปัจจุบันได้ย้ายไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑสถานนครศรีธรรมราช



หอพระอิศวร อยู่ในอำเภอเมือง ทางทิศใต้ของวัดเสมาเมือง อยู่ตรงกับข้ามกับหอพระนารายน์ บูรณะใหม่เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐
เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอิศวร เป็นองค์เทพสูงสุดของศาสนาพรามณ์ ลัทธิไศวนิกาย ด้านทิศใต้ของหอพระอิศวร มีเสาชิงช้าสำหรับ
ทำพิธีโล้ชิงช้าของพรามณ์เมืองนครศรีธรรมราช และได้ยกเลิกไป เมื่อ พ.ศ.๒๔๖๘
........ เมื่อก่อนใกล้กับเสาชิงช้ามีโบสถ์พรามณ์ แต่ได้ผุพังจนไม่เหลือซากแล้วภายในโบสถ์มีเทวรูปหล่อด้วยสำริด อายุระหว่าง
พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - ๒๕ อาธิ พระพิฆเนศวร พระศิวะนาฏราช พระอุมา และรูปหงส์ซึ่งย้ายเข้ามาไว้ในหอพระอิศวร แต่ทางพิพิธภัณฑสถานเกรงว่าจะสูญหาย จึงย้ายไปเก็บรักษาไว้ในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑสถานนครศรีธรรมราช และได้หล่อรูปจำลอง
ไว้แทนในหอพระอิศวร



ศาลพระเสื้อเมือง ตามคติโบราณ เมื่อใดที่มีการตั้งบ้านเมืองก็มักจะสร้างศาลไว้ให้เทพารักษ์ผู้รักษาบ้านเมืองด้วย

ศาลพระเสื้อเมืองนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของหอนาฬิกา ห่างจากศาลากลางประมาณ ๑๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าคงจะเป็นบริเวณ
กลางเมืองในอดีต เเละคงสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย ศาลเดิมสร้างด้วยไม้ จึงไม่เหลือร่องรอย ผุพังตามกาลเวลา
หลังจากนั้นเข้าได้มีการสร้างขึ้นใหม่อีกหลายครั้ง มีผู้บันทึกว่าเมื่อประมาณ ๑๐๐ ปีมาเเล้วเห็นเป็นศาลไม้ หลังคามุงกระเบื้อง
หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ภายในประดิษฐานเทพารักษ์ 2 องค์ ลักษณะคล้ายกับท้าวกุเวรราชในวิหารม้า วัดพระมหาธาตุ
ต่อมามีผู้บูรณะเทวรูปทั้งสองนี้และลงรักปิดทอง
    ในระยะหลังปรากฎว่า ศาลพระเสื้อเมือง เป็นที่นับถือของชาวจีนเป็นจำนวนมาก ศาลนี้จึงได้รับการตกเเต่งจนดูคล้ายศาลเจ้าของจีนไป



กุฏิท่านเจ้าคุณ "พระรัตนธัชมุนี" อยู่ที่วัดท่าโพธิ์วรวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างเมื่อ พ.ศ.๒๐๒๗ ตรงกับรัชสมัย
ของสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ แห่งกรุงศรีอยุธยา
    เมื่อพ.ศ.218ในสมัยที่พระนเรศวรส่งพระรามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมืองนคร มีโจรสลัดจากสิงคโปร์ ยกเข้าปล้นเมืองนคร
พระรามราชท้ายน้ำส่งกำลังเข้าต่อสู้อย่างเข้มเเข็ง จนในที่สุดก็สามารถตีข้าศึกพ่ายเเพ้กลับไปได้ เเต่กว่าจะได้ชัยชนะ วัดท่าโพธิ์เเละชุมชน
เเถบนั้น ก็ถูกเผาทำลายสิ้นเสียเเล้ว วัดท่าโพธิ์จึงร้างไปชั่วคราว
         มาในสมัยต้นรัตนโกสิน เจ้าอุปราชพัฒน์ได้มาตั้งวังอยู่ทางทิศเหนือ ห่างวัดท่าโพธิ์ประมาณ 400 เมตร ครั้นสิ้นสมัย เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชคนเดิม เจ้าอุปราชพัฒน์ ได้รับการเเต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองคนต่อมา จึงได้ย้ายมาอยู่ที่วังเจ้าเมืองเดิม บริเวณที่อยู่เก่าได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2327 ให้ชื่อว่าวัดท่าโพธิ์ตามเดิม สิ่งที่ควรกล่าวไว้ ณที่นี้ด้วยว่าสมัยที่มีการเปลี่ยนเเปลงการปกครองมาเป็นเเบบมณฑล ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น พระรัตนธัชมุนี (ม่วง) เจ้าอาวาสวัดท่าโพธิ์ (ดูประวัติโดยละเอียดของท่านเจ้าคุณได้ในหน้า "เครื่องถมนคร") ท่านเจ้าคุณมีบทบาทอย่างมากในการจัดการศึกษาแผนใหม่ โดยได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นถึง 21 แห่งในท้องที่ต่างๆของจังหวัด ทั้งได้จัดตั้งโรงเรียนช่างถมขึ้นที่วัดท่าโพธิ์ด้วย  ทำให้การศึกษาในจังหวัดนครศรีธรรมราช เจริญรุดหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว
     กุฎิของท่านเจ้าคุณรัตนธัชมุนี(ม่วง) ยังคงตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ในบริเวณวัดท่าโพธิ์วรวิหาร ในปี  พ.ศ.๒๕๔๐ กรมศิลปากร ได้ซ่อมแซมบำรุงรักษาสภาพเดิมเด่นเป็นสง่า กุฎินี้สร้างขึ้นเเบบตะวันตกเป็นเรือนตึก 2 ชั้น ตามกรอบประตู หน้าต่าง มีลวดลายไม้เเกะสลักละเอียด
งดงาม



กำแพงเมืองนครศรีธรรมราชตั้งอยู่ริมคลองหน้าเมือง ถนนมุมป้อม อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

การสร้าง ปรากฏหลักฐาน จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ว่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมื่อตั้งเมืองขึ้นที่ หาดทรายแก้ว แล้วจึงสร้างกำแพง เมืองเป็นกำแพงดิน มีคูล้อมรอบ สันนิษฐานว่า มีการบูรณะกำแพง เมืองส่วนต่างๆ กันมาหลายครั้งทุกครั้ง คง พยายามรักษาแนวกำแพงเดิมไว้

      ใน พ.ศ.๑๙๕๐ สมเด็จพระราเมศวรแห่งกรุงศรีอยุธยาตีล้านนาไทยได้ได้กวาดต้อนผู้คน มาไว้ที่เมือง นครศรีธรรมราช ชาวล้านนาไทยจึงนำเอาแบบอย่างการ สร้างกำแพงเมืองมาจากเมืองเชียงใหม่ มาซ่อมกำแพงเมืองนครศรี ธรรมราชโดยทำเป็นกำแพงแบบปักเสา
พูนดิน

      ในราว พ.ศ. ๒๑๐๐ เมื่อชาวโปรตุเกสนำวิธีการสร้างแบบ ก่ออิฐและตั้งฐานปืนใหญ่เข้ามา กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ได้ถูดดัดแปลงเป็นกำแพงก่ออิฐขึ้นเพื่อให้เป็นป้อม ปราการที่แข็งแรง

       ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นายช่างวิศวกรและสถาปนิก ของฝรั่งเศสเข้ามาเมืองไทย จึงมีการสร้างกำแพงเมืองตามแบบ
ชาโต (Chateau) กำแพงเมืองนครศรีธรรมราชที่ เห็นอยู่ในปัจจุบัน จึงเป็นกำแพงเมืองที่สร้างขึ้นสมัยพระนารายณ์มหาราช

       ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยซึ่งตรง กับสมัยที่พระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์) ครองเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีการซ่อมกำแพงอีกครั้ง

       เจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ครั้งเป็นพระยาสุขุมนัยวินิต ข้าหลวง สมุหเทศาภิบาล สำเร็จราชการมณฑลนครศรีธรรมราช สั่งให้รื้อกำแพง เมืองซึ่งชำรุดแต่ยังคงเห็นรูปทรงและใบเสมาชัดเจน เอาอิฐ มาทำถนนที่เลียบริมกำแพงด้านในทุกด้าน

       ปัจจุบันกรมศิลปากรได้ทำการซ่อมกำแพงด้านทิศเหนือเพียงบาง ส่วน ใบเสมาและแนวป้อมจึงยังคงปรากฏให้เห็น ส่วนด้านอื่น ๆ
นั้นพังทลายเห็นเพียงซากอิฐหรือดินเท่านั้น

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช เป็นเครื่องแสดงถึงความเก่าแก่ ควนแข็งแกร่ง ความ เจริญรุ่งเรือง และประวัติศาสตร์อันยาวนาน

กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีอาณาเขตดังนี้

_ด้านทิศเหนือ กว้าง 11 เส้น 10 วา ปัจจุบันแนวซากกำแพงด้านนี้ ทิศตะวันออก จากวัดมุมป้อม ทิศตะวันตกจดมุมของเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช มีคลองหน้าเมืองเป็นคูเมือง 
_ด้านทิศใต้ กว้าง 11 เส้น 10 วา ปัจจุบันแนวซากกำแพงเมืองด้านนี้ ทิศตะวันออก จากโรงเรียอนุบาลโสภณวิทยา โรงเรียนเทคนิคพานิชย
การโสภณ  ทิศตะวันตกจดหัวท่า มีคลองป่าเหล้าเป็นคูเมือง 
_ด้านทิศตะวันออก ยาว 55 เส้น 5 วา ปัจจุบันแนวซากกำแพงเมือง ด้านนี้ ทิศเหนือ จากวัดมุมป้อม ทิศใต้จดโรงเรียนอนุบาลโสภณวิทยา โรงเรียนเทคนิคพานิชยการโสภณ  คูเมืองด้านนี้ตื้นเขินเป็นส่วนใหญ่ ประชาชนได้สร้างบ้านเรือนอยู่อาศัย 
_ด้านทิศตะวันตก ยาว 55 เส้น 5 วา ปัจจุบันแนวซากกำแพงเมืองด้านนี้ ทิศเหนือจาก มุมเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช ทิศ ใต้จดหัวท่า
มีคลองจากหัวท่า มาตามแนวกำแพงมาเลี้ยวขวาที่มุมเรือนจำเป็นคลองหน้าเมือง เป็นคูเมือง

ประตูกำแพงเมืองนครศรีธรรมราช

๑.    ประตูชัยเหนือ เดิม ชื่อประตูชัยศักดิ์ เป็น ประตูเมือง ด้านทิศเหนือ หรือด้านหน้าเมือง อยู่ตรงเชิงสะพานนคร น้อยด้านใต้ในปัจจุบัน เดิมมีสะพานหก สำหรับเปิด ปิดได้เป็น ประตูขนาดใหญ่ช้างม้าพาหนะทุกชนิด ผ่านเข้าออกได้ ทางด้านเหนือมีประตูเดียว

๒.    ประตูชัยใต้ เดิมชื่อประตูชัยสิทธิ์ เป็นประตูเมืองด้านใต้ อยู่ตรงสี่แยกประตูชัยในปัจจุบัน เป็นประตูที่มีลักษณะเช่นเดียวกับ
ประตูชัยเหนือ ทางด้านใต้มีประตูเดียวเช่นกัน

๓.    ประตูลัก เป็นประตูแรกของกำแพงด้านตะวันออก นับมา ทางทิศเหนือ เป็นประตูขนาดเล็ก เรียกว่าประตูผี เพราะเป็นทางที่เอาศพ ออกไปนอกกำแพงเมือง เพราะห้าม นำศพ ออกทางประตูชัยเหนือ และใต้

๔.    ประตูโพธิ์ เป็นประตูที่สอง ของกำแพงด้านตะวันออก นับ มาจากทิศเหนือ

๕.    ประตูลอด เป็นประตูที่สามของกำแพงด้านตะวันออก นับ มาจากทิศเหนือ

๖.   ประตูพานยม (สะพานยม) เป็นประตูที่สี่ของกำแพง ด้านตะวันออก นับมา จากทิศเหนือ เรียกกันว่าประตูผี เช่นเดียวกับประตูลัก

๗.    ประตูท่าม้า เป็นประตูแรกของกำแพงด้านตะวันตก นับ มาจากทิศเหนืออยู่ ตรงข้ามกับประตูโพธิ์

๘.   ประตูนางงาม เป็นประตูที่สอง ของกำแพงด้าน ตะวันตก นับมาจากทิศเหนือ ตรงข้ามกับประตูลอด

 ๙.  ประตูท้ายวัง เป็นประตูที่สามของกำแพงด้านตะวันตก นับมาจากทิศเหนือ อยู่หลังศาลากลาง ด้านทิศใต้

๑๐. ประตูท่าชี เป็นประตูที่สี่ ของกำแพงด้านตะวันตก นับมาจากทิศเหนือ เป็นประตูผี เช่นเดียวกับประตูลัก อยู่ตรงข้ามกับประตูพานยม



CR : http://home.nakhon.net/bunying/boran.htm


ศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช

สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานหลักเมือง ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสร้างสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับภาคเอกชนก่อสร้างศาลขึ้นบนที่ดินราชพัสดุ บริเวณทิศเหนือของสนามหน้าเมือง เนื้อที่ 2 ไร่ ประกอบด้วยอาคาร 5 หลัง หลังกลางเป็นที่
ประดิษฐานของศาลหลักเมือง ออกแบบให้มีลักษณะคล้ายศิลปะศรีวิชัย เรียกว่าทรงเหมราชลีลา วางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2532 ส่วนอาคารเล็กทั้งสี่หลัง ถือเป็นบริวารสี่ทิศ เรียกว่าศาลจตุโลกเทพ ประกอบด้วยพระเสื้อเมือง ศาลพระทรงเมือง ศาลพระพรหมเมือง และศาลพรบันดาลเมือง วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2535 ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ ใน พ.ศ. 2542

องค์เสาหลักเมืองทำด้วยไม้ตะเคียนทองที่ได้มาจากภูเขายอดเหลือง อันเป็นภูเขาลูกหนึ่งในทิวเขานครศรีธรรมราช ในท้องที่ตำบล
กระหรอ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ขนาดความสูง 2.94 เมตร เส้นรอบวง 0.95 เมตร ลวดลายที่แกะสลัก ตั้งแต่ฐานซึ่งเป็น
วงรอบเก้าชั้น มี 9 ลาย ส่วนบนของเสาเป็นรูปจตุคามรามเทพ (สี่พักตร์) หรือเทวดารักษาเมือง เหนือสุดเป็นเปลวเพลิงอยู่บนยอดพระเกตุ
คือยอดชัยหลักเมือง รูปแบบการแกะสลักจินตนาการจากความเชื่อในพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งเคยมีอิทธิพลทางศิลปกรรมในภาคใต้
และนครศรีธรรมราชแต่ครั้งโบราณ ประกอบพิธีเบิกเนตรหลักเมือง เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจิม
ยอดชัยหลักเมืองเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2530 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน และอัญเชิญมาประดิษฐาน ณ ศาลหลักเมืองในวันรุ่งขึ้น

นอกจากนี้ในการดำเนินงานทุกขั้นตอน จะมีการประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะปีพุทธศักราช 2528-2530 มีการประกอบ
พิธีกรรมถึง 12 พิธีกรรม อาทิ พิธีกรรมลอยชะตาเมือง พิธีกรรมสะกดหินหลักเมือง พิธีกรรมปลักยักษ์เทวดาฯ เป็นต้น

จึงนับว่าศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราชแห่งนี้ ได้บังเกิดขึ้นด้วยความประณีตบรรจงอย่างมีภูมิหลัง และมีเอกลักษณ์เฉพาะ อีกทั้งจะเป็น
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนภาพวิถีชีวิตชาวไทยใต้ในอดีต และสองถึงความพยายามอนุรักษ์สร้างสรรค์ของชาวไทยใต้
ปัจจุบันไว้อีกด้วย

ความอัศจรรย์อันเกี่ยวกับหลักเมือง

1. ไม้ตะเคียนทองสำหรับแกะสลักหลักเมือง เป็นไม้จากจากเขายอดเหลือง ซึ่งอยู่ท้องที่ตำบลกะหรอ อำเภอท่าศาลา(ปัจจุบันอยู่
ในเขตท้องที่อำเภอนบพิตำ) มีลักษณะแปลกคือที่บริเวณรอบโคนต้นมีลักษณะเตียนโล่งซึ่งเรียกกันว่าลานนกหว้า หรือตะเคียนใบกวาด
หลังจากโค่นต้นไม้แล้ว คณะได้ตัดต้นตะเคียนเหลือความยาว 4 เมตร ต้องใช้ช้างชักลากลงมาจากยอดเขา เมื่อช้างชักลากตอนแรก
ไม้ตะเคียนทองไม่ยอมขยับเขยื้อน แต่เมื่อคณะตัดฟันได้จุดธูปบอกกล่าวช้างก็สามารถชักลากได้ตามปกติ
2. ในการประกอบพิธีกรรมเผาดวงชะตาเมืองที่ป่าช้าวัดชะเมา เวลาหลังเที่ยงคืนไป 1 นาที เมื่อปลายปี 2528 ท่ามกลางความมืด
มีแต่แสงเทียนประกอบพิธีเท่านั้นใช้เสียงนกแสกเป็นสัญญาณจุดไฟ ทันทีที่จุดไฟจะมีเสียงร้องครวญครางโหยหวน ของภูตผีในป่าช้าที่ถูกเรียกมาให้เป็นพยาน สร้างความหวดกลัวให้กับผู้ร่วมพิธี แม้พระภิกษุรูปเดียวที่ได้รับนิมนต์มาสวดบังสุกุลก็ยังเก็บอาการไม่อยู่ สวดมนต์ด้วยเสียงสั่นเครือ และสวดผิด แต่หลังจากที่เจริญสมาธิจิตและแผ่เมตตาให้ อาการต่างๆ ก็กลับสู่ปกติ
3. เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2530 อันเป็นวันแห่เสาหลักเมืองที่แกะสลักและตกแต่งเสร็จแล้วลงเรือศรีวิชัยโบราณจำลอง จากบ้านพักผู้กำกับฯ ไปยังหน้าวิหารหลวง ขณะที่อัญเชิญเสาหลักเมืองจากเรือจำลองลงตั้งพื้นลานหน้าวิหารหลวงนั่นเองได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลด ณ ที่นั้นทันทีอย่างน่าอัศจรรย์ วันนั้นได้เกิดฝนตกหนักมากในเขตภูเขาต้นน้ำทางตะวันตกของเมือง เป็นเหตุให้น้ำป่าไหลเกือบล้นฝั่งคลองท่าดีและคลองพรหมโลก วัวควายที่ชาวบ้านล่ามไว้ในคลองตายไปหลายตัว ทั้งที่ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง
4. ในพิธีเบิกเนตรหลักเมืองเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2530 ขณะที่เจ้าพิธีกรรมคือพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช กำลังทำพิธีเบิกเนตรได้ปรากฏกลุ่มควันจางๆ ขึ้น ณ จุดสัมผัสระหว่างดินสอจารกับดวงเนตรของหลักเมือง
5. การประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะพิธีกลางแจ้ง มักจะมีฝนโปรยเม็ดพรำๆ แทบทุกครั้ง
6. นายสมจิตร ทองสมัคร เล่าว่าครั้งหนึ่งในระหว่างที่มีการประทับทรงของเทวดารักษาเมือง ตนเองปรารภว่าเกิดภาวะฝนแล้งอย่างหนัก ชาวบ้านเดือดร้อนมาก ไม้ผลเหี่ยวเฉา จะแก้ปัญหาอย่างไรดี ก็ได้รับคำแนะนำว่าให้เอาไข่ 1 ใบ ไปปาใส่ภูเขาที่เขาขุนพนม บริเวณที่
เรียกว่า “หน้าพระ” เมื่อปฏิบัติตามคำแนะนำก็ปรากฏว่าผู้ปฏิบัติการปาไข่ยังไม่ทันจะลงมาถึงลานวัดก็มีฝนโปรยลงมาแล้ว ฝนที่ตกครั้งนั้นตกหนักมากและตกกระจายทั่วไปแม้ในภาคกลางและกรุงเทพมหานคร สำหรับที่กรุงเทพมหานครฝนตกหนักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
จนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครสมัยนั้นเรียกว่า “ฝนพันปี” นั่นเอง
7. นายยุทธนา โมรากุล ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าหมวดการทางหัวไทร แขวงการทางนครศรีธรรมราชที่ 1 เล่าให้ฟังว่าคืนวันหนึ่งเมื่อ 12 ปีก่อน ขณะที่ตนเองอยู่ที่บ้านพักในแขวงการทางนครฯ กับครอบครัวซึ่งขณะนั้นตนเองยังเป็นช่างประจำสำนักงานแขวงการทาง ได้มีคนมาตามที่บ้านบอกว่าเขามีการเข้าทรงที่ถนนบ่ออ่าง สั่งความให้มาตามตนเองไปหา เมื่อตนเองไปถึงก็ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ออกแบบอาคารศาลหลักเมือง ตนเองตอนนั้นทั้งไม่เชื่อทั้งงุนงง ทั้งเป็นงานที่ไม่เคยทำมาก่อน หลังจากที่ได้รับการลงเลขลงยันต์ที่ฝ่ามือ และได้รับคำแนะนำครั้งแล้วครั้งเล่าก็ได้มาทำแบบบนกระดาษเขียนแบบ เหมือนกับมีผู้มาบอกกล่าวแนะแนวทางอยู่ตลอดเวลา องค์จตุคามรามเทพ หรือที่เรียกกันในหมู่ลูกศิษย์ว่า “พ่อ” ได้กล่าวไว้ว่าเมื่อไหร่ที่เขียนแบบออกมาถูกต้องตามโบราณและเขียนจนถึงยอดเสร็จสมบูรณ์แล้วฟ้าดินจะรับรู้ ปรากฏว่าวันนั้นนั่งเขียนที่โต๊ะทำงาน ทันทีที่ตนเขียนเสร็จท้องฟ้าที่เจิดจ้าตามปกติกลับมืดครึ้มและมีฟ้าผ่าเปรี้ยงอย่างน่าอัศจรรย์ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อคราวขุดดินบริเวณสร้างศาลปัจจุบันเพื่อลงฐานราก พบฐานเจดีย์เก่าทรงกลม และเมื่อขุดได้ลึกกว่าสองเมตรก็พบ
ชั้นหินปะการัง ปรากฏว่าน้ำใต้ดินทะลักขึ้นมาทำให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้ เมื่อได้ปรึกษา “พ่อ” ก็ได้รับการแนะนำเทคนิคพิเศษทั้งในเรื่องขั้นตอนและวัสดุที่ใช้โดยละเอียด พร้อมกับได้รับการบอกกล่าวไว้ล่วงหน้าว่าเมื่อทำเสร็จฟ้าดินจะรับรู้ เมื่อทำตามนั้นทุกอย่างก็แก้ปัญหาได้จริงๆอย่างไม่น่าเชื่อ ทันทีที่เสร็จสมบูรณ์ก็เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดอันหมายถึงการรับรู้ของฟ้าดินอย่างน่าอัศจรรย์
8. เมื่อมีการประกอบพิธีกรรมใดๆเกี่ยวกับหลักเมืองนครศรีธรรมราช มักจะเกิดฝนพรำๆ และฝนตกตามมาทุกครั้ง แม้กระทั่งพิธีไหว้ครูซึ่ง
กระทำกันทุกปีในวันพฤหัสแรกของเดือนหก หลังเสร็จพิธีจะมีฝนพรำทุกครั้งเช่นเดียวกัน

ทำไมต้องสร้างหลักเมืองนครฯ

ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ เมืองนครศรีธรรมราชเคยมีชื่อว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือกรุงตามพรลิงค์ แต่ตำนานไทยเหนือเรียกว่า
เมืองศิริธรรมนคร

กรุงศรีธรรมโศก สร้างขึ้นเมื่อใดไม่มีหลักฐานแน่นอน คงทราบข้อความจากคัมภีย์เก่าแก่ของชาวอินเดียสมัยต้นพุทธกาลเรียกว่า
เมืองท่าตมะลีบ้าง เมืองท่ากมะลีบ้าง จนกระทั่งในราว พ.ศ. 1150 จดหมายเหตุจีนกล่าวถึง เซียะโท้วก๊ก แปลว่า ประเทศดินแดง
ซึ่งจักรพรรดิจีนส่งราชทูตเดินทางมาติดต่อทางพระราชไมตรี ต่อมาภิกษุจีนผู้คงแก่เรียนมีชื่อว่า หลวงจีนอี้จิง เดินทางไปศึกษา
พุทธศาสนาที่ประเทศอินเดียใน พ.ศ. 1214 ได้แวะมาศึกษาภาษาสันสกฤตที่เมืองโฟชิ จึงทราบว่าบ้านเมืองทั้งหลายใน
คาบสมุทรภาคใต้ รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหพันธรัฐที่มีอำนาจทางทะเล หลวงจีนอี้จิง จึงขนานนามว่า “ประเทศทั้ง 10 แห่ง
ทะเลใต้” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อาณาจักรศรีวิชัย”

นักประวัติศาสตร์ถกเถียงกันมากในเรื่องที่ตั้งเมืองหลวงของอาณาจักรศรีวิชัย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ แต่เมื่อ พ.ศ.1710
ศิลาจารึกหลักที่ 35 พบที่บ้านคงแม่นางเมือง จังหวัดนครสวรรค์ กล่าวถึงการแผ่ขยายอำนาจของพระเจ้ากรุงศรีธรรมโศก ขึ้นไปครอบครองดินแดนในแถบภาคกลางของประเทศไทย ต่อจากนั้นดินแดนแถบนี้กลับตกเป็นเมืองขึ้นของเขมร ครั้นใน พ.ศ. 1773 ศิลาจารึกพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมราช กล่าวว่าพระองค์ทรงกอบกู้อิสรภาพกรุงตามพรลิงค์กลับคืนมาได้ ภายหลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ไปแล้ว อนุชาของพระองค์เสวยราชสมบัติ ตำนานกล่าวว่า “พญาจันทราภาณุผู้น้องเป็นพระยาแทนพญาจันทรภาณุเป็นพระยาอยู่ได้ 7 ปี เกิดไข้ยมบน
ลงทั้งเมืองคนตายวินาศประลัย พญาจันทรภาณุ พญาพงศาสุราหะอนุชา และมหาเถรสัจจานุเทพ กับคอรบครัวลงเรือหนีไข้ยมบน ไข้ก็ตามลงเรือ พญาและลูกเมียตายสิ้น พระมหาเถรสัจจานุเทพก็ตาย เมืองนครทิ้งร้างเป็นป่ารังโรมอยู่ตั้งนาน”

หลักฐานเท่าที่หยิบยกขึ้นมาอ้างอิงแสดงให้เห็นว่า กรุงศรีธรรมโศก หรือ กรุงตามพรลิงค์ หรือ เมืองนครศรีธรรมราช เคยเป็นเมืองหลวง
ของอาณาจักรศรีวิชัย แล้วล่มสลายไปเมื่อครั้งเกิดโรคระบาดร้ายแรงขึ้นเมื่อราวต้นพุทธศตวรรษที่ 18 ถูกทิ้งร้างจมอยู่กลางป่าอยู่เป็น
เวลานานจนกระทั่งพวกเจ้าไทยลงมาปกครองและพื้นฟูบูรณาการบ้านเมืองขึ้นใหม่ ดังปรากฏเรื่องราวอยู่ในตำนานพระธาตุนครศรีธรรมราช

ไม่มีใครทราบว่าในการฟื้นฟูบูรณาการกรุงศรีธรรมโศก และพระมหาธาตุเจดีย์ ขึ้นใหม่ในครั้งนี้มีเบื้องหน้าเบื้องหลังหรือความเป็นมา
แท้จริงอย่างไร คงทราบความจากตำนานแต่เพียงว่า พระเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงศรีอยุธยาทรงโปรดให้มีตรามาเกณฑ์ผู้คนสร้างเมืองนครศรีธรรมราช และพระธาตุจนสำเร็จเสร็จสิ้นในสมัยขุนอินทราราเป็นเจ้าเมือง ต่อมาได้เลื่อนขึ้นเป็นพระศรีมหาราชา จนกระทั้งชาวนครศรีธรรมราชผู้หนึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชเก่า จดบันทึกไว้ในสมุดข่อยในหอสมุดแห่งชาติ จึงนำมาตีพิมพ์เผยแพร่ว่า เมืองนครศรีธรรมราชเก่าสถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัส แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับ พ.ศ. 1830

เมื่อพลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช และพลตำรวจโทสรรเพชญ ธรรมาธิกุล ตรวจสอบรูปดวงชะตาเห็นว่ากรุงศรีธรรมโศกและดินแดน
ภาคใต้ถูกสาป จึงร่วมกันหาทางแก้ไข รายงานให้คณะกรรมการจัดสร้างสิ่งมีค่าทางประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชทราบ ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าควรสร้างหลักเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น เพื่อล้างมนตราอาถรรพณ์แห่งคำสาปใน พ.ศ. 2530



ที่มา : http://www.krusungsak.com/mirror/lakmang/lakmang.htm


ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=32943
-::-คำขวัญการท่องเที่ยว-::-
นครศรีธรรมราช เมืองประวัติศาสตร์ พระธาตุทองคำ
ชื่นฉ่ำธรรมชาติ แร่ธาตุอุดม เครื่องถมสามกษัตริย์
มากวัดมากศิลป์ ครบสิ้นกุ้งปู

ออนไลน์ ประสิทธิ์

  • Administrator
  • *
  • ออนไลน์
  • 6174
    9863
  • เพศ: ชาย
    • เพลงพักใจดอทเนต
Re: ของดีเมืองนครศรีธรรมราช
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: 16/ก.พ./15 19:09น. »

รวบรวมของสำคัญๆ ในจังหวัดนครฯไว้เกือบครบเลย
ขอบคุณมากนะครับที่นำสิ่งดีๆ มาบอกเล่าให้ได้รับทราบกัน


ลิ้งค์หัวข้อ: https://www.plengpakjai.net/index.php?topic=32943
สมาชิกใหม่..ก่อนตั้งกระทู้แนะนำตัวให้ดูตัวอย่าง.แล้วไปอ่านประกาศการใช้งานบอร์ดและห้องโหลดเพลง เมื่ออ่านเข้าใจแล้วก็ตอบรับทราบทั้ง 2 กระทู้1.ห้ามเด็ดขาดการใช้เพียงอีโมตอบกระทู้เพื่อโหลดเพลง.2.ห้ามตอบเพียงขอบคุณครับ/ค่ะ โหลดเพลง 5:1 อ่านให้เข้าใจด้วย